อดีตนักข่าว-ช่างภาพ ให้ข้อมูล กลาง กมธ. ถูกกดดัน-อึดอัดใจในการทำข่าว ‘น้องชมพู่’

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 16 ก.ย. ที่อาคารสุขประพฤติ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนประชาชื่น แขวงและเขตบางซื่อ กทม. นายนิพนธ์ นาคสมภพ ประธานคณะอนุกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร พร้อมด้วยพล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกสทช. และคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา

ร่วมกันประชุมระเบียบวาระแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการ รวมถึงพิจารณาประเด็นการปฏิรูปแนวทางกำกับดูแลสื่อออนไลน์ และจริยธรรมในการนำเสนอข่าวสารของนักวิชาการชีพสื่อมวลชน

กรณีการนำเสนอข่าวคดี น้องชมพู่ เด็กหญิงวัย 3 ขวบ ซึ่งเสียชีวิตอย่างปริศนาบริเวณภูเหล็กไฟ ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร และอยู่ห่างจากบ้านพักในหมู่บ้านกกกอก ประมาณ 5 กิโลเมตร โดยมีนายศักดิ์ดา วรรณสุทธิ์ และนายทรงพล เรืองสมุทร อดีตผู้สื่อข่าวและช่างภาพสถานีโทรทัศน์ ซึ่งเคยเกาะติดสถานการณ์เข้าร่วมการประชุมเพื่อหาแนวทางในครั้งนี้

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นายศักดิ์ดา กล่าวว่า ตนได้เกาะติดสถานการณ์ที่หมู่บ้านกกกอกเป็นระยะเวลากว่า 1 เดือน ส่วนการตัดสินใจลาออกนั้นเนื่องจากมีความลำบากใจในการปฎิบัติหน้าที่เรื่องการเข้าถึงต่อสิทธิส่วนบุคคลในขั้นพื้นฐานที่จะต้องล้วงข้อมูลเชิงลึกแบบซ้ำๆ รวมไปถึงการนำเสนอเรื่องการทรงเจ้า-เข้าผีอยู่หลายครั้ง ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวก็ไม่ได้ปักใจเชื่อทั้งหมดแต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธในการปฎิบัติหน้าที่ได้เช่นกัน อีกทั้งเรื่องการนำเสนอข่าวสารจนเป็นเหตุให้คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายเกิดความขัดแย้งกัน โดยตนยอมรับว่ารู้สึกกดดันและมีความลำบากใจทั้งจากนายจ้างเอง และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จึงตัดสินใจยุติบทบาทดังกล่าว

ขณะที่นายทรงพล เปิดเผยว่า สาเหตุที่ตนระบายความอึดอัดใจลงไปในเฟซบุ๊กส่วนตัวนั้นไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่ไม่ดี เพียงแค่อยากเปลี่ยนบทบาทการทำงานในหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบการทำงานของสื่อ ซึ่งบางกรณีก็ไปล่วงเกินสิทธิเสรีภาพของแหล่งข่าว รวมไปถึงขั้นมีการแอบบันทึกภาพเพื่อดึงเรตติ้งให้กับช่อง จนเป็นต้นเหตุให้ตนรู้สึกละอายใจจึงขอออกจากระบบและนำข้อมูลจากที่ประสบเหตุไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อต้องการความเปลี่ยนแปลง

ด้านนายนิพนธ์ กล่าวว่า สำหรับการเชิญอดีตผู้สื่อข่าวมานั้นเพียงต้องการทราบข้อมูลถึงการปฎิบัติหน้าที่ความรู้สึกในฐานะสื่อมวลชน และสิ่งที่ไม่มีอิสระภาพซึ่งถูกสั่งให้ลงพื้นที่ไปนำเสนอข่าว รวมไปถึงการล้วงข้อมูลส่วนบุคคลจนเป็นสาเหตุให้คนในครอบครัวต้องทะเลาะกันเอง ซึ่งจะบันทึกข้อมูลทั้งหมดไปไว้ในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสื่อสารของผู้สื่อข่าวในรุ่นต่อๆไป

พล.ท.ดร.พีระพงษ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสถานีโทรทัศน์ช่องดิจิตอลรายหนึ่งที่สร้างกราฟฟิกวีดีโอจำลองเหตุการณ์ โดยในปี’62 ถูกปรับไป 2 เรื่อง ส่วนปี’63 นั้น ถูกปรับไปทั้งหมด 6 เรื่อง ซึ่งเป็นความผิดฐานมาตรา 37 โดยทางกสทช. สั่งยุติการนำเสนอไป 3 เรื่อง และมีโทษปรับไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งหลังจากนี้หากมีการนำเสนอข่าวที่ไปขยายความเห็นเกินกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหรือขัดแนบท้ายใบอนุญาตที่เกิดความรุนแรง จะดำเนินการเรื่องพักการใช้ใบอนุญาตต่อไป

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน