กรมชลฯ เตือนนครสวรรค์-อุทัยฯ-ชัยนาท รับมือน้ำเหนือบ่า แต่พื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไร้กังวลแก้มลิงรับน้ำได้อีกกว่า 5 พันล้านลบ.ม. กนอ.ยันยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรมแห่งไหนได้รับผลกระทบ แต่สั่งให้เฝ้าระวังเต็มที่ อุดได้แล้วอ่างเก็บน้ำลพบุรีที่พัง ชาวกรุงเก่าต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำหลังน้ำจำนวนมาก ถูกผันลงทุ่งบางบาลสูง 2 เมตร เจ้าพระยาล้นตลิ่งกลางดึกชาวปทุมธานีต้องขนของหนีจ้าละหวั่นทำใจท่วมทุกปี แต่ขอยาแก้น้ำกัดเท้ากันแมลงมีพิษ

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่าที่สถานี ซี 2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,854 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.38 เมตร ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร ทำให้แม่น้ำปิงมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ ส่งผลให้ปริมาณน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปริมาณน้ำจะไหลไปรวมกับแม่น้ำสะแกกรังและไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาตามลำดับ

ขณะที่การระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยายังควบคุมการระบายอยู่ที่ไม่เกิน 2,600 ลบ.ม. ต่อวินาที คาดว่าจะทำให้ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20 ซ.ม. ส่งผลให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร

และชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ได้เขต อ.เมือง อ.วัดสิงห์ และอ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท รวมไปถึงพื้นที่ในเขต อ.เมือง จ.อุทัยธานี และอ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ สำนักงานชลประทานที่ 12 ได้ส่งหนังสือแจ้งจังหวัด สำนักงานปภ. รวมทั้งฝ่ายปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ดังกล่าว ให้แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งต่อไปแล้ว

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 58,038 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 82 ของความจุรวมกันทั้งหมด เป็นน้ำใช้การได้ 34,512 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 73 สามารถรองรับน้ำได้อีก 13,285 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 19,728 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 79 มีปริมาณน้ำใช้การได้ 13,032 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 สามารถรองรับปริมาณน้ำได้รวมกันอีกกว่า 5,159 ล้าน ลบ.ม.

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ปริมาณน้ำในเขื่อนหลายแห่งเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน เป็นผลให้เขื่อนในพื้นที่ต่างๆ มีปริมาณน้ำจำนวนมาก ดังนั้น กนอ. จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการ กนอ.เฝ้าระวังอุทกภัยตลอด 24 ชั่วโมง และติดตามข้อมูลข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากกรมชลประทาน และกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรมใดได้รับผลกระทบ

“ขณะนี้ปริมาณน้ำโดยรอบนิคมฯ ในพื้นที่ต่างๆ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ กนอ.สั่งการให้ยกระดับเฝ้าระวัง โดยให้มีการเตรียมพร้อมเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ ในพื้นที่และเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงได้มีการสื่อสารข้อมูลการตรวจสอบระดับน้ำ สถานการณ์น้ำรอบนิคมฯ ให้ผู้ประกอบการอย่างสม่ำเสมอ

โดยเฉพาะนิคมฯ ที่อยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมฯ บ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมฯ สหรัตนนคร รวมถึงนิคมฯ บางปู จ.สมุทรปราการ ส่วนใหญ่สร้างเขื่อนคอนกรีตที่มีประสิทธิภาพและมีความมั่นคงแข็งแรงของคันป้องกันน้ำท่วมที่เพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที” นายวีรพงศ์กล่าว

นอกจากนี้ กนอ.ยังเตรียมความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วม เครื่องสูบน้ำระบายน้ำและเครื่องจักรอุปกรณ์ ฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดเหตุอุทกภัยของนิคมฯ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เป็นประจำทุกปี ตรวจสอบคันดินรอบนิคมอุตสาหกรรมให้อยู่ในสภาพที่ได้มาตรฐาน จัดเตรียมอุปกรณ์สำรองฉุกเฉิน เขื่อนกั้นน้ำติดตั้งเร็ว 2,188 ชุด มีความสูงประมาณ 1.20 เมตร มีความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถติดตั้งได้รวดเร็วในทุกสภาพพื้นที่ เป็นต้น

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ นายจิตต เกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบระบบระบายน้ำและสั่งการบล็อกท่อระบายน้ำจุดที่ 7 บริเวณถนนริมแม่น้ำแยกตลาดศรีนคร ต.นครสวรรค์ตก เพื่อบล็อกท่อระบายน้ำ เพิ่มเติมในส่วนที่มีผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำในบริเวณใกล้เคียง และตั้งเครื่องสูบออก พร้อมมอบข้าวสารอาหารแห้ง ยาสามัญประจำบ้าน น้ำดื่ม แก่ผู้ประสบอุทกภัยชุมชนหนองปลาแห้ง

ในเขต อ.ชุมแสง พื้นที่หลายตำบลถูกน้ำท่วมขังมานานนับเดือน เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองชุมแสงติดตั้งเครื่องสูบน้ำหลายแห่ง พร้อมทำคันดินกั้นน้ำที่จะล้นตลิ่งจากแม่น้ำน่านท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตรจำนวนมาก

ที่อ.ท่าตะโก มีน้ำป่าจาก จ.เพชรบูรณ์ ไหลเข้าท่วมตลาดท่าตะโก ซึ่งทางเทศบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว ส่วนที่ อ.ลาดยาว บริเวณหลังโรงไฟฟ้า ต.วังซ่าน มีน้ำป่ากำลังไหลเอ่อล้นเข้าท่วมแล้ว

ความคืบหน้ากรณีคันสระเก็บน้ำภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตลพบุรี บ้านนกเขาเปล้า ม.4 ต.เพนียด อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี เกิดเหตุชำรุด เนื่องจากรับน้ำไว้เกินความจุ ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะเกิดเหตุมีน้ำอยู่ประมาณ 600,000 ลบ.ม. คาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลออกจากสระ 320,000 ลบ.ม. มวลน้ำดังกล่าวจะไหลหลากผ่านทุ่งนาประมาณ 200 ไร่

ล่าสุดกำลังทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ ที่ 721 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 72, ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ กองบิน 2, ปภ.ลพบุรี, สำนักงานชลประทานที่ 10 และกรมทางหลวง ร่วมกันดำเนินการนำเครื่องจักรกลซ่อมแนวคันดินที่ชำรุดจนเป็นผลสำเร็จ

นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ ผวจ.ลพบุรี ขอบคุณไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบูรณาการทำงานร่วมกัน จนสามารถแก้ไข้สถาน การณ์ต่างๆ ผ่านไปได้ด้วยดี พร้อมเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของแนวคันอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ทุกแห่ง เพื่อป้องกันเหตุซ้ำรอยด้วย

ที่ชุมชนบ้านโรง ม.4 ต.สะพานไทย อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ที่อยู่ในพื้นที่แก้มลิงทุ่งบางบาล ซึ่งมีการผันน้ำเข้ามาในพื้นที่จนระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร ถนนทางเข้าหมู่บ้านบางจุดท่วมสูงรถยนต์ขนาดเล็กผ่านไม่ได้ ในหมู่บ้านน้ำท่วมสูง 2 เมตร ชาวบ้านหลายหลังต้องย้ายไปกางเต็นท์อยู่บนถนน บางส่วนที่ยังห่วงทรัพย์สินต้องนำเศษไม้ที่หาได้มายกพื้นไว้ใช้เป็นที่นอน และยกพื้นเพื่อเก็บของ

นายสมนึก มีเศรษฐี อายุ 62 ปี ต้องเก็บข้าวของเอาไว้ที่สูง พร้อมทั้งยกพื้นให้สูง เพราะภายในบ้านถูกน้ำท่วมสูงกว่า 50 ซ.ม. เพื่อใช้เป็นที่นอน ต้องย้ายนางสำราญ มีเศรษฐี อายุ 85 ปี มารดา ซึ่งป่วย ไปเช่าบ้านอยู่ที่น้ำไม่ท่วม โดยให้หลานๆ เป็นคนดูแล ส่วนดวงใจ สุภารัตน์ อายุ 57 ปี บ้านถูกน้ำท่วมสูงกว่า 50 ซ.ม. ต้องยกพื้นสูง มีเด็กเล็กอยู่ 2 คน ต้องยืนประกอบอาหารอยู่ภายในบ้าน โดยชาวบ้านยอมรับในสภาพของพื้นที่แก้มลิงต้องรับน้ำ แต่ขอให้ถนนทางเข้าหมู่บ้านสามารถใช้การได้และมีหน่วยงานเข้ามาให้การช่วยเหลือ

ส่วนที่ จ.ปทุมธานี เมื่อกลางดึกที่ผ่านมาระดับน้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องจนเอ่อล้นตลิ่งท่วมชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ และวัดหลายแห่ง ประกอบด้วย วัดโพธิ์เลื่อน วัดเจดีย์ทอง วัดน้ำวน วัดโคก วัดบางหลวง วัดบางเดื่อ วัดชินวนาราม มีบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 2,510 หลังคาเรือน ประกอบไปด้วย อ.สามโคก และ อ.เมือง

นายสราวุฒิ สุสุขเมฆ อายุ 40 ปี บ้านเลขที่ 31/1 หมู่ 1 ต.ท้ายเกาะ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและอยู่นอกคันกั้นน้ำต่างเคยชินกับสถานการณ์น้ำท่วมแบบนี้อยู่แล้ว แต่ตอนนี้ที่เดือดร้อนคือแมลงสัตว์มีพิษที่มักจะหนีน้ำเข้ามายังที่อาศัยของประชาชน มาแอบซ่อนอยู่ภายในบ้าน หลายคนถูกตะขาบกัดอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล มาแจกชุดยาปฐมพยาบาล รวมถึงตอนนี้มีหลายคนที่ต้องเผชิญกับน้ำกัดเท้าจากการต้องเดินลุยน้ำบ่อยและเป็นประจำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน