จิตแพทย์เด็ก ชี้หยอกเล่น แต่ไม่ตลก ถุงดำคลุมหัวเด็ก เผยกระทบหนัก อาจถึงซึมเศร้า

เพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา โดย ‘หมอมินบานเย็น’ หรือ คุณหมอ ‘เบญจพร ตันตสูติ’ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นคลิปครูใช้ถุงดำคลุมหัวเด็ก ความว่า ผลเสียที่เกิดจากการหลอกหรือขู่ให้เด็กกลัว จากข่าวที่มีคลิปคุณครูเอาถุงดำครอบศีรษะเด็กนั้น บางคนบอกว่ามันอาจเป็นการ ‘หยอกเล่นของผู้ใหญ่’ ไม่ได้จะทำอะไรเด็ก

อย่างไรก็ตาม ถึงจะบอกว่าทำเพื่อหลอกหรือหยอกเล่นๆ หรือเพื่อขู่ให้เชื่อฟังบางอย่าง หรืออะไรก็ตามที แต่ถ้าทำให้เด็กรู้สึกกลัว ก็ส่งผลทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจได้ แถมบ่อยๆ ที่เราพบเห็นว่า ความกลัวของเด็กกลายเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ใช้แกล้งหยอกเย้าเด็กด้วยความสนุกสนาน หรือคิดว่าควรจะขู่ให้กลัวเด็กจึงจะเชื่อ

แต่จริงๆแล้ว ความกลัวมีความหมายเสมอ ไม่มีใครชอบความรู้สึกกลัวหรอก ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ยิ่งเมื่อความกลัวเกิดขึ้นกับ “เด็กเล็กๆ” ที่การพัฒนาทางความคิดยังไม่ดีเหมือนเด็กโต การแปลความหมายของสิ่งที่รับรู้ยังไม่ถูกต้องตามความจริง ความกลัวก็ยิ่งบั่นทอนความรู้สึก และส่งผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาวหากความกลัวนั้นรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ตามทฤษฎีของ Piaget พูดถึงเด็กในวัย 2-7 ปีว่าเป็นช่วง Preoperational stage ซึ่งเด็กจะมีลักษณะความคิดที่มีจินตนาการ(fantasy)มาก ความมีจินตนาการของเด็ก เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ แต่บางครั้งการที่ยังแยกแยะเรื่องจริงกับจินตนาการไม่ได้

เด็กเล็กๆจึงมักมีความกลัวบางอย่างที่ผู้ใหญ่รู้สึกว่าไม่มีเหตุผล ความกลัวของเด็กนั้น แม้จะดูไร้สาระในสายตาของผู้ใหญ่แต่มันก็มีความหมายและควรให้ความสำคัญ เช่น เด็กบางคนกลัวว่าเวลานั่งโถส้วมจะถูกดูดลงไปในโถ เด็กบางคนคิดว่าใบกล้วยนอกหน้าต่างตอนกลางคืนเป็นมังกรยักษ์ในนิทาน ฯลฯ

เวลาที่ผู้ใหญ่หลอกอะไรเด็กเล็ก หรือขู่ให้กลัว เด็กก็มักจะปักใจเชื่อจริงๆ เช่น มีแม่คนหนึ่งขู่เด็กว่าถ้าเป็นเด็กดื้อเดี๋ยวแม่จะออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น ตั้งแต่นั้น เด็กก็ไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะกลัวว่าแม่จะหนีจากเขาไป ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือสวัสดิภาพของตัวเองกับคนที่เขารัก เช่น พ่อแม่ เด็กจะกลัวมากขึ้นเป็นหลายเท่า บางครั้งความกลัวก็ทำให้เด็กฝันร้าย นอนไม่หลับ

แม้จะไม่มีเหตุผลนัก แต่ความกลัวของเด็กก็มีอยู่จริง และมันอาจจะส่งผลกระทบกับเด็กบางคนจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ เช่น ผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เป็นโรคกลัวที่แคบ เมื่อย้อนประวัติไปในวัยเด็กก็พบว่า ตอนเล็กๆ ถูกพ่อแม่ขังไว้ในห้องเก็บของมืดๆแคบๆอยู่หลายชั่วโมง

ผู้ใหญ่บางคนคิดว่าการแกล้งเด็กเป็นเรื่องสนุกขำขัน แล้วก็ให้เหตุผลว่า “ก็เขายังเด็ก ไม่รู้เรื่องอะไรหรอก” ผู้ใหญ่หลายคนรักและเอ็นดูเด็ก แต่ผู้ใหญ่น้อยคนที่มีความละเอียดอ่อนกับความคิดความรู้สึกของเด็ก

บางคนอาจจะบอกว่า ตอนที่เป็นเด็กไม่เห็นคิดอะไรมากมายอย่างที่หมอพูดเลย ก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะเด็กแต่ละคนต่างกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ถ้าตอนคุณยังเป็นเด็ก ไม่กลัวอะไรแบบนี้ เด็กคนอื่นก็ต้องไม่กลัวเหมือนคุณ

ความกลัวถ้าเกิดขึ้นรุนแรงและบ่อยครั้งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางใจ มีผลกระทบกับความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในตัวเอง การมองโลกในแง่ร้าย ภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า

หยุดแกล้งหรือหยอกให้เด็กกลัว จนทำให้กลายเป็นความทรงจำที่ฝังใจเลย โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นคนที่เด็กรักและเชื่อใจ และถ้าอยากให้เขาเป็นเด็กดีให้เขาเชื่อฟัง อย่าใช้วิธีข่มขู่หรือหยอกเล่นเลยเลย บอกเขาตรงๆว่าผู้ใหญ่อยากให้เขาทำอะไร ตรงนั้นจะดีกว่า และจะทำให้สัมพันธภาพในระยะยาวดีด้วยค่ะ

(อ่าน)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน