การใช้พลาสติกเป็นอันตรายต่อคน และสัตว์ เมื่อยิ่งเป็นกองขยะที่ถูกนำมาทิ้งไว้ทั้งยังรุกล้ำถิ่นอาศัยของสัตว์ด้วยแล้วยิ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของสัตว์เหล่านั้น

เฟสบุ๊กเพจ มูลนิธิช่วยเหลือสัตว์ป่าเอเชียน หรือ Asian Wild Aid Foundation (AWAF) เผยแพร่ภาพโขลงช้างป่ากว่า 40 ตัวกำลังหาอาหารบนภูเขาขยะ ในเมืองอัมปารา ทางตะวันออกของประเทศศรีลังกา ที่พยามดิ้นรนเอาชีวิตรอดด้วยการหาอาหารกินในกองขยะ

ช้างเหล่านี้มาออกจากป่า Oluvil Pallakattu แต่ละตัวคุ้ยขยะราวกับสัตว์ที่อาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งเป็นภาพที่สะเทือนใจต่อผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากกองขยะแห่งนี้เต็มไปด้วยพลาสติก และสารเคมีที่เป็นพิษจำนวนมาก

ลานขยะกว้างสุดลูกหูลูกตานี้เป็นแหล่งรวมสิ่งปฏิกูลของหลายเขตโดยรอบถูกส่งมาทิ้งยังบริเวณดังกล่าว ทำให้กองขยะขยายใหญ่โตขึ้นจนลุกลามไปในบริเวณพื้นป่าใกล้เคียง ทำให้ช้างป่าสามารถเข้ามาถึงกองขยะได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าจะมีรั้วไฟฟ้าขึงรอบๆ บริเวณกองขยะ แต่ปัจจุบันรั้วไฟฟ้าดังกล่าวชำรุดพังเสียหาย ทำให้ไม่สามารถป้องกันสัตว์ป่าได้อีกต่อไป

โคลงช้างฝูงดังกล่าวเริ่มเคยชินกับการหากินใกล้ถิ่นอาศัยของมนุษย์ ได้เริ่มรุกล้ำนาข้าว และหมู่บ้านเพื่อหาอาหารมากขึ้น ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่าช้าง คน และสัตว์บริเวณใกล้เคียงมากขึ้น แม้จะมีการปรึกษาของเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเพื่อหาทางออก รวมถึงทำรั้วล้อมรอบกองขยะ แต่ก็ไม่สามารถป้องกัน และแก้ไขปัญหาช้างป่าที่เข้ามายังบริเวณเมืองได้

ทั้งนี้ยังมีรายงานว่า พบช้างตายแล้วถึง 6 ตัว เนื่องจากกินขยะที่มีสารพิษปนเปื้อนเข้าไป

โดยเมื่อปี 2560 รัฐบาลศรีลังกาได้มีคำสั่งห้ามทิ้งขยะในพื้นที่ใกล้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งในแถลงการณ์ของทางรัฐบาลระบุว่า มีช้างป่าประมาณ 300 ตัวตาย หลังจากที่พวกมันกินขยะที่มีการปนเปื้อนเข้าไป

อย่างไรก็ตามภาพช้างป่าออกมาหาอาหารในกองขยะที่ศรีลังกาไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 2561 ผู้เชี่ยวชาญด้านช้างเอเชียของศรีลังกากล่าวว่า ช้างป่าหลายร้อยตัวจาก 7,500 ตัวในศรีลังกามีอาการป่วย ซึ่งเชื่อว่าเกิดการที่พวกมันกินขยะจากกองขยะที่มนุษย์นำมาทิ้งไว้นั่นเอง

ทั้งนี้ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศเอเชียหลายประเทศที่เป็นแหล่งทิ้งขยะ ซึ่งจะมีการส่งตู้คอนเทนเนอร์บรรจุขยะกลับประเทศต้นทางเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่รองรับขยะนำเข้าจากประเทศอื่น อย่างในปี 2561 ไทยนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ อยู่ที่ 481,381 ตัน แต่ส่งออกขยะเพียง 74,906 ตัน

ขยะที่นำเข้ามาจากต่างประเทศนั้นอยู่ในเงื่อนไขที่ว่า ต้องมีความหนาไม่เกิน 2 เซนติเมตร ต้องสะอาด ซักล้างเรียบร้อย โรงงานสามารถนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศมาใช้ได้เลย เพราะต้นทุนถูกกว่าการคัดแยกขยะในประเทศซึ่งมีการปนเปื้อน และไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงในการรีไซเคิล

ที่มา : AWAF / roar.media / t.tilaxan / people

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน