แฉมั่วข้อมูลกรมอุตุฯ โต้โซเชี่ยลแชร์พายุจ่อถล่มไทยพร้อมกันถึง 3 ลูก เตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนก สะเมิง-หางดง เชียงใหม่ ถูกฝนถล่มหนักจากเกิดน้ำป่าทะลักท่วมหนักสุดในรอบ 15 ปี ชาวบ้าน-นักท่องเที่ยวต้องหนีตายกันกลางดึก แม่น้ำชีทะลักจม 3 อำเภอชัยภูมิ มวลน้ำมหาศาลจนพนังกั้นไม่อยู่ กรมศิลป์เร่งเสริมพนังป้องวัดไชยวัฒนารามอีก 1 เมตร จากเดิมสูง 1.60 เมตร

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ออกประกาศเรื่อง ชี้แจงข่าวเรื่องเตือนภัยพายุจ่อเข้าไทย 3 ลูกซ้อน ตามที่นักวิชาการและสื่อบางรายการนำแบบจำลองสภาพอากาศจากคอมพิวเตอร์มาคาดการณ์การเกิดพายุหมุนเขตร้อนล่วงหน้า ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ โดยระบุว่าจะมีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 3 ลูก และมีผลกระทบทำให้เกิดฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมเพิ่มเติม

กรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการติดตามและแจ้งเตือนภัย มีข้อแนะนำแก่ประชาชนและชี้แจงดังนี้ คือ 1.การทำงาน ติดตาม และพยากรณ์อากาศ มีการนำผลการตรวจอากาศที่เกิดขึ้นจริง และการใช้ข้อมูลดาวเทียมในการวิเคราะห์สภาพอากาศ และใช้แบบจำลองสภาพอากาศจากคอมพิวเตอร์ของประเทศไทย และจากศูนย์พยากรณ์อากาศชั้นนำจากประเทศต่างๆ มาสังเคราะห์และเปรียบเทียบเพื่อให้ได้ข้อมูลถูกต้องที่สุด เนื่องจากแบบจำลองสภาพอากาศจากคอมพิวเตอร์จะมีความคลาดเคลื่อนและถูกต้องน้อยลง เมื่อระยะเวลาพยากรณ์นานขึ้นเรื่อยๆ

2.จากการวิเคราะห์สภาพอากาศปัจจุบัน (วันที่ 12 ต.ค.) พบว่า ในช่วงวันที่ 12-14 ต.ค. บริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวเบงกอล ไม่มีพายุก่อตัวขึ้นแต่อย่างใด เป็นเพียงหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมทางด้านประเทศเมียนมา และไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งภาคใต้จะได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ประจำฤดูเท่านั้น บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีร่องมรสุมพาดผ่านทำให้มีฝนตกต่อเนื่องในระยะนี้ อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่ม ที่มีน้ำท่วมขังอยู่แล้ว

ในช่วงวันที่ 15-17 ต.ค. คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านทะเลจีนใต้ เข้ามาบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน แต่เนื่องจากความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาบริเวณประเทศเวียดนามในช่วงดังกล่าว ทำให้พายุนี้จะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว และไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง สำหรับในระยะนี้บริเวณประเทศไทยยังมีร่องมรสุมพาดผ่าน ประกอบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ มีกำลังแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักเกิดขึ้นได้หลายพื้นที่

หลังจากวันที่ 17 ต.ค. ยังมีโอกาสที่จะมีพายุก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลจีนใต้ แต่เนื่องจากข้อมูลจากแบบจำลองจะมีความถูกต้องน้อยลงมาก เมื่อระยะเวลาพยากรณ์นานขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงไม่มีศูนย์พยากรณ์ใดที่สามารถยืนยันข้อมูลว่ามีความถูกต้องเพียงใด แต่จะเป็นสัญญาณให้นักอุตุนิยมวิทยาเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลการพยากรณ์อากาศและการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยราชการเท่านั้น ในการประกาศแจ้งเตือนจะมีรายละเอียด วันและเวลาที่แน่นอน และขอให้อย่าได้ตื่นตระหนกจากข้อมูลที่ไม่ได้มาจากผู้ทำงานรับผิดชอบโดยตรง หรือการส่งต่อกันตามสื่อออนไลน์ต่างๆ และสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน 1182 และโทร.0-2399-4012-3 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th

วันเดียวกัน นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีปภ. เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน และการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 10-11 ต.ค. ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี กำแพงเพชร สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ และชัยนาท รวม 24 อำเภอ 169 ตำบล 924 หมู่บ้าน 1 ชุมชน แยกเป็น ลพบุรี น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 1 อำเภอ 9 ตำบล 60 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,643 ครัวเรือน 22,231 คน

กำแพงเพชร น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 1 อำเภอ 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 20 ครัวเรือน 56 คน นครสวรรค์ น้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 3 อำเภอ 25 ตำบล 210 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,873 ครัวเรือน 11,619 คน ชัยนาท น้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 4 อำเภอ 14 ตำบล 57 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 611 ครัวเรือน 1,222 คน สิงห์บุรี น้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 3 อำเภอ 11 ตำบล 44 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,265 ครัวเรือน 9,142 คน

ปัจจุบันมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกเขตคันกั้นน้ำ อ่างทอง น้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 5 อำเภอ 27 ตำบล 75 หมู่บ้าน 1 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,636 ครัวเรือน 4,908 คน ปัจจุบันมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกเขตคันกั้นน้ำ และพระนครศรีอยุธยา น้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 7 อำเภอ 81 ตำบล 472 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 24,346 ครัวเรือน 68,168 คน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ล่าสุดปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี ซี 2 อ.เมืองนครสวรรค์ 2,702 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.68 เมตร ประกอบกับเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์งดการระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.เป็นต้นมา ทำให้ระดับน้ำที่ จ.นครสวรรค์เริ่มทรงตัว ตั้งแต่ช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม ระดับน้ำจะลดลงในระยะต่อไป

ส่วนที่เขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อน 2,535 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 2,600 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา บริเวณ จ.สิงห์บุรี และจ.อ่างทอง เพิ่มขึ้นประมาณ 0.12 เมตร ส่วนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะสูงขึ้นจากวานนี้ประมาณ 0.7 เมตร หากไม่มีฝนตกเพิ่ม ระดับน้ำบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา จะสูงสุดไม่เกิน 0.15 เมตร ในวันที่ 13 ต.ค.นี้

ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ทั่วประเทศ ที่จ.เชียงใหม่ มีฝนตกอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ชั่วโมง บนยอดดอยพื้นที่ครอบคลุม อ.สะเมิง และอ.หางดง ส่งผลให้เมื่อเวลา 01.00 น.ที่ผ่านมา เกิดน้ำป่าไหลหลากจากน้ำแม่ตื่นและน้ำแม่ตาช้างไหลมารวมกันล้นทะลักเข้าท่วม พื้นที่หลายหมู่บ้านในต.บ้านปง อ.หางดง และมีดินสไลด์บนยอดดอยอีกหลายจุด

โดยเฉพาะบริเวณหมู่บ้านห้วยส้มป่อย น้ำได้กัดเซาะ สะพานหมู่บ้านห้วยส้มป่อยอายุกว่า 50 ปี พังเสียหายและทรุดตัวลง ชาวบ้านกว่า 100 หลังคาเรือนถูกตัดขาด บริเวณ ต.หนองควาย และต.น้ำแพร่ อ.หางดง ในช่วงเวลา 04.00 น. โดยเฉพาะบ้านเวียงด้งระดับน้ำได้ท่วมสูงระดับเอว ประมาณ 1 เมตร และท่วมหนักที่สุดในรอบ 15 ปี ขณะที่นักท่องเที่ยวที่พักอาศัยที่รีสอร์ตต่างพากันแตกตื่นหนีขึ้นที่สูงเพื่อความปลอดภัย

วันเดียวกัน แม่น้ำยมที่ไหลจาก อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก สู่จ.พิจิตร ซึ่งอยู่นอกโครงการบางระกำโมเดล ล้นตลิ่งผลกระทบท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชน โดยเฉพาะที่บ้านวัง อิทก ต.วังอิทก อ.บางระกำ หลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตรบางส่วน โดยเฉพาะที่โรงเรียนวัดวังอิทก น้ำได้ท่วมสูงประมาณ 10 เซนติเมตร แต่โชคดีที่ช่วงนี้โรงเรียนปิดเทอมกลางภาคจึงไม่มีเหตุวุ่นวาย

ส่วนในพื้นที่ อ.เมือง จ.ตาก บริเวณที่ลุ่มต่ำ และถนนพหลโยธิน ขึ้นสู่ภาคเหนือและถนนจรดวิถีถ่อง ทางไป จ.สุโขทัย มีน้ำท่วมขังสูงประมาณ 50 ซ.ม. และบางจุดสูงถึง 1 เมตร ทำให้การสัญจรได้เพียง 1 ช่องการจราจร มวลน้ำกัดเซาะเกาะกลางถนน บริเวณใต้สะพานลอยหน้าโรงเรียนผดุงปัญญา โดยเฉพาะชุมชนสุสานมุสลิม ม.6 ต.ไม้งาม ถูกน้ำป่าไหลหลากมาจากค่ายวชิรปราการ คาดเนื่องจากก่อสร้างบ้านพักภายในค่ายทหารทำให้เปลี่ยนเส้นทางเดินของน้ำ ประชาชนเดือดร้อนกว่า 20,000 คน เนื่องจากไม่สามารถการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำปิง เพราะปากท่อระบายน้ำ เสมอกับระดับน้ำแม่น้ำปิง

สถานการณ์น้ำท่วมหนักในพื้นที่ ต.บ้านต๊ำ อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา น้ำป่าไหลหลากจากต้นน้ำกว๊านพะเยาลงสู่น้ำแม่ต๊ำ ตั้งแต่กลางดึกที่ผ่าน ท่วมพื้นที่ตำบลบ้านต๊ำ 13 หมู่บ้าน 600 หลังคาเรือน บ่อเลี้ยงปลานิลของผู้เลี้ยงปลานิลบ้านต๊ำซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเลี้ยงปลานิลใหญ่ที่สุดของ จ.พะเยา และภาคเหนือ เสียหาย 50 บ่อ ไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ ส่วนพื้นที่รอบกว๊านพะเยา น้ำท่วมนาข้าวกว่า 10,000 ไร่

ส่วนแม่น้ำมูนช่วงที่ไหลผ่าน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ยังเอ่อหนุนสูงตลอดเวลาท่วมบ้านเรือนประชาชนอย่างรวดเร็ว จนชาวบ้านเก็บสิ่งของขึ้นที่สูงไม่ทัน สิ่งของภายในบ้านได้รับความเสียหายจำนวนมาก รวมทั้งพืชสวน บ่อปลา สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะบ้านวังกุ่ม ม.14 ต.ในเมือง ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร เนื่องจากมวลน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร อ.โนนไทย ไหลมาสมทบอย่างต่อเนื่อง

นายอภิชัย จำปานิล ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ก็จะส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำพองและแม่น้ำชีมีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่อำเภอและจังหวัดตามเส้นทางของน้ำ ตั้งแต่ขอนแก่นผ่านไปยังมหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด, ยโสธร และอุบลราชธานี จะมีระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น และไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จึงประสานงานไปยังเขื่อนระบายน้ำซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เปิดบานประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้นอีก 25 ซ.ม. เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้นตลอดเส้นทางของน้ำ

บริเวณริมถนนอู่ทอง ฝั่งตรงข้ามกับวัดกษัตราธิราชวรวิหาร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต.ท่าว่าสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนคร ศรีอยุธยา ว่าที่ร.ต.สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรี อยุธยา พร้อมเจ้าหน้าที่เร่งทำแนวคันดินยาว 1 กิโลเมตร ป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลเข้าพื้นที่เกาะเมือง เนื่องจากเป็นจุดที่ต่ำที่สุด ล่าสุดระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเหลืออีกประมาณ 40 ซ.ม.จะเสมอแนวตลิ่ง จึงต้องสร้างแนวคันดินไว้รองรับสถานการณ์ ซึ่งพื้นที่เกาะเมืองมีโบราณสถานที่สำคัญซึ่งเป็นมรดกโลก โรงพยาบาลจังหวัด พื้นที่เศรษฐกิจ สถานที่ราชการบ้านเรือนประชาชนกว่า 10,000 ครัวเรือน

ส่วนที่โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นายประทีป เพ็งตะโก รองอธิบดีกรมศิลปากร ตรวจสอบการติดตั้งแนวบังเกอร์เสริมอีก 1 เมตร จากเดิมที่ติดตั้งไว้ 1.60 เมตร โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามาช่วยเหลือในการติดตั้ง พร้อมทั้งจัดเวรยามตรวจ 24 ชั่วโมง การติดตั้งจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 วัน

วันเดียวกัน ระดับน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก เอ่อท่วมบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมน้ำในเขต อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี ประกอบด้วย ต.บ้านครัว ม.1, 2, 4 และ6 รวม 422 ครัวเรือน ต.บางโขมด ม.3-4 จำนวน 168 ครัวเรือน และต.ขีดขิน ม.4, 5 และ 8 จำนวน 29 ครัวเรือน รวม 619 ครัวเรือน ต้องมาอาศัยอยู่ที่เต็นท์บนที่สูง หลายหน่วยงานนำสิ่งของเครื่องอุปโภค-บริโภคไปแจกจ่าย และจัดห้องสุขาเคลื่อนที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน