ไม่มีญาติยื่นประกันตัว “น้ำมนต์” สาวตุ๋นแต่งงาน นอนคุก อ้างไม่มีเจตนาหลบหนี แต่ติดต่อมอบตัวกองปราบฯ โวยลั่นผู้เสียหาย ก็ไม่ได้มากถึง 30-40 คน ยันพ่อแม่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง วอนให้มอบตัวแสดงความบริสุทธิ์ ขณะที่กองปราบฯ เล็งเอาผิดฟอกเงินด้วย ชี้พฤติกรรมผู้ต้องหาฉ้อโกงที่เป็นปกติธุระ มีผู้เสียหายจำนวนมาก ถ้าเข้าข่ายจะส่งให้ “ปปง.” จัดการ ส่วนเจ้าบ่าวมาแจ้งความแล้ว 4 เหลืออีก 9 แต่บางคนอับอาย และกลัวเมียปัจจุบันรู้เรื่อง จึงไม่มาแจ้ง

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 9 ก.ย. ร.ต.อ. ธนากร ฐิติธาภาภัค พนักงานสอบสวน สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จ.ปทุมธานี ควบคุมตัวน.ส.จริยาภรณ์ หรือน้ำมนต์ บัวใหญ่ อายุ 32 ปี อยู่บ้านเลขที่ 574 หมู่ 11 ต.ศรีสงคราม อ.วังสะพุง จ.เลย ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง หลอกลวงแต่งงานเจ้าบ่าว ไปยื่นคำร้องฝากขังต่อศาลจังหวัดธัญบุรี โดยคัดค้านการประกันตัว

น.ส.น้ำมนต์กล่าวสั้นๆ ระหว่างขึ้นรถตู้ไปศาลว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ไปว่ากันที่ศาล และพ่อแม่ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง อีกทั้งการที่ถูกตำรวจจับกุม เพราะเป็นการติดต่อขอมอบตัวกับกองปราบปรามด้วยตัวเอง และผู้เสียหายก็ไม่ได้เยอะมากถึง 30-40 คน พร้อมทั้งอยากให้พ่อแม่ติดต่อขอมอบตัวกับตำรวจ เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังส่งฝากขังศาลจังหวัดธัญบุรี แล้วปรากฏว่าไม่มีญาติมาติดต่อขอประกันตัวแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัว น.ส.น้ำมนต์ ส่งเข้าเรือนจำธัญบุรีทันที โดยเจ้าตัวพูดสั้นๆ อีกครั้งผ่านลูกกรงรถควบคุมตัวว่าไม่มีเจตนาหลบหนี แต่เป็น การประสานกับตำรวจกองปราบฯ ให้มารับตัว ส่วนขั้นตอนต่อไปอยู่ที่ศาล

ส่วนนายกิตติศักดิ์ ตันติวัฒน์กุล อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1294/1 หมู่ 16 ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร สามี คนปัจจุบันของน.ส.น้ำมนต์ และถูกจับกุมพร้อมกันนั้น ถูกส่งไปดำเนินคดีฉ้อโกงที่ สภ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี โดยนายกิตติศักดิ์ให้การเบื้องต้นว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการหลอกลวงทั้งหมดที่เกิดขึ้น คดีที่ถูกออกหมายจับเมื่อปี 2559 นั้น เนื่องจาก น.ส.จริยาภรณ์ ชวนไปซื้อ ทุเรียน จ.จันทบุรี เพื่อนำมาขายต่อ โดยนำบัตรประจำตัวประชาชนของตนไปประกันไว้กับเจ้าของสวนแล้วไม่จ่ายเงิน ทำให้ตนถูกแจ้งความดำเนินคดี

จากนั้นพนักงานสอบสวน สภ.ท่าใหม่ ควบคุมตัวนายกิตติศักดิ์ไปยื่นคำร้องฝากขัง ที่ศาลจังหวัดจันทบุรี ปรากฏว่าไม่มีญาติ มาประกันตัว จนกระทั่งหมดเวลาทำการ เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวไว้ที่ห้องขังภายในบริเวณศาล และในวันเปิดทำการ จะส่งไปยังเรือนจำจังหวัดจันทบุรี

ที่กองปราบปราม พ.ต.อ.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผบก.ป. เปิดเผยว่าคดี น.ส.น้ำมนต์ มีผู้เสียหายแจ้งความกองปราบฯ 4 คน ส่วนผู้เสียหายที่เหลืออีก 9 คน อยู่ระหว่างประสานทนายความผู้เสียหายพาเข้ามาแจ้งความ แต่มีผู้เสียหายบางรายไม่อยากแจ้งความ เพราะอับอาย บางคนก็กลัวว่าอาจมีปัญหากับภรรยาคนปัจจุบัน

รองผบก.ป.กล่าวว่า นอกจากข้อหาฉ้อโกงแล้ว ตำรวจจะต้องดูว่าจะดำเนินคดีในข้อหาอื่นด้วย เช่น ความผิด พ.ร.บ.ฟอกเงิน เนื่องจากพฤติกรรมผู้ต้องหาเป็นการฉ้อโกง ที่เป็นปกติธุระ เมื่อมีผู้เสียหายจำนวนมาก จะเข้าข่ายผิดมูลฐานฟอกเงินได้ ต่างกับคดีฉ้อโกงที่มีผู้เสียหายเพียงรายเดียว ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา และรอสอบปากคำผู้เสียหายเพิ่มเติมว่าจะเข้าข่ายหรือไม่ หากเข้าข่ายจะส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการต่อว่ามีใครเกี่ยว ข้อง และปกปิดการถ่ายโอนเงินไปยังผู้อื่นอีกหรือไม่

พ.ต.อ.สุวัฒน์กล่าวต่อถึงกรณี น.ส. สร้อยเพ็ชร พาลีวัลย์ ญาติน.ส.น้ำมนต์ เจ้าของบัญชีเงินฝากที่เหยื่อโอนเงินไปให้นั้น น.ส.สร้อยเพ็ชรให้การปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็น เพราะถูกน.ส.จริยาภรณ์เอาบัตรประชาชนไป แต่เพื่อความชัดเจนต้องตรวจสอบกับธนาคารว่าเป็นการเปิดบัญชีด้วยวิธีใด ใครเป็นคนเปิด รวมทั้งหลักฐานต่างๆ เช่น ภาพจากกล้องวงจรปิดในวันมาเปิดบัญชี

รองผบก.ป.กล่าวอีกว่าส่วนบัญชีธนาคารของ น.ส.จริยาภรณ์ มีเพียง 2 บัญชี ตรวจสอบพบว่าเหลือเงินเพียงไม่กี่สิบบาท เชื่อว่าหลังจากได้เงินค่าสินสอด หรือเงินร่วมลงทุนค้าขายผลไม้แล้ว น.ส.จริยาภรณ์น่าจะนำไปใช้จ่ายตามปกติ เพราะไม่ได้ประกอบอาชีพอะไรชัดเจน จำนวนเงินที่ผู้เสียหายโอนมาให้ก็ไม่มาก อยู่ในระดับหลักหมื่นถึงแสนบาท ทำให้ผู้ต้องหาต้องก่อคดีไปเรื่อยๆ

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ขณะนี้ชุดสืบสวนกองปราบฯ อยู่ระหว่างติดตามตัวพ่อแม่ น.ส.จริยาภรณ์ มาสอบสวนด้วย เชื่อว่าน่าจะมี ส่วนรู้เห็นกับลูกสาว เพราะมาร่วมอยู่ในพิธีแต่งงานด้วยทุกครั้ง

วันเดียวกัน นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีผู้เสียหายฟ้องเรียกค่าสินสอดคืนว่า เรื่องลักษณะนี้ยังไม่เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยมาก่อน คงมีแต่คำชี้ขาดความเห็นแย้งของอัยการสูงสุด ที่เคยวินิจฉัยเรื่องที่มีข้อเท็จจริงใกล้เคียงกันกับเรื่องนี้ เป็นคดีที่เกิดขึ้นในท้องที่ สน.พระโขนง เมื่อปี 2549 ฝ่ายชายซึ่งสมรสแล้วเข้ามาติดต่อ และตีสนิทกับฝ่ายหญิงที่เป็นผู้เสียหายในทางชู้สาว หลังจากนั้นเดือนเศษ ฝ่ายชายขอแต่งงาน และขอเงินกับสร้อยคอทองคำจากฝ่ายหญิงไป โดยอ้างว่าจะนำไปใช้จัดงานหมั้นและแต่งงาน แต่เมื่อถึงกำหนด ฝ่ายชายหลบหนี และไม่สามารถติดต่อได้อีก

นายธนกฤตกล่าว่าอัยการสูงสุดมีคำวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของผู้ต้องหาไม่ใช่เป็นเพียงการให้คำมั่นว่าจะจัดงานหมั้นและงานแต่งงานแล้วไม่ปฏิบัติตามคำมั่น แต่มีเจตนาหลอกลวงฝ่ายหญิงให้หลงเชื่อว่าจะหมั้นและแต่งงาน จนฝ่ายหญิงมอบทรัพย์สินให้ ฝ่ายชายไม่มีเจตนาที่จะหมั้นและแต่งงานกับฝ่ายหญิงมาตั้งแต่ต้น อัยการสูงสุดจึงมีคำชี้ขาดสั่งฟ้องฝ่ายชายในความผิดฐานฉ้อโกง แต่คดี ดังกล่าวขาดอายุความไปแล้ว เนื่องจากผู้ต้องหา หลบหนี ไม่สามารถนำตัวมาฟ้องต่อศาลได้ภายในกำหนดอายุความ 10 ปี

นายธนกฤตกล่าวต่อว่าส่วนกรณี น.ส. จริยาภรณ์ นั้น ฝ่ายชายที่ถูกหลอกลวง มีข้อควรต้องระวังว่า การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดต่อส่วนตัว หรือความผิดอันยอมความได้ ไม่ใช่ความผิดอาญาแผ่นดิน ผู้เสียหายจึงต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัว ผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ หากผู้เสียหายไม่แจ้งความร้องทุกข์ผู้เสียหายก็ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนดเวลา 3 เดือนตามที่กล่าวมาเช่นกัน มิฉะนั้น ถือว่าคดีขาดอายุความ

 

 

 

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน