นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ไปหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เพื่อเสนอมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านโครงการชิมช้อปใช้ และมาตรการช้อปช่วยชาติ

โดยจะเสนอให้ ศูนย์บริหารเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 (ศบศ.) พิจารณาในวันที่ 7 ต.ค.นี้ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนจะมี 2 มาตรการ คือ มาตรการชิมช้อปใช้ และมาตรการช้อปช่วยชาติ โดยชื่ออาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม” คาดว่าเมื่อผ่านศบศ. และเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ก็จะดำเนินโครงการได้เลย สำหรับรายละเอียดมาตรการกำลังพิจารณาอยู่

ซึ่งทางรัฐบาลได้ออกนโยบาย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาแล้วหลายต่อหลายครั้งเราไปดูกันดีกว่าว่ามีมาตรการอะไรบ้าง ลักษณะของมาตรการเป็นอย่างไร และใครที่สามารถใช้สิทธิ์ได้บ้าง

ช้อปช่วยชาติ (เฟส 1-3 เสร็จสิ้นแล้ว)

มาตรการลดหย่อนภาษีจากภาครัฐที่ออกมาเพิ่มเติม ตามมติของ ครม. เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ที่บุคคลสามารถนำการใช้จ่ายตามไลฟ์สไตล์ตัวเอง เช่น การท่องเที่ยว การจับจ่ายซื้อของ ไปจนถึงการซื้อบ้านหรือคอนโดฯ ซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนภาษีของรอบภาษีปีนั้นๆ สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 15,000 บาท

เงื่อนไขการรับสิทธิ์
– เป็นสินค้า/บริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อยู่แล้ว
– ซื้อกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
– ได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป (ไม่สามารถใช้สลิปใบเสร็จ/ใบกำกับภาษีอย่างย่อได้)
– ไม่เป็นสินค้า/บริการที่ต้องห้ามไม่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อน

ผู้ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้คือผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะยื่นแบบภาษีในต้นปี จะสามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

กลุ่มเป้าหมายในครั้งนี้ ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป จำกัดไว้ 15 ล้านคน ส่วนกลุ่มร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการจะมุ่งเน้นไปที่ร้านค้ารายย่อยทั่วไป ครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการหาบเร่ แผงลอย ประมาณ 80,000 ร้านค้า ครอบคลุมอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้า ยกเว้นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และบุหรี่

ชิมช้อปใช้ (เฟสแรกเสร็จสิ้นแล้ว)
นโยบายชิมช้อปใช้เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จุดประสงค์หลักของนโยบายนี้คือส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า G-Wallet โดยการแจกเงิน 1,000 บาทให้ประชาชนจำนวน 10 ล้านคนแรกที่เข้ามาลงทะเบียนในเว็บไซต์

นับเป็นการส่งผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผลทันตาทันใจรัฐบาล การใช้เงินกระฉูดตามเป้าหมายในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการ “ชิม” “ช้อป” และ “ใช้” ระยะเวลาโครงการ 23 กันยายน 2562 – 31 มกราคม 2563
มาตรการแบ่งเป็น 2 ส่วน
1. G-Wallet 1 แสดงวงเงิน 1,000 บาท ที่ได้รับจากรัฐบาล (สามารถใช้จ่ายกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ เฉพาะในจังหวัดที่เลือกเท่านั้น)
2. G-Wallet-2 แสดงยอดเงินส่วนของตนที่เติมเข้าไป (เมื่อใช้สิทธิจะได้รับเงินคืน 15% สามารถใช้จ่ายกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ ได้ทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดตามทะเบียนบ้าน)

เงื่อนไขการเข้าร่วม
– เป็นบุคคลสัญชาติไทย มีบัตรประจำตัวประชาชน
– มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน
– มีโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟนที่สามารถเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ต และมีอีเมล์

โครงการเราเที่ยวด้วยกัน (กำลังดำเนินอยู่)
เป็นมาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชนผ่านการท่องเที่ยวภายในประเทศ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง สนับสนุนการสร้างงานและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในองค์รวม ระยะเวลาโครงการ 1 กรกฎาคม – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2563
เงื่อนไขการเข้าร่วม
– เป็นบุคคลสัญชาติไทย มีบัตรประจำตัวประชาชน
– มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน
ประชาชนจะได้รับสิทธิเมื่อลงทะเบียนสำเร็จ และใช้จ่ายในโรงแรม ร้านอาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยว ในจังหวัดที่ไม่ใช่ทะเบียนบ้านของผู้ใช้สิทธิ

ส่วนจะมีการขยายระยะเวลาโครงการออกไป สาเหตุในการขยายเวลาครั้งนี้ก็เพราะว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ผลที่ดีขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมวันหยุดที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศ ในวันที่ 19-22 พ.ย. และวันที่ 10-13 ธ.ค. 2563 หรือไม่นั้น ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเป็นผู้พิจารณา

โครงการเราคนละครึ่ง (เริ่ม 16 ตุลาคมนี้)
เป็นมาตรการเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ร้านค้ารายย่อย เป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในองค์รวม ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 63

เงื่อนไขการเข้าร่วม
1. มีบัตรประจำตัวประชาชนและเป็นบุคคลสัญชาติไทย
2. อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน
3. ไม่เป็นผู้ได้รับสิทธิ์โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
4. จำนวน 10 ล้านคน หรือจนกว่าสิทธิ์จะหมด

ประชาชนทั่วไปสามารถเริ่มลงทะเบียนได้ 16 ต.ค. 63 เป็นต้นไปตั้งแต่เวลา 06:00-23:00 น.

ขั้นตอนการเข้าใช้งานผ่านแอป “เป๋าตัง”
– ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ได้ทั้งระบบ Android และระบบ iOS
– ยืนยันตัวตนให้ครบถ้วนตามขั้นตอนที่ระบุไว้
– เติมเงินเข้า G-Wallet ได้ผ่าน 3 ช่องทาง เช่น Mobile Banking, QR code Promtpay, ผ่านตู้ ATM
– สแกน QR เวลาจ่ายเงิน เข้าไปยังเมนู คนละครึ่ง เพื่อใช้สิทธิ
– ตรวจสอบยอดเงินที่จะชำระ พร้อมกดปุ่มยืนยันการชำระเงิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน