นักเขียนหนุ่ม เปิดอีกมุมมอง หลังกระแสดราม่า พิมรี่พาย ควักเงินครึ่งล้านช่วยเด็กบนดอยไร้ไฟฟ้า-ไม่มีแม้แต่ความฝัน ชื่นชมแต่ไม่เห็นด้วย

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน
จากกรณีประเด็นดราม่าที่ พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ หรือ พิมรี่พาย ยูทูบเบอร์บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดัง ที่ทุกคนรู้จักเธอในบทบาทแม่ค้าออนไลน์ ที่ใช้เงินส่วนตัวกว่า 5 แสนบาท ช่วยเหลือเด็กบนดอยเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ที่หมู่บ้านแม่เกิบ ตั้งอยู่ที่ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่กว่า 300 กิโลเมตร จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เปิดอีกมุมมอง หลังกระแสดราม่า พิมรี่พาย ควักเงินครึ่งล้านช่วยเด็กบนดอยไร้ไฟฟ้า-ไม่มีแม้แต่ความฝัน

เปิดอีกมุมมอง หลังกระแสดราม่า พิมรี่พาย ควักเงินครึ่งล้านช่วยเด็กบนดอยไร้ไฟฟ้า-ไม่มีแม้แต่ความฝัน

ล่าสุดวันที่ 10 ม.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศรชัย ฉัตรวิริยะชัย ผู้แต่งหนังสือ “เอนหลังพิง” นามปากกา “ภินท์ ภารดาม” ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Sonny Chatwiriyachai ระบุว่า เรื่องของคุณ #พิมรี่พาย เห็นคนเขียนกันมาเยอะแต่ยังไม่มีใครพูดแทนใจผมได้เป๊ะ เลยขอเขียนบ้างละกัน ข้อชื่นชม

1.ชื่นชมที่คุณพิมรี่พายใช้เงินส่วนตัวในการบริจาคให้กับเด็กชาวดอย เธอไม่ได้เพิ่งมีพฤติกรรมแบบนี้ แต่ทำมานาน จนสรุปได้ว่านั่นเป็นนิสัยคู่ตัว ที่อริสโตเติลใช้เรียกว่าเป็น กัมมันตะ (action) ของตัวละครจริง ๆ ที่ไม่ใช่การทำอย่างไม่มีที่มาที่ไป จึงยกประโยชน์ให้เธอว่าเธอไม่ได้ทำเพื่อธุรกิจ (ถึงแม้มาเคียเวลลี่คงจะไม่เห็นด้วย)

2.ชื่นชมความเป็นนักปฏิบัติ โลกเรามีนักพูดเยอะมาก แต่ไม่ลงมือทำ การลงมือทำของเธอโดยไม่ต้องรอเหนือรอใต้ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง (ส่วนความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นที่ปรารถนาหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

3.ความสามารถในการสร้างทีมงาน ที่พร้อมลุยและทำงานอย่างจริงจังร่วมหัวจมท้ายไปกับเธอ นี่เป็นความสามารถของการเป็นผู้นำตัวจริงอย่างไม่ต้องสงสัย สกิลในการจูงใจให้คนทุ่มเทกับการทำงานซึ่งมันมองเห็นได้ในคลิปวิดีโอคือผลที่เห็นเป็นรูปธรรมของทีมที่เธอสร้าง

ดังนั้น ผมไม่มีปัญหากับคนที่ชื่นชอบการกระทำของคุณพิมรี่พาย แต่อย่างใด ดังที่กล่าวไปแล้ว ส่วนบางคนที่โยงไปเรื่องสถาบันนั้นผมก็ไม่ว่ากันเพราะสุดแล้วแต่คนจะคิดและหลักฐานบางตัวก็มีให้เห็นอยู่ ว่าการพัฒนาแบบนั้นได้ไม่คุ้มกับเงินที่ลงไป
แต่ด้วยความที่ผมเป็นคนทำงานในสายงานของผู้ถูกกดขี่ ผมก็อดที่จะหยิบยกหลักปฏิบัติที่ผมยึดถือมาเปรียบเทียบไม่ได้ ซึ่งหลักปฏิบัติของการทำงานกับผู้ถูกกดขี่ก็คือ

1.เราไม่ควรให้การช่วยเหลือกับผู้ถูกกดขี่ ในสิ่งเขาไม่ได้ร้องขอ 2.เราไม่สามารถไปยัดเยียดให้ใครมีจิตสำนึก ที่จะพาตัวเองให้หลุดพ้นจากการกดขี่ เพราะจิตสำนึกเชิงวิพากษ์เป็นเรื่องที่จะต้องเกิดกับตัวเขาเอง 3.เราอาจจะเป็นปัจจัยให้กับผู้ถูกกดขี่ได้ แต่ก็เป็นได้แค่ในฐานะเพื่อน เราไม่สามารถมี agency แทนเขาได้ หมายถึงเราไม่สามารถกระทำการแทนเขาได้ แต่สนับสนุนได้ ร่วมทางกับเขาได้แต่อย่าล้ำหน้า

4. การคิดแทนผู้ถูกกดขี่ รังแต่จะสร้าความรู้สึกปลอม ๆ ของการอยู่เหนือเขา (false superiority) อันนั้นเป็นสิ่งที่ต้องระวังสำหรับทุกคนที่ทำงานกับผู้ถูกกดขี่ จาก 3-4 ข้อนี้ นำมาสู่ข้อสรุปเกี่ยวกับการช่วยเหลือของคุณพิมรี่พายครั้งนี้ ได้ดังนี้ 1.ความช่วยเหลือของคุณพิมรี่พาย เป็นการไปถามเอาจากคุณครู หรือสอบถามในฐานะผู้ให้ และไปนึกเอาเป็นข้อสรุปเองว่าจะต้องให้อะไร ดังนั้นจึงไม่อาจพูดได้ว่าผู้ถูกกดขี่ปรารถนาที่จะได้สิ่งเหล่านั้น

2.การคิดไปว่าเด็กจะต้องมีอาชีพอย่างคนเมือง จึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าต้องเอาทีวีมาให้เด็กดูเพื่อจะได้รู้ว่าต้องการมีอาชีพอะไร หรือการฝึกให้เด็กปลูกผัก เพื่อต่อไปจะได้เอาเป็นอาชีพ เป็นข้อสรุปที่ได้จากตัวคุณพิมพรี่พายเอง (ซึ่งมีส่วนคล้ายกับการคิดแทนชาวบ้านแบบโครงการในพระราชดำริ) ไม่ใช่ความต้องการของเด็ก

3.เราอาจจะเป็นปัจจัยให้กับเขาในการสนับสนุนในสิ่งที่เขาต้องการ แต่การก้าวล่วงไปมองว่าเด็กต้องอ่านหนังสือถึงจะมีความรู้ เป็นความคิดที่เป็นการกระทำการแทน และเป็นการมององค์ความรู้ในแบบที่ไม่ถูกต้อง เพราะองค์ความรู้ของเด็กมีอยู่ในลักษณะของความรู้ฝังลึกหรือ Tacit Knowledge ไม่ได้จากการอ่าน การมองว่าไม่อ่านหนังสือแล้วโง่จึงเป็นความคิดที่ผิด

4.การคิดแทนผู้ถูกกดขี่ ทำให้ตัวผู้ให้ความช่วยเหลือเกิดความรู้สึกเหนือกว่าแบบปลอม ๆ อย่างที่คุณพิมรี่พายพูดว่า “ไม่เคยคิดเลยว่าชีวิตกูจะทำประโยชน์ได้มากขนาดนี้” (9:47) อันนี้คือ sense of superiority

ทั้งหมดนี้ผมจึงสรุปว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการกระทำของคุณพิมรี่พาย แต่ผมมองว่าถ้าหากคุณพิมรี่พายเข้าไปเรียนรู้กับเด็กดอยและใช้เวลาอยู่บนดอยมากหน่อย ใช้เวลาสังเกตการณ์มากหน่อย ทำให้น้อย ดังที่เปาโล แฟร์ว่า คุณต้องมี Action ที่ประกอบด้วย Reflection แล้วอาจจะมองเห็นเองว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ต้องทำ ไม่ปล่อยให้อารมณ์หรือ sense of false superiority หรือ ความกรุณาแบบอัตโนมัติเข้าทำงาน จะมองเห็นหนทางที่จะหยิบยี่นความช่วยเหลือได้ยั่งยืนกว่านี้ อย่างน้อยต้องศึกษาเรื่องการทำไร่ตามภูมิปัญญาชาวเขา ซึ่งไม่ใช่ไร่เลื่อนลอยอย่างที่รัฐหลอกลวงเรา

เอาเป็นว่ายังเชียร์คุณพิมรี่พาย เพราะการทำงานของเธอในฐานะสามัญชนซึ่งเป็นชนชั้นพ่อค้าวานิชมีคุณูปการทำให้เกิดแรงกระเพื่อมของสังคมให้หันมาถกกันเรื่องนี้ รวมทั้งเปรียบเทียบกับชนชั้นศักดินา ส่วนสินค้าคงไม่ซื้อเพราะเธอคงรวยอยู่แล้ว และทำใจไม่ได้ที่งานสังคมกับงานธุรกิจของเธอมันมีเส้นแบ่งแค่บาง ๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน