คนเขียนบัตร Smart Card งง! ผ่านมา 20ปี ยังถ่ายเอกสาร? ทั้งที่มีประโยชน์สารพัด

มาตรการเยียวยาโควิด-19 ที่ออกโดยรัฐบาลอย่างโครงการ คนละครึ่ง และ เราชนะ แม้จะได้รับกระแสตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี สังเกตได้จากการที่มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิเต็มจำนวนภายในไม่นาน แต่อย่างไรก็ตามมาตรการการเยียวยาเหล่านั้นกลับเป็นปัญหา เนื่องจากการลงทะเบียนหรือใช้สิทธิกลับต้องทำผ่านสมาร์ตโฟน

ทำให้ประชาชนที่ไม่มีสมาร์ตโฟนไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวเพื่อรับมาตรการเยียวยาได้ รวมถึงตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น หน่วยงานของรัฐมักจะขอสำเนาบัตรประชาชน จึงทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยว่าสุดท้ายแล้วเราจะมีบัตรประชาชนแบบสมาร์ตการ์ดไปทำไม ทั้งที่เราสามารถใช้ประโยชน์จากสมาร์ตการ์ดได้สารพัด

เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟซบุ๊กนามว่า “Suvipan Jampa” ได้โพสต์ข้อความที่กล่าวถึงเรื่องราวข้างต้นพร้อมทั้งนำข้อความของผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งที่ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงมาตรการเยียวของรัฐบาลว่า ในฐานะที่ตนเป็นโปรแกรมเมอร์ ในเมื่อบัตรประชาชนเป็นสมาร์ตการ์ดอยู่แล้ว ทำไมไม่ทำให้บัตรสามารถใช้เป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนละครึ่ง หรือบัตรเราชนะหรืออื่น ๆ ได้เลย

โดยคุณ Suvipan Jampa ได้ระบุว่าตนนั้นคือคนเขียนสเปกบัตรประชาชนสมาร์ตการ์ดที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันมากับมือ ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน ในตอนนั้นตนจำได้ว่าเขียนให้มันเป็น Java Card เก็บข้อมูลหลายอย่างในบัตรเดียวเป็นทั้งบัตรประชาชน ใบขับขี่ ประกันสังคม ประกันสุขภาพ และเป็นอีวอลเล็ตในตัว เก็บลายนิ้วมือเป็น bio ID มันออกมาเป็นอย่างงี้ได้ไงก็ไม่รู้

และยังระบุอีกว่าครั้งเมื่อ หมอเลี๊ยบ-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ยังเป็นรมต. ICT ยังจำภาพได้ว่าตนนั่งเขียนสเปกบัตรสมาร์ตการ์ดอยู่ที่บ้าน ให้ภรรยาเป็นคนพิมพ์และจัดหน้าให้ ลูกชายยังเรียนอนุบาล นั่งเล่นเกมเต่า turn around บนคอมอีกเครื่องอยู่ข้างๆ ผ่านมาเกือบ 20 ปี ไอบัตรนี้มันก็ยังต้องถ่ายเอกสารอยู่เลย

โพสต์ดังกล่าวทำให้มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างมากมาย พร้อมทั้งเข้ามากดไลก์และกดแชร์ออกไปกว่า 1 หมื่นครั้ง ทั้งนี้กว่าจะมาเป็นบัตรสมาร์ตการ์ดในปัจจุบันนั้น บัตรประจำตัวของคนไทยนั้น มีความเป็นมาตั้งแต่ ปี 2476 ก่อนจะออกกฎหมายบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นมาบังคับใช้เป็นการเฉพาะครั้งแรก

และเมื่อปี 2539 มีการทำบัตรแถบแม่เหล็ก ซึ่งทำด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ผลิตเองที่สำนักทะเบียน ประชาชนรอรับบัตรได้เลยใช้เวลาประมาณ 15 นาที จนกระทั่งเมื่อปี 2547 จึงหันมาใช้สมาร์ตการ์ดแทน เนื่องจากจัดเก็บข้อมูลได้จำนวนมากและป้องกันการปลอมแปลงได้ 100%

ซึ่งบัตรดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นหน่วยความจำเก็บสำรองข้อมูลของประชาชน ในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็น โดยการจัดเก็บนั้นประชาชนคนนั้น ๆ ที่อนุญาตให้ส่วนราชการจัดเก็บไว้เพื่อเป็นหน่วยข้อมูลที่สำคัญในการไปติดต่อใช้บริการจากรัฐหรือเอกชน โดยไม่จำเป็นจะต้องเตรียมหลักฐานที่ทางราชการออกให้ไปแสดงอีกต่อไป

ข้อมูล : สถาบันนโยบายศึกษา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน