เปิดใจ“ดร.สธน” พยานสอบเพิ่มสำนวน“คดีบอส” ย้ำปมคำนวณความเร็วเฟอร์รารี่-จยย.ในคดี

วันที่ 30 ส.ค. ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ในฐานะพยานในคดีของนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหาในคดีขับรถยนต์โดยประมาทฯ และชนกับรถจักรยานยนต์ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 เปิดเผยถึงการเดินหน้าทางคดีว่า ตนเข้าให้การกับตำรวจ เหมือนกับที่ให้กับตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งมีทั้งลักษณะการรายงานและให้ปากคำ ทั้งนี้หลักฐานที่ให้นั้นมาจากการคำนวณที่มีอยู่จริง

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ผมยืนยันในผลการตรวจสอบความเร็วรถเฟอร์รารี่ในปี 2555 ว่าพิจารณาจากกล้องวงจรปิดที่จับภาพในวันเกิดเหตุเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ดูเหตุการณ์และความเสียหายหลังกล้องวงจรปิดประกอบ ซึ่งเป็นภาพวงจรปิดที่เผยแพร่ได้ทั่วไปและมีสูตรการคำนวณ คือความเร็วเท่ากับระยะทางหารด้วยเวลา ที่ระบุไทม์สแตมป์ไว้ในเฟรมของวีดีโอ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าช่วงแรกตอนเกิดเหตุปี 2555 ตนคำนวณเฉพาะความเร็วของรถเฟอร์รารี่ ไม่ได้คำนวณความเร็วของรถกะบะ หรือรถจักรยานยนต์ของด.ต.วิเชียร แต่ได้คำนวณภายหลังจากที่คดีดังกล่าวอยู่ในความสนใจและกระแสโซเชียลเริ่มตั้งคำถาม โดยผมไม่ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุจริง แต่ได้นำภาพวีดีโอมาตรวจสอบ

ดร.สธน กล่าวด้วยว่า สำหรับหลักการตรวจสอบความเร็วรถจักรยานยนต์นั้นใช้คลิปวีดีโอเดียวกัน สภาพเดียวกัน และใช้การวัดระยะทางโดยอ้างอิงจากเส้นจราจรบนถนนที่ติดกับขอบทางซึ่งเป็นเส้นจราจรที่เป็นสัญลักษณ์ของช่องทางเดินรถประจำทาง ซึ่งมีความยาวของเส้นประ ยาวประมาณเส้นละ 60 เซนติเมตร และช่องว่างแต่ละเส้น ประมาณ 30 เซนติเมตร รวมแล้วจะมีระยะความยาวประมาณ 90 เซนติเมตรถึง 1 เมตร นอกจากนั้นยังใช้จุดอ้างอิง คือ ต้นไม้มาเป็นส่วนประกอบ ทำให้ทราบว่ารถจักรยานยนต์ของด.ต.วิเชียรเคลื่อนที่ประมาณ 16 เส้นประบนถนน หรือ 16 เมตรจากเฟรมเริ่มต้นจนถึงเฟรมสุดท้าย จึงคำนวณความเร็วของรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สำหรับการคำนวณความเร็วสามารถใช้ยืนยันต่อสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นบนรถได้ หรือไม่นั้น ดร.สธน กล่าวว่า “เนื่องจากลักษณะการชนของรถในคดีนี้ รถทั้งสองคันแล่นไปในทิศทางเดียวกันแล้วชนกัน ความเร็วของรถทั้งสองคันจึงใช้ยืนยันความเสียหายของรถได้ เพราะความเสียหายจะเกิดจากผลต่างของความเร็วของรถทั้งสองคัน ถ้าความเร็วไม่ต่างกันมาก สภาพความเสียหายก็จะไม่เกิดเยอะ แต่ไม่เกี่ยวว่ารถแต่ละคันวิ่งด้วยความเร็วเท่าไร เช่น รถเฟอร์รารี่วิ่งด้วยความเร็ว 80 กม.ต่อชั่วโมง สภาพความเสียหายมีสภาพการชนที่เหมือนที่มีความเร็ว 80 กม.ต่อชั่วโมง แสดงว่ารถจักรยานยนต์ไม่มีการเคลื่อนที่ แต่หากรถเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 60 กม.ต่อชั่วโมง แต่สภาพความเสียหายเทียบเท่าความเร็ว 80 กม.ต่อชั่วโมง แสดงว่า รถเฟอร์รารี่ต้องเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 140 กม.ต่อชั่วโมง โดยนำความเร็วที่ 60 กม.ต่อชั่วโมงรวมกับความเร็วที่ 40 กม.ต่อชั่วโมง ดังนั้นในทางปฏิบัติคือการหาความเร็วของรถจักรยานยนต์เพื่อยืนยันความเร็วของรถเฟอร์รารี่ด้วย

ดร.สธน ยังได้กล่าวถึงการทำความเร็วบนถนนสุขุมวิทช่วงเวลา 05.00 น. อาจทำความเร็วได้พอสมควร หรือทำได้ช่วงสั้นๆ ซึ่งรถส่วนใหญ่วิ่งด้วยความเร็วช่วงที่ 80 -100 กม.ต่อชั่วโมง ค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับสภาพถนนสุขุมวิทช่วงปกติ แต่ในรถที่มีประสิทธิภาพสูงทำความเร็วได้รวดเร็ว แต่ด้วยสภาพจราจรเมื่อเร่งความเร็วได้ระยะหนึ่งต้องเบรก ทั้งนี้ในสภาพของรถเฟอร์รารี่และรถจักรยานยนต์ที่ชนกันได้นั้น จากการตรวจสอบได้พบว่ารถจักรยานยนต์เคลื่อนที่นำหน้ารถเฟอร์รารี่ ประมาณ 5 วินาที ได้ระยะทาง 80 เมตร ขณะที่รถเฟอร์รารี่ใช้เวลาผ่านหน้ากล้องประมาณ 3 วินาที ทำให้มีระยะการชนกันที่ 100 เมตร ซึ่งใกล้เคียงกับจุดที่เกิดอุบัติเหตุจริง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นมีหลักการคือ รถเฟอร์รารี่ที่ขับตามหลังต้องขับด้วยความเร็วที่มากกว่ารถจักรยานยนต์ เพื่อให้วิ่งไล่ได้ทัน”ดร.สธน กล่าว

เมื่อถามถึงร่องรอยความเสียหายของรถหลังกล้องวงจรปิด สอดคล้องกับความเร็วรถที่คำนวณหรือไม่

ดร.สธน กล่าวว่า ตนเห็นร่องรอยการชนและความเสียหายจากรูปที่อยู่ในสื่อเพียงเท่านั้น เพราะสภาพความเสียหายจริงหลังกล้องเป็นหน้าที่ของกองพิสูจน์หลักฐาน คือความเสียหายของรถเฟอร์รารี่อยู่ด้านซ้าย ไม่ใช่ด้านขวา และมีลักษณะเป็นรูปลิ่ม ถูกกระแทกโดยของแข็ง ลักษณะแนวตรง ซึ่งสอดคล้องกับข้อสรุปแรกที่อยู่ในสำนวน คือ การชนท้ายรถของ ด.ต.วิเชียร ทั้งนี้ มีหลักฐานที่ยอมรับ คือ โช๊กอัพของรถจักรยานยนต์ด้านล้อหลังคด เหมือนถูกกด ทำให้เห็นทิศทางแรงกระแทก เป็นแนวตรงกับลำของรถจักรยานยนต์ เพราะหากชนในลักษณะที่รถจักรยานยนต์เปลี่ยนเลนจากซ้ายไปขวา จะทำให้รถจักรยานยนต์หมุน และรถเฟอร์รารี่มีความเสียหายทางด้านขวาเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อนำรถทั้ง 2 คันมาทาบกันพบรอยของสีติดตรงกันกับแนวที่ชน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวระบุในสำนวนและตรงกับตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน

เมื่อถามว่าคดีของนายวรยุทธ ถูกกระแสสังคมวิจารณ์เรื่องของข้อมูลต่างๆ อยากฝากอะไรถึงประชาชนด้านการรับรู้ข้อมูลบ้าง

ดร.สธน กล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นคนเสพข้อมูล และรู้ทุกอย่าง แต่ข้อมูลที่อยู่บนโซเชียล มี 2 แบบ คือ ข้อเท็จจริง และ ข้อเท็จจริงบวกความเห็นของแหล่งข่าว ดังนั้น ส่วนตัวจะใช้หลักการพิจารณาข้อมูลให้รอบคอบ สิ่งใดคือข้อเท็จจริงหรือความเห็น แต่ยอมรับว่าปุถุชนมีโอกาสผิดพลาดเสมอ ดังนั้นต้องใช้ความระมัดระวังพอสมควรทั้งฐานะผู้เขียนและผู้ฟังส่วนกรณีของนายวรยุทธขณะนี้เป็นเรื่องที่เข้าสู่สภาพขั้นตอนก่อนการสั่งไม่ฟ้องของอัยการสูงสุด และหมายจับยังคงมีผลบังคับใช้ ส่วนกรณีจะได้ตัวนายวรยุทธมาดำเนินคดีหรือไม่นั้นตนคาดเดาไม่ถูก เพราะเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน