ชาวเน็ตกังขา เอาเงินประกันสังคม ลงทุนศรีพันวา ปูดขาดทุนกว่า 150 ล้าน! ชี้ จะลงทุนไม่ว่า แต่ควรเป็นกิจการที่มั่นคง ความเสี่ยงต่ำ และสามารถทำกำไรได้

ดราม่าไม่หยุด และเป็นเรื่องที่จบยากอย่างยิ่ง สำหรับกรณีการ “แบนศรีพันวา” สืบเนื่องจาก ปลาวาฬ -วรสิทธิ อิสสระ ผู้บริหารพูลวิลล่าสุดหรู ใน จ.ภูเก็ตแห่งนี้ วิจารณ์แกนนำในการชุมนุมใหญ่ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. อย่างดุเดือด เช่น เธอไม่ใช่คนไทย เธอทำงานให้ใคร ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ กล้าดีอย่างไร และยังอัดคลิปวิดีโอขณะพูดว่า “ต้องจับเด็กคนนี้”

ต่อมาเรื่องก็ร้อนแรงขึ้นไปอีก เมื่อพบว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของศรีพันวาลำดับที่ 1 คือ สำนักงานประกันสังคม ที่จำนวนหุ้น 63,072,615 หุ้น คิดเป็น 22.60 เปอร์เซ็นต์ (ที่มาข้อมูล)

ล่าสุดวันนี้ (22 ก.ย.) เพจ มิตรสหายท่านหนึ่ง ได้ออกมาบอกเล่า และ ขยายความเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม โดยสรุปใจความว่า “เรื่องที่โลกออนไลน์เขาแบน “ศรีพันวา”โรงแรมรีสอร์ตหรูที่ภูเก็ต เพราะผู้บริหารของศรีพันวาไปว่า ไปตำหนิแกนนำม้อบ ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ที่จริงเป็นสิทธิ์ของทั้งสองฝ่ายที่ทำได้ แต่ที่น่าสนใจกว่า คือเรื่องผู้ถือหุ้นของธุรกิจดังกล่าว

ถ้าดูตามรายนามผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นใหญ่ของกิจการคือ กองทุนประกันสังคม ถามว่า กองทุนประกันสังคมจะไปลงทุนที่ไหน ไปลงทุนกับกิจการลักษณะนี้ได้ไหม คำตอบคือได้ ไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายแต่คำถามที่สำคัญกว่า คือ ประกันสังคมใช้อะไรเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนกับกิจการไหน และ ใครเป็นคนตัดสินใจลงทุน และผลการลงทุนในกิจการนั้นๆ ผลประกอบการเป็นอย่างไร

คำตอบของคำถามถ้าเป็นการลงทุนปกติเพื่อหวังกำไรให้กองทุนประกันสังคม ปัจจัยชี้ขาดในการตัดสินใจลงทุนกับกิจการใดก็คือ เป็นกิจการที่มั่นคง มีความเสี่ยงต่ำ และ สามารถทำกำไร ส่วนคนที่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะลงทุนที่ไหนก็คือ กรรมการบริหารหรือบอร์ดประกันสังคม

กิจการลักษณะศรีพันวา แม้หุ้นจะเป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แต่ถ้าจัดชั้นความเสี่ยงในการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ก็จัดชั้นอยู่ในการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งนโยบายการลงทุนของกองทุนประกันสังคม มีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงนี้ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท

ทีนี้ลองตั้งคำถามว่า อะไรทำให้บอร์ดประกันสังคมตัดสินใจไปลงทุนกับกิจการนี้ ก่อนจะตอบคำถามนี้ ลองนึกย้อนหลังไปราวๆปี 2558 หลัง พล.อ. ประยุทธ์ยึดอำนาจเข้ามา พล.อ. ประยุทธ์ได้ใช้คำสั่ง ม.44 ปลดบอร์ดประกันสังคม และตั้งคนของตัวเองเข้าไปเป็นบอร์ดประกันสังคมแทน ดูลิงค์ข่าวนี้ก็ได้

แล้วทีนี้ศรีพันวา ก็มาขายหุ้น เป็นทรัสต์เพื่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2559 ถ้าพิจารณาเอกสารเสนอขาย จะเห็นว่า กองทรัสต์เพื่อการลงทุนของศรีพันวา ที่มีมูลค่าการลงทุน 3 พันกว่าล้านบาท มีกำไรสุทธิแค่ 6.9 ล้านบาท

คำถามคือ อะไรดึงดูดให้กองทุนประกันสังคม ไปลงทุนในกิจการที่มีผลประกอบการลักษณะนี้ และ ผลตอบแทนการลงทุนจะเป็นอย่างไร ลองดูเอกสารของตลาดหลักทรัพย์ หรือจริงๆแล้ว มันคือการเอาเงินลงทุนราคาถูกของแรงงานลูกจ้างกว่า 10 ล้านคน ไปให้กลุ่มทุนพวกพ้องเดียวกัน ไปใช้ในกิจการ

และผลประกอบการของศรีพันวาในปี 2561 ก็ขาดทุน 150 กว่าล้าน และคำถามสำคัญอีกคำถามก็คือ กองทุนประกันสังคมไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลักษณะนี้อยู่อีกกี่แห่ง เสี่ยงต่อความเสียหายของเงินกองทุนประกันสังคมของพี่น้องที่ส่งเงินสมทบอยู่กว่า 10 ล้านคน หรือไม่

เงินกองทุนไปติดหุ้น ติดดอย อยู่อีกเท่าไหร่ เวลาผู้ส่งเงินสมทบเดือดร้อนจากวิกฤติ กองทุนประกันสังคมได้นำเงินผลตอบแทนการลงทุนมาช่วยเหลือผู้ส่งเงินสมทบขนาดไหน และบอร์ดที่ใช้ ม.44 ปลดและตั้งมา ถึงเวลาที่ควรเปลี่ยนแปลงหรือยัง”


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน