“บิ๊กตู่” ย้ำรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วม- ภัยแล้ง แต่ติดปัญหาที่ประชาชนไม่เข้าใจ สั่งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศไปอธิบายว่าน้ำมาจากทางไหน กรมอุตุฯ เตือนฝนหนักทุกภาคถึงวันที่ 11 ต.ค. กรมชลฯ เร่งระบายน้ำจากเขื่อนใหญ่ เพราะใกล้ถึงจุดวิกฤตหลายแห่ง ร้อยเอ็ดอ่วมน้ำชีทะลักท่วมสูง 2 เมตร พิษ 3 เขื่อนใหญ่พร่องน้ำพร้อมกัน เขื่อนพิมายก็ปริ่มพร้อมล้นตลิ่งทุกเมื่อ

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน จังหวัดสะอาดระดับประเทศ ประจำปี 2560 กับ ผวจ.ทั่วประเทศ ตอนหนึ่งว่า เป็นห่วงเรื่อง น้ำท่วม อยากให้ทำความเข้าใจว่าน้ำเริ่มมากขึ้นที่เขื่อนเจ้าพระยา ขอฝากผู้ว่าฯ ให้ช่วยอธิบายว่าน้ำมาจากทางไหน เพราะฝนตกลงมามากเกินไปน้ำก็มีปัญหาทั้งสิ้น เพราะอย่างไรน้ำก็ไหลจากเหนือลงใต้ก็เกิดการสะสมน้ำ อยากแก้ปัญหาน้ำให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะวันนี้เราได้แก้ทุกอย่างทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ แต่ยังติดปัญหาเรื่องที่ประชาชนไม่เข้าใจ จึงขอฝากผู้ว่าฯ ทุกคนให้ช่วยกันและคิดแบบตนคิด

วันเดียวกัน นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือน “ฝนตกหนักบริเวณประเทศไทย” ฉบับที่ 5 ความว่า ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่และมีลมกระโชกแรง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังในที่ราบลุ่มไว้ด้วย

เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงพัฒนาเป็นพายุดีเปรสชันแล้วปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 10 ต.ค. หลังจากนั้นจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือในช่วงวันที่ 10-11 ต.ค. ตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ คาดว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตามภาคต่างๆ มีดังนี้

วันที่ 10 ต.ค. ภาคเหนือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล, ภาคตะวันออก ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคใต้ เพชรบุรี ประจวบ คีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต

ในวันที่ 11 ต.ค. ภาคเหนือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย และตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ และนครราชสีมา, ภาคกลาง นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยนาท อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และราชบุรี, ภาคตะวันออก จันทบุรี และตราด, ภาคใต้ ระนอง พังงา และภูเก็ต จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดในระยะนี้

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เตรียมจะปรับแผนเพิ่มการระบาย เพื่อรับมือหย่อมความกดอากาศต่ำและร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคอีสานตอนบน และภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดที่เคยเกิดน้ำท่วมแล้วจะต้องระวังเป็นพิเศษ จังหวัดนครพนม สกลนคร ยโสธร น่าน เป็นต้น

สำหรับแผนเพิ่มการระบาย ได้แก่ 1.เขื่อนเจ้าพระยา จะระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเพิ่มจากเดิมที่ปัจจุบันระบายอยู่ที่ 2,000 ลบ.ม.ต่อวัน เป็น 2,100-2,200 ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อไม่ให้พื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยาเกิดน้ำท่วมฉับพลัน 2.เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี จาก 25 ล้านลบ.ม. ต่อวัน เป็น 30 ล้านลบ.ม.ต่อวัน หากมวลน้ำมีปริมาณมากจะระบายน้ำไปทางคลองระพีพัฒน์แทนเขื่อนพระราม 6 จ.พระนครศรี อยุธยา

และ 3.เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ปัจจุบันมีน้ำกักเก็บใกล้เต็มความจุของเขื่อนแล้วกว่าร้อยละ 97 ระบายน้ำออกวันละ 28 ล้านลบ.ม. ถ้าหากจะต้องระบายเพิ่มมากกว่านี้กรมชลฯ จะต้องไปตกลงกับกฟผ. เพราะถ้าระบายน้ำออกมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่างทำให้เกิดน้ำท่วม อาทิ จังหวัดขอนแก่น ยโสธร เป็นต้น ทั้งนี้ในเบื้องต้นจะได้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่คาดว่าจะเกิดผลกระทบแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่แล้ว

นายประลอง ดำรงค์ไทย โฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส. ได้แจ้งให้หน่วยงานในสังกัด ทส. ทุกหน่วยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศขอให้ช่วยเฝ้าระวังสถานการณ์ และดูแลประชาชนที่ประสบความเดือดร้อน รวมถึงอาคารทรัพย์ สิน ทั้งส่วนของรัฐ และเอกชน อย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้การสนับสนุน ร่วมมือกับหน่วยงานระดับจังหวัดอย่างเต็มกำลัง นอกจากนี้ยังให้เตรียมความพร้อมดำเนินการช่วยเหลือประชาชนหลังจากน้ำลดด้วย เช่น การจัดการขยะตกค้างและน้ำเสีย การเป่าล้างบ่อน้ำบาดาลที่ถูกน้ำท่วมขัง เป็นต้น

ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ทั่วประเทศ ที่ จ.เชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ ทำหนังสือด่วนถึงนายอำเภอ 25 อำเภอ อปท. และเทศบาลนครเชียงใหม่ หลังจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือออกประกาศเตือนจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ให้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ที่ลาดเชิงเขา และพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม เตรียมความพร้อมรับมือการเกิดอุทกภัย ให้ปฏิบัติตนเมื่อเกิดอุทกภัย ทั้งในกรณีสามารถอาศัยอยู่ในบ้านเรือนได้ หรือกรณีต้องอพยพออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ยังให้หน่วยงาน ปภ.เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ข้อมูลข่าวสารของทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านนายสฤษดิ์ สุภาเลิศ ปลัดเทศบาลตำบลทุ่งข้าวพวง อ.เชียงดาว แจ้งว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมาเกิดเหตุดินสไลด์ปิดทับถนนสายเชียงดาว-เวียงแหง เส้นทางแม่จา-เวียงแหง ก่อนถึงบ้านแม่จาเหนือ นายฉอ้อน เขื่อนเพชร นายกเทศมนตรีตำบลทุ่งข้าวพวง ระดมเจ้าหน้าที่ ร่วมกับ ปภ.เชียงใหม่ สาขา อ.เชียงดาว, เจ้าหน้าที่หมวดทางหลวงเชียงดาว (ปิงโค้ง) แขวงการทางเชียงใหม่ที่ 3, กฟภ. เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อส. และอปพร. ขนย้ายวัสดุที่กีดขวางการจราจร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงสามารถเปิดเส้นทางได้ 1 ช่องทางการจราจร ระบายรถที่ติดค้างบนเขาจำนวนมาก

ส่วนที่ จ.ร้อยเอ็ด ชาวบ้านดินแดง ม.3 ต.ดงสิงห์ อ.จังหาร ร้องขอความช่วยเหลือจากทหาร พล.ร.6 ค่ายพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ช่วยวางกระสอบทรายกั้นน้ำบนพนังกั้นแม่น้ำชี หลังระดับน้ำเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว เพราะเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เร่งระบายน้ำลงท้ายเขื่อนเนื่องจากมีมวลน้ำไหลเข้าอ่างจนใกล้ถึงจุดวิกฤต ทำให้น้ำทะลักท่วมบ้านกว่า 120 หลังคาเรือน สูงกว่า 2 เมตร โดย มทบ.27 เตรียมส่งกำลังพลไปเพิ่มเติม เพราะคาดว่าในอีก 2-3 วันจะมีมวลน้ำก้อนใหม่ไหลมาสมทบเพิ่มเติม

สถานการณ์น้ำในพื้นที่ อ.พิมาย จ.นคร ราชสีมา ปริมาณน้ำในลำน้ำมูนเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ หรือเขื่อนพิมาย ต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยภายหลังจากที่นำเครื่องผลักดันน้ำ 3 เครื่อง และเปิดประตูเขื่อนขึ้นสุดทั้ง 6 บาน ระบายน้ำลงสู่ลำจักราชตลอด 24 ชั่วโมง แต่ระดับน้ำในลำน้ำมูนเหนือเขื่อนพิมายยังเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 10 เซนติเมตร เกือบจะล้นตลิ่งเข้าท่วมบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายแล้ว หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติมจะเข้าสู่สภาวะปกติใน 2 วัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน