“บิ๊กตู่” เฉลยแล้ว “ปู” อยู่ดูไบ “บิ๊กป้อม”เผยประสานยูเออี ห้ามเคลื่อนไหวยุ่งเกี่ยวการเมือง ขณะที่ข้อมูลสื่อนอกระบุอดีตนายกฯ บินไปลอนดอนตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. กม.ลูกว่าด้วยคดีอาญานักการเมือง ประกาศบังคับใช้แล้ว ให้สิทธิยื่นอุทธรณ์ใน 30 วัน แต่เจ้าตัวต้องมายื่นเอง “มีชัย” ระบุ คดีไม่มีอายุความ กลับมาเมื่อไหร่จับได้ทันที พร้อมตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต “ศรีวราห์” นำทีมค้นบ้านยิ่งลักษณ์-สาวคนสนิท หา หลักฐานดีเอ็นเอ เปรียบเทียบกับที่พบในรถคัมรี่ มัด”พ.ต.อ.”คนพาหนี “โอ๊ค”ส่งทนายขอความเป็นธรรมกับดีเอสไอ งัดข้อมูลเช็ค โต้คดีแบงก์กรุงไทย สนช.ผ่านวาระแรกร่างกฎหมายลูกศาลรธน. “รีเซ็ต”ตุลาการขาดคุณสมบัติ

คดี”ปู”-มติศาลฎีกามีสองรอบ

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. รายงานข่าวระดับสูงจากศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงผลการลงมติของ องค์คณะศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ที่ลงโทษจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

ในการทำคำพิพากษากลางในช่วงเช้าวันที่ 27 ก.ย. หลังจากองค์คณะเเถลงคำพิพากษาส่วนตนในที่ประชุมเเล้ว จากนั้นองค์คณะ มีการลงมติ โดยในคดีมีการลงมติ 2 รอบ คือรอบเเรก องค์คณะจะลงมติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งองค์คณะ เสียงข้างมากมีมติ 8-1 เสียง ลงมติว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง ส่วนองค์คณะเสียงข้างน้อย 1 คน คือนายพิศล พิรุณ ลงมติเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

เปิดโฉมองค์คณะ9 คน

หลังจากลงมติครั้งเเรกที่เสียงข้างมาก เห็นว่ามีความผิดเเล้ว ก็ต้องยึดตามมตินั้นว่าการกระทำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นความผิด เเละ มีการลงมติในครั้งที่สอง ว่าในเมื่อจำเลยมีความผิดเเล้วจะลงโทษอย่างไร เเละจะรอการลงโทษไว้หรือไม่ ซึ่งการลงมติในครั้งที่สอง มีมติเป็นเอกฉันท์ 9-0 ให้ลงโทษจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ 5 ปีไม่รอการลงโทษ ในเมื่อมติมี 2 รอบ เมื่อเเม้รอบเเรกเสียงข้างน้อยจะเห็นว่าไม่ผิด เเต่เมื่อเเพ้มติเเล้ว ก็ต้องเห็นเอาตามเสียงส่วนใหญ่ จากนั้นต้องมาพิจารณาในเรื่องการลงโทษเเละมาลงมติกันอีกครั้งที่สองเเละผลก็ออกมาลงโทษ 5 ปีไม่รอลงอาญา

สำหรับองค์คณะในคดีโครงการรับจำนำข้าว ทั้ง 9 คน ประกอบด้วย นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาลำดับที่ 1 เจ้าของสำนวนคดี, นายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา ลำดับที่ 4, นายธนสิทธ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา, นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธาน แผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา, นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา

นายโสภณ โรจน์อนนท์ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ, นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีเยาวชน และครอบครัวในศาลฎีกา, นายวิรุฬห์ แสงเทียน รองประธานศาลฎีกา และนางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ในศาลฎีกา

“บิ๊กตู่”ลั่นไม่รู้สึกผลตัดสิน

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงผลการตัดสินว่า ตนไม่รู้สึกอะไร ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการตัดสินคดี เพราะไม่ใช่เรื่อง ของตน เป็นเรื่องของศาล เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ตนรู้สึกว่าคดีนี้เหมือนกับทุกคดี คือการตัดสินของศาลที่ใช้กฎหมาย

“ผมเคยบอกว่ากฎหมายคือสิ่งที่อำนวยความเท่าเทียม เพราะทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นใคร รวมถึงนักการเมือง ซึ่งนักการเมืองจะมีกฎหมายพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นอีก 1 เรื่อง ขณะที่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการก็มีกฎระเบียบอยู่ ฉะนั้นทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน คือรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎกระทรวง ซึ่งมีหลายพันฉบับที่เกี่ยวข้อง นั่นคือการอำนวยความเท่าเทียม ดังนั้น ไม่ว่าคดีใดผมก็สนใจติดตาม แต่เมื่อตัดสินแล้ว ก็จบ ยังมีคดีอีกมากที่ต้องดำเนินการต่อไป ให้เป็นเรื่องของศาล และกระบวนการยุติธรรม เราต้องเชื่อมั่นตรงนั้น เป็นเรื่องของผู้ต้องหา ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งต้องไปต่อสู้คดี ซึ่งขั้นตอนการต่อสู้คดีมีมาก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เผยอยู่ดูไบ-วอนอย่าขยายความ

ผู้สื่อข่าวถามถึงการดำเนินการต่อจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เจ้าตัวไม่อยู่ก็ต้องออกหมายจับ ถ้าเจอก็ต้องจับมา ถ้าอยู่ต่างประเทศต้องขอตัวกลับมา ถ้าให้ก็ได้กลับ ถ้าไม่ให้ก็ไม่ได้กลับ ขั้นตอนต่อไปเป็นหน้าที่ของตำรวจจะต้องดำเนินการ เมื่อออกหมายจับแล้วตำรวจต้องทำงานต่อ และขั้นตอนต่อไปเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ ไปอินเตอร์โพล รวมถึงดำเนินการเรื่อง พาสปอร์ต เขาระบุอย่างไรจะถอนหรือไม่ กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงไปแล้ว ก็ไปเก็บข้อมูลตรงนั้นบ้าง มาถามนายกฯ กันหมดก็ตาย

ต่อข้อถามว่านายกฯ ระบุมีสายลับรายงานว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ หนีไปอยู่ที่ประเทศใด นายกฯ กล่าวว่า ก็พูดไปอย่างนั้นว่ามีสายลับ ผมจะไปมีสายลับอะไร พอแล้วไม่ต้องพูด ไม่ต้องถาม จะตอบอยู่เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องถามมาก ถามมา 3 วันแล้ว ไม่รู้จะถามให้ได้อะไร ขึ้นมา เขากำลังติดตามอยู่ เท่าที่ผมทราบข่าว จากกระทรวงการต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการตอนนี้ไปอยู่ที่ดูไบ(สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี) จบยัง” เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจเคลื่อนไหวปลุกระดมจากต่างประเทศ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่าไปขยายให้เขา ขยายไปบ้านเมืองจะสงบหรือไม่ ใครไปขยายให้เขาแล้วมันวุ่นวาย ก็ประณามคนที่ขยายให้เขานั่นแหละ

ห้ามเคลื่อนไหวการเมือง

ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวว่า ไปอยู่ดูไบ ก็ดีแล้ว แม้จะไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ทางการดูไบยืนยันและขอความ ร่วมมือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไม่ยุ่งกับทางการเมืองอีกซึ่งทั้งหมดต้องดำเนินการตามระบบ

เมื่อถามว่าช่วง 1-2 วัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจมีความเคลื่อนไหวผ่านโซเชี่ยลมีเดีย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ทางดูไบแจ้งมายังกระทรวงการต่างประเทศว่าจะไม่ให้น.ส. ยิ่งลักษณ์ เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก ส่วนจะเชื่อใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้หรือไม่ ตนไม่รู้

เดินหน้ายึดทรัพย์ต่อ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปศึกษารายละเอียดคำพิพากษา เพื่อวิเคราะห์และพิจารณาว่า จะนำไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง เนื่องจากคดีที่ศาลฎีกาฯ ตัดสินเมื่อวันที่ 27 ก.ย. เป็นคดีอาญา ไม่เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์และไม่เกี่ยวกับคดีแพ่ง เมื่อศาลตัดสินแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาฯได้ภายใน 30 วัน

ผู้สื่อข่าวถามถึงการยึดทรัพย์น.ส. ยิ่งลักษณ์ ตามมาตรการบังคับทางปกครอง นายวิษณุ กล่าวว่า ตอนนี้กรมบังคับคดียัง ไม่ได้ทำอะไร เพียงแต่ติดหมายอายัดไว้ เพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝากในธนาคาร ยังไม่มีการส่งเข้าคลัง เพราะต้องรอให้ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยก่อน เนื่องจากฝ่ายน.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นขอทุเลาการยึดทรัพย์แล้ว อย่างไรก็ตาม คำตัดสินของศาลฎีกาฯ ไม่เกี่ยวกับศาลปกครอง และฐานความผิด ทั้ง 2 ส่วนนี้เป็นคนละฐาน

สื่อนอกระบุไปลอนดอนแล้ว

น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาเพิกถอนหนังสือเดินทางของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อได้รับแจ้งเรื่องเป็นหนังสือจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายก็จะพิจารณายกเลิก เมื่อเข้าเงื่อนไข โดยไม่รอช้า และไม่เลือกปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถให้ข้อมูลเพิ่มกรณีพล.อ.ประยุทธ์ เผยว่าได้รับรายงานจากกระทรวงต่างประเทศว่าทางการนครดูไบแจ้งว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ที่นครดูไบ รวมถึงกรณีทางการยูเออีทราบว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ไปดูไบตั้งแต่เมื่อไร และไม่สามารถให้ข้อมูลกรณี ที่ฝ่ายความมั่นคงพบร่องรอยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้พาสปอร์ตสีแดงที่ประเทศอังกฤษ แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์มีสิทธิมีพาสปอร์ตแดง ส่วนการประสานขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ในกรณีที่ดูไบและไทยไม่มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกันนั้น ก็เป็นขั้นตอนต่อไปที่จะดำเนินการ

รอยเตอร์รายงานอ้างแหล่งข่าวจากนครดูไบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ที่นครดูไบ แต่ได้เดินทางไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.แล้ว ซึ่งแหล่งข่าวระบุถึงเรื่องนี้ หลัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ อาศัยอยู่ที่นครดูไบ

คดีไม่มีอายุความ-กลับไทยติดคุก

ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวว่า เมื่อพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉบับใหม่ประกาศใช้วันที่ 29 ก.ย. การอุทธรณ์ จำเลยต้องมายื่นคำร้องด้วยตนเองตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย.เป็นต้นไป ส่วนการนับอายุความต้องยึดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 แก้ไขพ.ศ.2558 มาตรา 74/1 คือการไม่นับอายุความ ดังนั้น หากหนีไปนานแค่ไหน เมื่อกลับเมืองไทยก็ต้องมารับโทษ 5 ปี และแม้จะรับโทษครบตามกำหนดแล้ว ก็ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตด้วย เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามเล่นการเมืองไว้ หากใครผิดกฎหมายป.ป.ช.

ผู้สื่อข่าวถามว่าการประกาศใช้พ.ร.บ. ติดตามจับกุมผู้หลบหนีปล่อยตัวชั่วคราวโดยศาล จะส่งผลต่อการติดตามน.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า การตั้งผู้กำกับดูแล ผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวคงไม่ทันแล้ว แต่หากจับตัวได้ ผู้แจ้งความนำจับ อาจจะได้สินบนนำจับ เมื่อถามว่าหากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม รู้ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ดูไบ จะได้รับสินบนหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ต้องจับกุมตัวให้ได้ก่อน

ทนายปูรอดูคำพิพากษากลาง

นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เผยถึงการยื่นอุทธรณ์คดีว่า ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งต้องรอดูคำพิพากษากลางฉบับเต็มและคำวินิจฉัยส่วนตนขององค์คณะที่จะออกมาก่อน

เมื่อถามถึงกรณีราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของ ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 วันนี้ ซึ่งมาตรา 61 ของกฎหมายดังกล่าวให้จำเลย ที่ยื่นอุทธรณ์ต้องมาแสดงตัวต่อศาลด้วย นายนรวิชญ์กล่าวว่า ต้องไปดูรายละเอียดก่อน ขณะนี้ตนติดภารกิจอยู่ที่ต่างจังหวัด จึงยังไม่ได้ดูรายละเอียด

กม.ฟันนักการเมืองบังคับใช้แล้ว

วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโอง การโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มีทั้งหมด 70 มาตรา และให้ใช้บังคับตั้งแต่ วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มีสาระสำคัญ อาทิ นับแต่วันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ห้ามมิให้ศาลอื่นนอกจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง รับคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาฯ ไว้พิจารณาพิพากษา โดยการพิจารณาคดีให้ใช้ระบบไต่สวน

กำหนดให้ศาลฎีกาฯพิจารณาคดีลับหลังได้ โดยในการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้อัยการ สูงสุดหรือป.ป.ช. แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามาศาลในวันฟ้องคดี กรณีผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาล แต่มีหลักฐานชัดว่ามีการออกหมายจับแล้วแต่ยังไม่ได้ตัวมา หรือเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลเกิดจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ให้ศาลประทับ รับฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล

กรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้และศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วแต่จำเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจำเลย แต่หากไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่วันออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิ์จำเลยที่จะตั้งทนายความต่อสู้คดีแทนได้

จำเลยยื่นอุทธรณ์ได้ใน30วัน

ในกรณีเมื่อคดีตัดสินไปแล้วแต่จำเลยกลับมา หากจำเลยจะขอรื้อฟื้นคดีใหม่ก็สามารถทำได้ แต่ต้องยื่นเสียภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และให้ศาลมีอำนาจสั่งรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ตาม ที่เห็นสมควร โดยคำสั่งของศาลในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด

เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว ห้ามมิให้ ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง เว้นแต่จะได้ความว่า หากไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องจะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม

คำพิพากษาของศาลให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ในกรณีจำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังเป็นผู้อุทธรณ์ จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล ในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์

ศาลมีอำนาจพิพากษาคดี ดังนี้ คดีที่มีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ร่ำรวยผิดปกติ จงใจยื่นบัญชีเท็จ ทุจริต ต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย คดีที่คณะผู้ไต่สวนอิสระเห็นว่ากรรมการ ป.ป.ช. มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือ ใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายและยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ

เซ็นตั้งกก.สอบรองผบก.น.5

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) รายงานข่าวแจ้งว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. เซ็นคำสั่งที่ 308/2560 เรื่องแต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวน ลงวันที่ 27 ก.ย.2560 เนื่องด้วยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์ อนุฤทธิ์ รองผบก.น.5 ในความผิดฐาน “ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม” กรณีมีการนำรถยนต์ยี่ห้อ โตโยต้า รุ่นคัมรี่ พร้อมแผ่นป้ายทะเบียน ฌย 2123 กรุงเทพมหานคร ซึ่งตรวจไม่พบหมายเลขทะเบียนดังกล่าวในสารบบของกรมการขนส่งทางบก แต่เนื่องจากคดีดังกล่าวจำเป็นต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วน เพื่อเอาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี ให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

จึงอาศัยอำนาจพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ม.11 (4) ประกอบคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่ 419/2556 ลงวันที่ 1 ก.ค.2556 แต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าว โดยให้พล.ต.ต.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา รองผบช.น. เป็นหัวหน้า โดยให้สืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานกรณีดังกล่าวให้เสร็จโดยเร็ว หากพบว่า มีผู้อื่นร่วมกระทำความผิด ก็ให้อำนาจสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดนั้น แล้วรายงานผลให้บช.น.

“ศรีวราห์”นำทีมค้นบ้านยิ่งลักษณ์

เวลา 12.30 น. ที่สน.ลาดพร้าว พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วยพล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. และคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม สน.ปทุมวัน เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก่อนจะเข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 38/9 ซ.โยธินพัฒนา 3 แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุม บ้านพักของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลังจากศาลอาญาออกหมายค้นเลขที่ 384/2560 ลงวันที่ 28 ก.ย.2560

พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า การตรวจค้นบ้านเน้น 2 ประเด็น 1.หลังศาลออกหมายจับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังอยู่ในบ้านหรือไม่ และ 2.รวบรวมพยานหลักฐานประกอบสำนวน ในคดีอาญาที่พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์ อนุฤทธิ์ รองผบก.น.5 โดนข้อกล่าวหาเรื่องการปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม การเข้าค้นเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในส่วนนี้ ที่ผ่านมา ไม่ได้เข้าค้นเพราะชุดสืบสวนแจ้งข้อมูลว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่อยู่บ้าน แต่ครั้งนี้ต้องค้นเพราะมีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการหลบหนีด้วย ส่วนดีเอ็นเอผู้หญิงที่ พบในรถยนต์ต้องสงสัยพาน.ส.ยิ่งลักษณ์หนี ยังระบุไม่ได้ว่าเป็นของใคร และคาดว่าต้องใช้เวลาพิสูจน์ทราบ 2-3 วัน

ผกก.หนุ่ยขอตรวจกระเป๋าก่อน

พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ยังไม่มีหลักฐานว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ออกนอกประเทศ ส่วน ที่มีข่าวว่าอยู่ดูไบนั้น เป็นกระแสข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศ ตำรวจยังไม่มี หลักฐานยืนยัน หากพบว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่จริงตามที่รายงานข่าว ก็ต้องให้อัยการ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการ

ต่อมาเวลา 13.40 น. พล.ต.อ.ศรีวราห์พร้อมเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) 10 นาย เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ลาดพร้าว 10 นาย และทหาร 4 นาย นำหมายค้นมายังบ้านพักของน.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าภายในบริเวณบ้าน ขณะที่นายนพดล หลาวทอง ทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนรออยู่หน้าบ้านพัก ขณะเดียวกัน พ.ต.อ. วทัญญู วิทยผโลทัย ผกก.ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ศูนย์พัฒนาการข่าว กองบัญชาการตำรวจสันติบาล หรือผกก.หนุ่ย นายตำรวจติดตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพ่อบ้านเดินออกมาจาก ในบ้านพัก พร้อมขอตรวจสอบกระเป๋า และเอกสารพร้อมทั้งอุปกรณ์ต่างๆของ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะเข้าตรวจค้นภายในบ้านพัก ซึ่งพล.ต.อ.ศรีวราห์ให้ตำรวจที่จะเข้าค้นได้แสดงตัว ส่วนตำรวจและทหารส่วนหนึ่งปักหลักรอนอกบ้านพัก

บุกคอนโดฯค้นห้องสาวคนสนิท

ต่อมาเวลา 17.20 น. เจ้าหน้าที่พิสูจน์ หลักฐาน ได้ออกมาจากบ้านของน.ส. ยิ่งลักษณ์ โดย 2 ในเจ้าหน้าที่พฐ.ได้ถือถุงกระดาษ คล้ายถุงปุ้ยขนาดใหญ่ ออกมา 2 ถุง ถุงหนึ่งเป็นถุงทึบมองไม่เห็นภายใน อีกถุงเป็นถุงใส มีผ้าผืนใหญ่สีน้ำตาล คาดว่าน่าจะเป็นผ้าปูที่นอน และผ้าอื่นๆ อีกจำนวนหลายผืน โดยชุดเจ้าหน้าที่พฐ.ตอบนักข่าวสั้นๆ ว่า วันนี้ได้เก็บหลักฐานไปครบถ้วนทั้งหมดแล้ว รวมทั้งเศษเส้นผมของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเก็บหลักฐานในสถานที่ที่จะเข้าถึงได้มากที่สุด

จากนั้นเวลา 18.00 น. พล.ต.อ.ศรีวราห์ พร้อมคณะ ได้เข้าค้นห้องพักเลขที่ 404/96 ชั้น 7 j.w.Boulevard (เจ.ดับเบิ้ลยู.บูเลอวาร์ด) ซึ่งเป็นที่อาศัยของ น.ส.นิลุบล กลิ่นประทุม คนสนิทของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อตรวจสอบหาดีเอ็นเอ

พล.ต.อ.ศรีวราห์ เปิดเผยว่า นำหมายค้นมาค้นที่คอนโดฯแห่งนี้ เป็นไปตามคำซัดทอดของตำรวจ 3 นาย ที่ระบุว่ามีหญิงสาวคนสนิทร่วมเดินทางไปกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันเกิดเหตุ จึงจำเป็นต้องมานำดีเอ็นเอของหญิงสาวคนดังกล่าวไปเทียบเคียงกับดีเอ็นเอภายในรถคัมรี่ ที่ตรวจพบดีเอ็นเอมากกว่า 2 คน การเข้าค้นครั้งนี้ใช้อำนาจตามป.วิอาญาและมาตรา 44 ควบคู่กันไป เนื่องจากป.วิอาญาไม่สามารถเข้าค้นได้หลังเวลา 18.00 น. จึงต้องใช้มาตราพิเศษเข้าค้น ยืนยันว่าแม้เวลาจะล่วงเลยมานานกว่า 1 เดือนแต่เชื่อว่าพยานหลักฐานยังคงหลงเหลืออยู่

ยืนยันไม่มีมวยล้มต้มคนดู

พล.ต.อ.ศรีวราห์ เปิดเผยหลังเข้าค้นทั้ง 2 จุดว่า จากการเข้าค้นบ้านของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เจ้าหน้าที่ พฐ.สามารถรวบรวมได้ทั้งสิ้น 17 รายการส่วนใหญ่เป็นของใช้ส่วนตัวที่จะนำไปตรวจหาดีเอ็นเอได้ ส่วนผลการตรวจค้นคอนโดฯ พบรถยนต์ ฮอนด้า แอคคอร์ด ต้องสงสัยจอดทิ้งไว้ด้านหลังอาคาร ซึ่งเจ้าหน้าที่จะอายัดตรวจสอบ และตรวจห้องพักดังกล่าว เพื่อหาพยานหลักฐานด้านดีเอ็นเอ หากพบดีเอ็นเอของผู้ต้องสงสัยก็จะออกหมายจับเพื่อเอาผิด 3 ตำรวจได้ ส่วนจะไล่ออกจากราชการหรือไม่นั้น อยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการสอบวินัย พร้อมเตือนสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ หากจะวิจารณ์อะไรให้อยู่บน พื้นฐานของความจริง ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์ให้รัฐบาลและคณะทำงานเสื่อมเสีย และควรระวังจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ส่วนผลการตรวจสอบเครื่องยนต์ของคัมรี่ ที่ปรากฏภาพว่าพา น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลบหนีหลังประสานให้กรมศุลกากรตรวจสอบ ตนได้เร่งรัดให้ส่งผลมาในวันนี้ ยืนยันว่าคดีนี้ไม่มีการจัดฉากและไม่มีมวยล้มต้มคนดู ทุกอย่างว่าตามกบิลบ้านกบิลเมือง หากพยานหลักฐานถึงใครก็จะออกหมายจับทันที

รายงานข่าวแจ้งว่า มีคำสั่งให้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดทุกตัวและรถทุกคันตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการสลับสติ๊กเกอร์ติดเข้าออกคอนโดฯ

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ต้องขอโทษสื่อที่ติดต่อตนไม่ได้ เพราะหลังทราบคำพิพากษาคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตนตั้งใจว่าจะงดให้สัมภาษณ์ เข้าใจดีว่าเมื่อมี คำพิพากษาออกมาชัดเจน จะมีทั้งคนดีใจและเสียใจ ตนแคร์ความรู้สึกเหล่านี้ เพราะถือว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน เลยมาเยี่ยมหลาน ที่สิงคโปร์ และตั้งใจว่าวันที่ 4 ต.ค. เวลา 10.30 น. จะแถลงที่พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อสรุปทุกมุมมองที่เกี่ยวกับคดีรับจำนำข้าว

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่คิดว่าคดีจำนำข้าวจะมีกระทบต่อบรรยากาศทางการเมือง โดยดูจากกระแสความรู้สึกต่างๆ ซึ่งเทียบกับเมื่อ 25 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น ดูเหมือนอารมณ์ กระแสของผู้คนโดยทั่วๆ ไปลดลงไปพอสมควร เนื่องจากตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่อยู่ ก็ไม่ควรเป็นปัญหาอะไร ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย การเมืองก็ต้องเดินหน้าต่อไป

ส่วนกรณีสหรัฐเชิญพล.อ.ประยุทธ์ไปเยือนระหว่างวันที่ 2-4 ต.ค.นี้ ต้องดูว่าจะมีประเด็นอะไรบ้าง หวังว่าการเชิญครั้งนี้จะไม่เป็นเหตุเพื่อกดดันบางเรื่อง เช่น การต้องขายของ เพราะรู้สึกว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันนี้ชอบขายของมากโดยเฉพาะอาวุธ รวมไปถึงนโยบายที่จะรับมา ขอให้พิจารณาให้รอบคอบ เช่น ที่มีข่าวตอนนี้เรื่องจะไปอนุญาตให้นำเนื้อหมูเข้ามา จะมีผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อเกษตรกร และพล.อ. ประยุทธ์ต้องยืนยันต่อสหรัฐเรื่องโรดแม็ปให้ชัดเจน และต้องหนักแน่นขึ้นด้วย

“โอ๊ค”ส่งทนายร้องทุกข์คดีกรุงไทย

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายชุมสาย ศรียาภัย ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายพานทองแท้ ชินวัตร มายื่นหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรมต่อดีเอสไอ ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำเนินคดีกับนายพานทองแท้ ในความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ปปง. พ.ศ.2542 ตามมาตรา 5 (1) และ (2) โดยมีพ.ต.ต.วรนันท์ ศรีล้ำ รองโฆษกดีเอสไอ เป็นผู้รับมอบ

นายชุมสายกล่าวว่า เห็นว่านายพานทองแท้เป็นผู้บริสุทธิ์ เกรงจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการถูกแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว จึงมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมการกระทำผิดอาญาฐานฟอกเงินนั้น ผู้กระทำต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ได้รับโอนหรือที่เข้าไปเกี่ยวข้องนั้นเกี่ยวกับการกระทำความผิด และกระทำโดยมีเจตนาพิเศษ ซุกซ่อน ปกปิด อำพรางแหล่งที่มาของเงินตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งนายพานทองแท้ไม่ทราบว่าเช็ค 10 ล้านบาทที่นายวิชัย กฤษดาธานนท์ สั่งจ่ายให้นั้นได้มาจากการกระทำความผิด ทั้งไม่มีเจตนา เพื่อซุกซ่อนปกปิดอำพรางแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น เพราะคดีกรุงไทยเป็นความเกี่ยวพันของ 3 กลุ่มคือธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพและบริษัท กฤษดามหานคร ส่วนนายพานทองแท้ เป็นบุคคลภายนอก

ยันไม่มีเอี่ยวฟอกเงิน

นายชุมสายกล่าวว่า ส่วนเช็คดังกล่าว นายพานทองแท้ ได้มาก่อนมีการตรวจสอบการอนุมัติสินเชื่อตามทางการค้าปกติในธุรกิจทั่วไป และตรวจสอบพบว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัทกฤษดามหานคร ติดต่อกัน 20 ปีตั้งแต่ปี 2535-2555 แต่พนักงานสอบสวนไม่เคยสืบสวน สอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา เหตุเพราะเชื่อว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการทุจริตหรือการฟอกเงิน แล้วนายพานทองแท้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จะมีส่วนรู้เห็นได้อย่างไร เป็นเรื่องผิดวิสัย ผิดธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังมีบุคคลและนิติบุคคล เกือบ 200 รายที่ได้รับเช็คในทำนองเดียวกันในลักษณะกระจาย แต่เหตุใดพยายามเร่งรัดรีบร้อนจะดำเนินคดีกับนายพานทองแท้กับพวกอยู่กลุ่มเดียว ที่สำคัญไม่มีผู้ที่จะมีเจตนากระทำผิดฐานฟอกเงินรายใด ทำธุรกรรมผ่านเช็คเพื่อให้ง่ายต่อการติดตามเส้นทาง การเงิน ตามวิอาญา มาตรา 134 วรรคสอง ระบุว่าในการจะแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลใด พนักงานสอบสวนต้องมีหลักฐานตามสมควร ไม่ได้เปิดช่องดุลพินิจแบบไร้ขอบเขต ขณะที่ ป.วิอาญา มาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่ทำได้ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ ซึ่งพนักงานสอบสวน มีอำนาจ จึงมีหน้าที่ต้องทำทั้งสองทาง ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผมจึงเห็นว่าพฤติการณ์ ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายดังกล่าว นายพานทองแท้ยังห่างไกลเหตุที่เจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อกล่าวหาว่าทำผิดอาญาฐานฟอกเงิน

โชว์หลักฐานเช็คสั่งจ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ นายวันชัย บุนนาค ทนายความที่ติดตามเรื่องนี้อีกราย ได้ส่งหนังสือถึงอธิบดีดีเอสไอ ขอให้ตรวจสอบธุรกรรมโอนเงินและดำเนินคดีอาญา ฐานฟอกเงิน โดยระบุว่าการตรวจสอบของ ป.ป.ง. ยังไม่ครบถ้วน ทำให้การดำเนินคดี ไม่ครอบคลุมถึงทุกคนทุกกลุ่ม พร้อมกับอ้างหลักฐานการโอนเงินเพื่อขอให้ดีเอสไอตรวจสอบดำเนินคดี

โดยหลักฐานดังกล่าวเป็นสำเนาเช็คที่นายวิชัย กฤษดาธานนท์ สั่งจ่ายจำนวน 2.5 แสนบาท ให้กับบุคคลสำคัญรายหนึ่ง และมีการโอนเงินเข้าบัญชีมูลนิธิ และสำเนาเช็คอีกใบเป็นเช็คที่นายวิชัย สั่งจ่ายจำนวนเงิน 1 แสนบาท ให้อดีตทหารเรือผู้หนึ่ง

ป.ป.ช.เร่งทำสำนวนไฟกทม.

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า จากกรณีนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. เผยมติ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดในคดีกล่าวหา นายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าฯ กทม. กับพวก กรณีมีพฤติการณ์เข้าข่ายเอื้อเอกชนให้ได้รับงานโครงการประดับไฟลานคนเมือง กทม.วงเงิน 39.5 ล้านบาทไปแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ใน ขั้นตอนให้คณะอนุกรรมการไต่สวน จัดทำสำนวนให้สมบูรณ์ เพื่อให้กรรมการทั้ง 9 คน ลงนามกำกับ ในสำนวนก่อนส่งสำนวน ให้อัยการสูงสุด (อสส.) ดำเนินคดีอาญา ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือพ.ร.บ.ฮั้วประมูลและส่งให้ต้นสังกัดคือ กทม.และกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการเอาผิดทางวินัยต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของสำนวนได้ เนื่องจาก ผู้ถูกกล่าวหามีหลายคน และความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ซึ่งป.ป.ช. จะแถลงอย่างเป็นทางการในเร็วๆนี้

“เมื่อป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดแล้ว ต้องให้เวลาเจ้าของสำนวนสรุปความสมบูรณ์ให้เรียบร้อย โดยประธานป.ป.ช.ได้ให้เลขาธิการป.ป.ช.ไปดำเนินการแล้ว พร้อมเร่งรัดติดตามให้รีบส่งไปอสส. โดยเร็ว” รายงานข่าวระบุ

สนช.รับหลักการกม.ศาลรธน.

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนาย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณา ของศาลรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เสนอ

สาระสำคัญคือ กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน แบ่งเป็น 1.ผู้พิพากษา ในศาลฎีกาที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้ พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 คน 2.ตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวน 2 คน

3.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 1 คน 4.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตรา จารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศ ไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ 1 คน และ 5.ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 2 คน

เพิ่มอำนาจ-รีเซ็ตคนหลุดสเป๊ก

มาตรา 39 บัญญัติว่าผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งหรือระเบียบตามมาตรา 38 ให้ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาลและให้ศาลมีอำนาจดังต่อไปนี้ 1.ตักเตือน 2.ไล่ออกจากบริเวณศาล 3.ลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 76 กำหนดให้ประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อน ที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ

ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของศาลรัฐ ธรรมนูญ โดยเฉพาะการให้มีกลไกการทำงานเพิ่มมากขึ้น ส่วนเรื่องความคงอยู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน กรธ.กำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกับทุกองค์กร มีเพียงเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เท่านั้นที่กรธ.บัญญัติให้ พ้นจากตำแหน่งทั้งหมด เพื่อให้กสม.มีกระบวนการสรรหาสอดคล้องกับนานาชาติ และหากในชั้นคณะกรรมาธิการของสนช.จะแก้ไขหรือมีความเห็นอย่างไรก็เป็นอำนาจหน้าที่ของสนช.

จากนั้นที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 198 คะแนน งดออกเสียง 3 รับหลักการร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 จากนั้นตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 22 คน พร้อมกำหนดเวลาการทำงานต้องให้เสร็จภายใน 50 วัน ก่อนส่งให้ที่ประชุมสนช.พิจารณาลงมติในวาระ 2 และวาระ 3 ต่อไป

ปธ.กสม.ดับเครื่องชนปมเซ็ตซีโร่

นายวัส ติงสมิตร ประธานกสม. เปิดเผยว่า หลังจากตนได้ทำหนังสือ 2 ฉบับส่งถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 248 (2) ของรัฐธรรม นูญ 2560 ส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่ามีข้อความขัดหรือแย้งตามรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น จากนี้ตนจะขอรอดูท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ ก่อน

“หากนายกฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ควรส่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผมก็มีแนวทางต่อสู้ต่อไป ตอนนี้ ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ยืนยันว่ามีการเตรียมแนวทางไว้อย่างชัดเจน เตรียมพร้อมไว้แล้วถ้าถึงเวลาเมื่อไรก็เมื่อนั้น” นายวัส กล่าว

“ธนะศักดิ์”เผยไม่หนักใจคุมพศ.

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่มอบให้กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนา แห่งชาติ (พศ.) แทนนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ว่า ไม่มีปัญหาและไม่หนักใจ ที่ผ่านมาตนดูแลงานกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ขณะเดียวกันต้องประสานการทำงานกับพศ.เป็นประจำ ซึ่งการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ เพราะนายกฯเห็นว่า หากนำงานของสองหน่วยงานมาประสานเข้าด้วยกันน่าจะเป็นเรื่องดี ในอดีตก็รวมกันและเพิ่งมาแยกกันทำงานในภายหลัง

ส่วนปัญหาภายในพศ.ช่วงนี้ มีทางแก้ร้อยวิธี แต่พูดมากไปหรือดีแต่พูดไม่มีประโยชน์ เพราะเมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องแก้ปัญหาและที่ผ่านมาเห็นว่าแก้ได้ด้วยดี

ส่วนการมอบหมายงานให้พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้ตรวจราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ครม.ให้กลับมาดำรงตำแหน่งผอ.พศ.ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นั้น ต้องรอให้เข้ามารับหน้าที่อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ต.ค.นี้ จากนั้นจะว่าไปตามขั้นตอนการทำงาน เมื่อถามว่าจะยังตรวจสอบทุจริตเงินงบประมาณสนับสนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัด รองนายกฯ กล่าวว่า การทำงานมีไม่กี่เรื่อง คือดูแลลูกน้อง เรื่องความโปร่งใสตรงไปตรงมา ซึ่งทุกคนทำอยู่แล้ว ปัญหาทุกที่มีหมด ถ้าเราไปแก้ก็ไม่เป็นปัญหา และทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขเพื่อให้งานสำเร็จ และเชื่อว่าทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน