เป็นปัญหามานานนับทศวรรษกับ “ปัญหาน้ำท่วมกรุงฯ” เรียกได้ว่าต่อให้ทุ่มงบแค่ไหนฝนตกแปปเดียวก็กลายเป็นทะเลกรุงเทพที่สร้างปัญหาให้กับชาวกรุงฯ แบบนับไม่ถ้วน

ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจกายภาพของ “กรุงเทพฯ” เมืองเทพสร้างก่อนว่า เป็นที่ลุ่มต่ำ และแอ่งกะทะที่มีความสูงต่ำไม่เท่ากันหลายจุด บางแห่งระดับเท่ากับระดับน้ำทะเล เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรี ถนนรามคำแหง ทำให้เมื่อฝนตกลงมาอย่างหนักจึงเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ได้ง่าย และไม่สามารถระบายออกเองได้ตามธรรมชาติต้องใช้เครื่องสูบน้ำช่วยสูบออก

และการเติบโตของเมืองที่รวดเร็วทำให้พื้นที่รับน้ำเดิมลดน้อยลง เพราะพื้นที่เหล่านั้นถูกแทนที่ด้วยตึกสูงจำนวนมาก เมื่อบวกเข้ากับปัญหาดินทรุดตัวจากการสูบน้ำบาดาลด้วยแล้วนั้น จึงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะ “น้ำท่วมขัง” ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

แล้ว “อุโมงยักษ์ระบายน้ำ” นั้นเอาอยู่จริงหรือ? อุโมงค์ระบายน้ำนี้ถือได้ว่าเป็นทางด่วนลัดน้ำให้ออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้น ปัจจุบันมี 8 แห่งด้วยกัน ซึ่งมีความยาวรวม 32 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 215.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 3 แห่ง

โดยปกติแล้วจะมีการล้างทำความสะอาด และบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำเป็นประจำทุกปีก่อนเข้าฤดูฝน ทั้งยังมีการรับมือให้พร้อมซึ่งได้เร่งดำเนินการจัดเก็บขยะ และดูดตะกอนตกค้างภายในอุโมงค์ ตรวจเช็คสภาพเครื่องสูบน้ำ ตรวจสอบคุณภาพอากาศ และติดตั้งพัดลมระบายอากาศ ตรวจสอบเครื่องมือต่างๆ หากพบว่ามีการชำรุดหรือเสื่อมคุณภาพ ก็จะมีการซ่อมแซมแก้ไขให้ทันก่อนฤดูฝน

ส่วนท่อระบายน้ำทั่วไปในกทม.นั้น ปกติจะมีขนาด 60 ซม. จากนั้นได้ขยายมาเป็น 1.2 เมตร แต่ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯทั้งหมด และยังไม่เพียงพอต่อการระบายน้ำในพื้นที่เสี่ยง เพราะด้วยสภาพเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

และถึงแม้ว่าจะมีอุโมงค์ยักษ์ไว้สำหรับระบายน้ำแล้วนั้น แต่ “ขยะ” ก็ยังเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้น้ำไม่สามารถระบายได้ตามที่ตั้งเป้าไว้อยู่ดี เพราะเมื่อฝนตกที่ไรขยะที่ทางกทม.ยังไม่ได้ทำการจัดเก็บนั้น ก็จะถูกพัดพาไปอุดตันทางที่น้ำไหล ขยะจึงถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการปิดกั้นทางน้ำไหล ซึ่งปัจจุบัน กทม. ต้องรับมือกับปริมาณขยะกว่าหมื่นตันต่อวัน

ทั้งในแต่ละปีนั้นจะมีการเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ เรามาดูกันว่า 12 ปีที่ผ่านมากทม. ได้ของบประมาณด้านการระบายน้ำ และบำบัดน้ำเสีย ไปแก้ปัญหาเท่าไหร่บ้าง
ปีพ.ศ. 2552 3,600 ล้านบาท ปีพ.ศ. 2553 4,100 ล้านบาท
ปีพ.ศ. 2554 3,800 ล้านบาท ปีพ.ศ. 2555 4,600 ล้านบาท
ปีพ.ศ. 2556 5,300 ล้านบาท ปีพ.ศ. 2557 5,700 ล้านบาท
ปีพ.ศ. 2558 5,900 ล้านบาท ปีพ.ศ. 2559 9,100 ล้านบาท
ปีพ.ศ. 2560 6,800 ล้านบาท ปีพ.ศ. 2561 5,900 ล้านบาท
ปีพ.ศ. 2562 6,200 ล้านบาท (ปีพ.ศ.2552-2562 อ้างอิงจาก BLT Bangkok)
ปีพ.ศ. 2563 8,200 ล้านบาท
ปีพ.ศ. 2564 6,100 ล้านบาท (อยู่ในระหว่างการพิจารณาจากสภากรุงเทพมหานคร)

รวมระยะเวลา 12 ปี ใช้งบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น 66,600 ล้านบาท ทั้งนี้จากผลงานที่ปรากฏ ทำให้ชาวกรุงเทพหลายคนตั้งข้อสงสัยว่าผลงานกับงบประมาณที่ใช้นั้นดูจะไม่สอดคล้องกันเลย จะเรียกว่าเป็นวาระแห่งชาติเลยก็ว่าได้ แต่ก็ไม่มีทางรู้ว่าปัญหาน้ำท่วมกรุงฯนี้จะแก้ไขได้เสร็จเมื่อไหร่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่างบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2563 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 8,213,452,000 บาท แบ่งเป็นแผนงานบริหารทั่วไป 37,969,359 บาท แผนงานพัฒนาระบบระบายน้ำ อาทิ ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ ปรับปรุงแนวป้องกันน้ำท่วม ก่อสร้างแก้มลิง 2,499,271,825 บาท แผนงานจัดการระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อาทิ งานเครื่องจักรกล งานระบบควบคุมน้ำ เดินระบบบำรุงรักษาและบริหารจัดการอุโมงค์ระบายน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำ งานท่อระบายน้ำ งานระบบคลอง ก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. 2,765,737,870 บาท และแผนงานจัดการคุณภาพน้ำ อาทิ จ้างเดินระบบบำรุงรักษาและบริหารจัดการโรงควบคุมคุณภาพน้ำ ก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย 2,910,472,945 บาท นอกจากนี้สำนักการระบายน้ำ

ทั้งยังได้ของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2563 อีก 451,380,000 บาท แบ่งออกเป็นแผนงานพัฒนาระบบระบายน้ำ 41,600,000 บาท แผนงานจัดการระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 391,780,000 บาท และแผนงานจัดการคุณภาพน้ำ 18 ล้านบาท

ขณะที่งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2564 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 6,161,777,140 บาท แบ่งเป็นแผนงานพัฒนาระบบระบายน้ำ จำนวน 1,772,096,327 บาท แผนงานจัดการระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อาทิ บริหารจัดการระบบอุโมงค์ระบายน้ำ ก่อสร้างระบบระบายน้ำเร่งด่วน (ไปป์ แจ๊คกิ้ง) พัฒนาระบบโครงการแก้มลิงเก็บน้ำตามศาสตร์พระราชา จำนวน 879,994,200 บาท และ แผนงานจัดการคุณภาพน้ำ อาทิ แก้ปัญหาน้ำเสีย ก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย จำนวน 332,300,018 บาท ทั้งนี้ในแผนดังกล่าวยังรวมไปถึงเงินเดือนและค่าจ้าง ค่าตอบแทนนอกเวลา ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ ค่าสาธารณูปโภค ค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง และรายจ่ายอื่นๆ ด้วย

และเมื่อวานก็เป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจากที่ฟ้ารั่วฝนถล่มกรุงอย่างหนัก รถติดหนักแบบไม่เห็นปลายทาง และน้ำท่วมขังรอระบาย หลังจากนั้นก็มีภาพที่ถูกแชร์เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้

ล่าสุดทางกทม. ก็ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า เหตุการณ์น้ำท่วมดังกล่าวนั้นเกิดจากที่ไฟดับบริเวณบ่อสูบน้ำ 3 – 4 แห่ง ซึ่งได้ประสานการไฟฟ้านครหลวงเข้าแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ส่วนเรื่องที่ซอยพระราม 9 ซอย 7 ที่เกิดน้ำท่วมสูงนั้น เป็นเพราะระบบระบายน้ำเก่าที่ไม่ได้บำรุงรักษา และไม่สามารถเข้าไปปรับปรุงระบบท่อและถนนได้ ที่ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ของเอกชน

กทม.ได้เตรียมความพร้อมตลอด 24 ชม.ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯมาโดยตลอด ทั้งการแจ้งเตือนฝนตกล่วงหน้า 1-2 ชั่วโมงรวมทั้งก่อสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในถนนสายหลัก ทำให้ระยะเวลาในการระบายน้ำลดลง เพราะมีการแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบการระบายน้ำในจุดต่าง ๆ ส่วนจุดอ่อนน้ำท่วมบนถนนสายหลักลดลงไปหลายจุดมาก ปัจจุบันเหลือจุดอ่อนน้ำท่วม เพียง14 จุดเท่านั้น

เช็คจุดเสี่ยง 14 รู้ทันน้ำท่วม

อ่านเพิ่มเติม

เปิดคลิปสุดสะพรึง หลังฝนถล่มกรุง น้ำท่วมซอย อสมท. สูงเกือบเมตร รถจมบาดาลเพียบ

อ่วมอรทัย! ฝนถล่มกรุงเทพฯ พักเดียว น้ำทะลักท่วม รถจมเกือบมิดคัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน