แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินหายใจ วิเคราะห์ความเสี่ยง เทียบห้าง กับร้านอาหารข้างทาง ชี้ อะไรกันแน่เสี่ยงเป็น จุดแพร่เชื้อ โควิด มากกว่ากัน

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ถึงมาตรการในการควบคุมโควิด ซึ่งเปรียบเทียบระหว่าง ห้าง กับ ตลาด ว่า อะไรกันแน่ที่มีความเสี่ยงมากกว่ากัน

โดยข้อความระบุว่า “มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ด้วยการสั่งปิดสถานที่ต่างๆ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อในสถานที่นั้นๆ ไม่ใช่สั่งปิดพร้อมกันหมด ตอนนี้เศรษฐกิจไทยบอบช้ำเกินกว่าจะเจอล็อคดาวน์รอบ 2 คนไทยสามารถทำกิจกรรมในที่กลางแจ้ง (outdoor) ได้ทุกฤดูกาล ต่างจากประเทศเมืองหนาว การห้ามลูกค้าเข้าไปซื้อของในสถานที่เปิด ไม่ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศเช่น ตลาดสด ตลาดนัด ซื้อของจากร้านหาบเร่ แผงลอยข้างถนน ห้ามนั่งรับประทานอาหารในที่โล่ง นอกอาคาร นอกบ้านหลัง 3 ทุ่ม ส่งผลกระทบต่อผู้มีอาชีพขายอาหาร คนหาเช้ากินค่ำ ลูกจ้าง คนทำงานต้องตกงาน เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ขณะที่ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ ร้านสะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นสถานที่ปิด (indoor) ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ อากาศถ่ายเทไม่ดี มีความเสี่ยงในการแพร่กระจาย การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่าในที่กลางแจ้ง 10 เท่า กลับให้เปิดทำการได้ตามเวลาปกติ

เราสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในตลาดสด ตลาดนัด ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างสถานที่ให้มีการถ่ายเทระบายอากาศมากขึ้น เปิดหลังคาบางจุด เว้นระยะห่างของแม่ค้าแต่ละซุ้ม ทำทางเดินให้กว้างขึ้น ไม่ให้แออัดมากเกินไป คนขายของและลูกค้าทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา รัฐควรผ่อนผันให้สถานที่นอกอาคาร ในที่กลางแจ้ง เปิดบริการเหมือนปกติ เพื่อให้คนได้ทำงาน มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน