นักวิชาการชี้รัฐแก้ PM2.5 ถูกทาง วอนปชช.เลี่ยงขับรถมาทำงาน แนะไฟเขียวทำงานที่บ้าน ชี้อนาคตมีโอกาสหมดไปจากประเทศไทย คงไม่เกิดขึ้น 1-2 ปี

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.63 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ขณะนี้ภาครัฐดำเนินการเดินมาถูกทางแล้ว เพราะที่ผ่านมามีการศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลทางวิชาการทั้งจากกรมควบคุมพลพิษ กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมอนามัยมาเป็นพื้นฐานในการกำหนดนโยบายและมาตรการ โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากสภาพอากาศที่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ ทำให้ในพื้นที่กทม.มีสภาพอากาศนิ่ง มีหมอกในตอนเช้า จากนั้นช่วงสายก็กลายเป็นฝุ่นละออง

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นายสุพัฒน์ กล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาในช่วงนี้จะแก้ให้หมดได้คงยาก แต่สามารถบรรเทาสถานการณ์ให้เบาบางลงได้ สำหรับการแก้ไขปัญหามี 3 จุดคือ 1.แหล่งตัวระบายมลพิษทางอากาศออกมาหรือ PM 2.5 2.การกำจัดให้มลพิษที่ลอยอยู่ในอากาศตกลงสู่พื้นที่ดิน และ 3.การปกป้องคนที่เป็นผู้รับฝุ่นเข้าสู่ร่างกายด้วยการสวมใส่หน้ากาก ทั้ง 3 จุดภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่

“สำหรับแหล่งกำเนิดทางข้อมูลวิชาการช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกทม.มาจากการใช้รถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ทำให้มีควันดำออกมาจนสะสม ทำให้เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ขณะที่การเผาที่โล่งแจ้งในกทม.มีน้อย แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรที่อยู่รอบกทม. เช่น ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ที่ถูกลมเหนือพัดพามาในกทม. โดยเฉพาะทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกทม. ทำให้บริเวณเขตบางขุนเทียน และจ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่สีแดง

ส้วนการใช้น้ำมันดีเซลของรถยังคงมีกำมะถันค่อนข้างสูง ถ้าใช้น้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันต่ำมาก ที่ตอนนี้บริษัทน้ำมันก็ให้ความร่วมมือ จากการทดสอบทางวิชาการพบว่าสามารถช่วยลดการระบายของฝุ่นในน้ำมันดีเซล โดยลดลงไปได้กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ช่วยทำให้ฝุ่นเกิดลดลง คาดว่าจะตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ต่อไป

เมื่อถามว่ามวลไอน้ำในอากาศแปรปรวนถือเป็นฝุ่นหรือหมอกควันด้วยหรือไม่ นายสุพัฒน์ กล่าวว่า ในทางวิชาการหากเป็นหมอกตอนเช้าไม่ถือว่าเป็นฝุ่น แต่การเกิดหมอกได้ในทางวิชาการต้องมีแกนกลางของไอน้ำที่ไปควบแน่นเกาะ ดังนั้นช่วงช่วงส่วนใหญ่จะเป็นหมอก ไม่ถือเป็นฝุ่นโดยตรง ทั้งนี้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะขึ้น คือช่วงเช้าที่มีการจราจรหนาแน่น และช่วงบ่ายภายหลังเลิกงานที่ขึ้นจนถึงเวลา 24.00 น. ก่อนที่สถานการณ์จะลดลงมาจนถึงช่วงเช้า จึงอยากขอความร่วมมือประชาชนพยายามหลีกเลี่ยง ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรขับรถมาทำงาน ขอให้ใช้รถขนส่งมวลชนแทน เพื่อลดจำนวนการปลดปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ขณะที่หน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชนพิจารณาสามารถทำงานจากที่บ้านได้หรือไม่ เพื่อลดการเดินทางในช่วงวิกฤตและลดการใช้รถในกทม.ให้ได้มากที่สุดเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

เมื่อถามว่า ถ้าดำเนินการตามมาตรการภาครัฐ และมาตรการการขอความร่วมมือทั้งหมดมีโอกาสฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะหมดไปจากประเทศไทยหรือไม่ นายสุพัฒน์ กล่าวว่า มีโอกาส แต่คงไม่เกิดขึ้นภายใน 1-2 ปี ต้องใช้การดำเนินการในระยะยาวเพื่อแก้ไข อย่างไรก็ตามสถานการณ์แบบนี้จะคงยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่จะเกิดเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆจนกว่าจะหมดฤดูหนาว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน