ชาวชัยนาทปีติ ‘ในหลวง’ พระราชทานถุงยังชีพช่วยบรรเทาภัยน้ำท่วม กรมชลฯ เผยฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือทำให้น้ำหลากลงสู่แม่น้ำปิง ก่อนจะไหลลงไปสมทบแม่น้ำเจ้าพระยาที่นครสวรรค์จนระดับน้ำเพิ่มขึ้น สั่งพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา ทั้งชัยนาท-อุทัยฯ เตรียมตัวรับน้ำล้นตลิ่ง ส่วนพื้นที่ท้ายเขื่อนยังไม่มีผลกระทบ ส่วนชาวผักไห่ กรุงเก่าก็ต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำเพราะถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำเหนือ ล่าสุดน้ำสูงกว่า 2 เมตร

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 20 ต.ค. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เดินทางไปที่สำนักงานชลประทานที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เพื่อรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ อ.สรรพยา จากนายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผวจ.ชัยนาท และนายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 จากนั้นได้เดินทางไปที่วัดโพธิ์งาม ม.3 ต.บางหลวง อ.สรรพยา มอบสิ่งของพระราชทานให้แก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย จำนวน 300 ถุง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อน

วันเดียวกัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ไปตรวจเยี่ยมโรงพักที่มิได้แจ้งล่วงหน้า โดยได้มาสุ่มตรวจในเขต บช.ภาค 1 ที่ สภ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมทุกๆ ปี พร้อมระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม มีความเป็นห่วงเป็นใยในความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและฝากความห่วงใยไปยังพี่น้องประชาชน

“ท่านได้กำชับให้ทุกโรงพักที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยน้ำท่วม เปิดโรงพักเพื่อใช้เป็นที่พักกับประชาชนพร้อมให้บริการอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรคตลอดจนของยังชีพต่างๆ พร้อมทั้งได้ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อพี่น้องประชาชนและได้มอบเงินบำรุงขวัญ นอกจากนี้ยังได้กำชับให้น้อมนำพระราชดำริ ของโครงการจิตอาสา ‘เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ’ ทั้งนี้เพื่อที่จะให้ตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง ซึ่งการมาตรวจดังกล่าวนั้น ก็ไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีความตื่นตัวในการปฏิบัติหน้าที่ รับใช้พี่น้องประชาชนตลอดเวลา” ผบ.ตร.กล่าว

วันเดียวกัน นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดี ปภ. เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันและการระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำสำคัญ ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย น้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ตั้งแต่วันที่ 10-20 ต.ค. ในพื้นที่ 16 จังหวัด รวม 59 อำเภอ 373 ตำบล 2,229 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 99,242 ครัวเรือน 250,155 คน มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ปัจจุบันคลี่คลายแล้ว 1 จังหวัด คือ กำแพงเพชร และยังคงมีสถานการณ์ใน 15 จังหวัด

แยกเป็น ลุ่มน้ำปิง 1 จังหวัด ได้แก่ ตาก ลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยม 1 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ลุ่มน้ำป่าสัก 2 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ และลพบุรี ลุ่มน้ำชี 5 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด และลุ่มน้ำมูน 1 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี

ปภ.ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการระบายนํ้าเพิ่มของเขื่อนอุบลรัตน์และน้ำทะเลหนุน ในช่วงวันที่ 13-31 ต.ค. ซึ่งจะส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง น้ำไหลหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมลําน้ำ และน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำของแม่น้ำสายต่างๆ

ได้แก่ แม่น้ำลาว จ.เชียงราย แม่น้ำยม จ.แพร่ พิษณุโลก สุโขทัย และพิจิตร แม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่ ลําพูน ตาก และกําแพงเพชร แม่น้ำเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ แม่น้ำป่าสัก จ.เพชรบูรณ์ ลพบุรี แม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี แม่น้ำท่าจีน จ.สุพรรณบุรี นครปฐม แม่น้ำชี จ.หนองบัวลําภู ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และกาฬสินธุ์ แม่น้ำมูน จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ทั้งนี้ กอปภ.ก.ประสานจังหวัดในพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่วิกฤต แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการและแผนเผชิญเหตุของจังหวัด รวมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงของระบบป้องกันอุทกภัย เช่น แนวคันกั้นน้ำ และความพร้อมระบบการระบายน้ำ พร้อมแจ้งประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิงบริเวณ จ.กำแพง เพชร หลังจากที่เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ อ.เมือง จ.ตาก และ อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำปิง ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอีก ล่าสุดปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงที่ อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ วัดได้ 1,145 ลบ.ม.ต่อวินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.เมืองนครสวรรค์ 2,919 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.25 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำจาก จ.นครสวรรค์ เมื่อรวมกับน้ำที่มาจากแม่น้ำสะแกกรัง จะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ยังคงปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20 เซนติเมตร

ส่งผลให้มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในเขต อ.เมือง อ.วัดสิงห์ และ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท รวมไปถึงพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งในเขต อ.เมือง จ.อุทัยธานี และ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ด้วย ซึ่งกรมชลประทานได้ทำหนังสือแจ้งจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งฝ่ายปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ดังกล่าว ให้แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งแล้ว

ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 2,598 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาทรงตัว ส่วนบริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ได้รับน้ำเพิ่มเข้าไปในระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในเกณฑ์สูงสุดตามศักยภาพที่รับได้ ก่อนจะส่งน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง รวมปริมาณน้ำที่นำเข้าทุ่งไปแล้วกว่า 1,290 ล้านลบ.ม. ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลหลากลง สู่พื้นที่ตอนล่าง ส่วนเขื่อนภูมิพลและเขื่อน สิริกิติ์จนถึงขณะนี้ยังปิดการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน และเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด สำหรับสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึง

ส่วนของสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 58,327 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 82 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด เป็นน้ำใช้การได้ 34,801 ล้านลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีก 13,031 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 19,918 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 13,222 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 73 สามารถรองรับปริมาณน้ำได้รวมกันอีกกว่า 4,979 ล้าน ลบ.ม.

อนึ่งกรมชลประทานได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกโครงการในพื้นที่ที่ได้รับผล กระทบจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ นำถุงยังชีพและน้ำดื่มเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยอย่าง ต่อเนื่องแล้ว

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ทั่วประเทศ นายอภิชาติ เหมือนมนัส นายอำเภอพบพระ จ.ตาก รับแจ้งจากนายชาตรี วิรุฬพุทธิกุล ผู้ใหญ่บ้านรวมไทยพัฒนา 1 ม.10 ต.รวมไทยพัฒนา ว่ามีบ้านเรือนราษฎรหลายหลังถูกน้ำป่าพัดพังเสียหาย หลังเกิดฝนตกหนักติดต่อกันปลัดอำเภอฝ่ายป้องกันและ อส.พร้อมด้วยผู้นำหมู่บ้าน เตือนภัยเฝ้าระวังให้พี่น้องประชาชน รวมทั้งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นในส่วนของบ้านเรือนของชาวบ้าน ถนน พื้นที่เกษตรและพืชผลทางการเกษตร

นายพ่า แซ่ซง อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1/172 บ้านรวมไทยพัฒนา 1 หนึ่งในชาวบ้านที่ประสบเหตุเผยว่า ช่วงเวลา 19.30 น. วันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนัก ต่อมาเวลา 20.30 น. มีน้ำไหลหลากเข้ามาในบริเวณตัวบ้านอย่างรุนแรงจึงรีบพาลูกเมียหนีขึ้นที่สูง เมื่อเหตุการณ์สงบกลับมาดูพบว่ากำแพงบ้านเสียหาย รวมถึงเพื่อนบ้านอีกหลายหลังคาเรือนก็ประสบเหตุแบบเดียวกัน

ที่ จ.พิจิตร นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.พิจิตร พร้อมนางชุติพร วิจิตร์แสงศรี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพิจิตร นายโชคชัย รักเกื้อ นายอำเภอบางมูลนาก ผู้แทน ปภ.จว.พร้อมนายวีระศักดิ์ ปานอุดมรักษ์ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองบางมูลนาก ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและเยี่ยมเยียนนำถุงยังชีพมอบให้แก่พี่น้องราษฎรซึ่งมีบ้านเรือนติดริมตลิ่งแม่น้ำน่าน ชุมชนประเวศน์เหนือ เขตเทศบาลเมืองบางมูลนาก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น

นายเทิดศักดิ์ พงลิตา อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 217 ม.7 ต.หนองปลาไหล อ.วังทรายพูน เผยว่า ต.หนองปลาไหล โดยเฉพาะหมู่ที่ 7, 10, 13 และ 15 เดือดร้อนหนักจากถูกน้ำป่าเทือกเขาเพชรบูรณ์หลากท่วมบ้านเรือนกว่า 100 หลังคาเรือน สูงกว่า 2 เมตร ถนนสายบ้านบุ่ง-ท่ากระดาน ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 50 ซ.ม. แม้ว่าทางภาครัฐจะนำถุงยังชีพมาช่วยเหลือ แต่เป็นเพียงปลายเหตุอยากช่วยปรับปรุงถนนที่ถูกน้ำท่วมทุกปี ที่ผ่านมาทางหลวงมาวัดแล้วก็เงียบหายไป

นายทรงวุฒิ กิจวรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น มีมติการประชุมให้เขื่อนอุบลรัตน์ หรือเขื่อนน้ำพอง เพิ่มปริมาณการระบายน้ำขึ้นไปอีก จากเดิมระบายวันละ 50 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เป็น 54 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เนื่องจากพบว่ามีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์อย่างต่อเนื่องวันละกว่า 70 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ไม่สามารถรองรับน้ำได้อีกต่อไป หากยังระบายเท่าเดิม เจ้าหน้าที่เร่งประสานขอความร่วมมือไปยังกรรมการหมู่บ้านทุกหมู่บ้านให้แจ้งเตือนประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับริมฝั่งแม่น้ำพองทุกพื้นที่ ให้เคลื่อนย้ายสิ่งของออกนอกพื้นที่ไปไว้บนที่สูงตั้งแต่เวลานี้ เพราะเขื่อนได้เริ่มระบายน้ำจำนวน 54 ล้านลบ.ม.แล้ว ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ที่ผ่านมา

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ขอนแก่น บริเวณท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ล่าสุดมีพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมบ้านเรือนของประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตรแล้ว ประกอบด้วย ต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง, ต.ศิลา ต.บึงเนียม ต.พระลับ ต.หนองตูม อ.เมืองขอนแก่น โดยทุกพื้นที่ยังอยู่ในขั้นวิกฤตเนื่องจากเขื่อนอุบลรัตน์ยังไม่สามารถหยุดการระบายน้ำได้ เพื่อความปลอดภัยของเขื่อนและรับมวลน้ำหนุนที่ยังคงไหลลงในความจุอ่างอยู่ตลอดเวลา

มวลน้ำพองทะลักแนวกระสอบทราย เข้าท่วมถนนระหว่างหมู่บ้านทั้งหมดแล้ว รถยนต์ขนาดเล็กไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกหมู่บ้านได้ ทำให้ชาวบ้านต้องอ้อมไปใช้ในเส้นทางอื่นแทน ท่วมนาข้าวของชาวบ้านที่มีอยู่ประมาณ 20,000 ไร่ทั้งหมด ส่วนบ้านเรือนถูกน้ำท่วมแทบทุกหลังคา รวมทั้งวัด และโรงเรียน ชาวบ้านคาดว่าปริมาณน้ำจากแม่น้ำพองยังจะคงเพิ่มระดับความสูงอย่างต่อเนื่อง ตามอัตราการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ที่ยังคงระดับการระบายน้ำที่วันละ 50 ล้าน ลบ.ม.

นายจันทบุรี ไร่บุญ อายุ 32 ปี บ้านห้วยซัน ม.4 ต.ศิลา อ.เมืองขอนแก่น เผยว่า แม่น้ำพองได้เอ่อล้นเข้าท่วมหมู่บ้านสูงประมาณ 80-130 ซ.ม. การเดินทางสัญจรต้องใช้เรือเท่านั้น หลายครอบครัวต้องต่อขาเตียงนอนให้สูงขึ้นพ้นน้ำ เพื่อจะได้ใช้เป็นที่หลับนอน บางครอบครัวต้องทิ้งบ้านชั่วคราว อพยพไปนอนในบ้านญาติรวมทั้งริมถนนที่เทศบาลเมืองศิลาได้นำเต็นท์มาตั้งไว้สำหรับการเป็นจุดอพยพประชาชนชั่วคราว สร้างความลำบากให้กับชาวบ้านมาก

ด้านแม่น้ำชี ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งใน อ.กมลาไสย และ อ.ฆ้องชัย หลายจุดระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนชิดสันขอบพนังกั้นและใกล้ล้นตลิ่ง นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับผู้นำชุมชนและประชาชนนำกระสอบทรายที่ได้รับการสนับสนุนจาก อบจ.กาฬสินธุ์ 50,000 ใบ บรรจุทรายนำเข้าไปเสริมคันพนังกั้นตลอดระยะทางให้สูงขึ้นอีก 50 ซ.ม. เตรียมความพร้อมรับมือมวลน้ำใหญ่จากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่คาดว่าจะเดินทางมาถึงพื้นที่ในช่วงวันที่ 24-25 ต.ค.

พ.อ.มานพ ไขขุนทด รอง ผอ.กอ.รมน. จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับนายสัมฤทธิ์ กิตติโชติ สุขสงค์ นายอำเภอกมลาไสย พร้อมด้วยผู้นำ ท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ ปภ.กาฬสินธุ์ นำสารจุลินทรีย์ชีวภาพ (อีเอ็ม) หรือน้ำหมักชีวภาพ ใส่รถดับเพลิงผสมน้ำออกฉีดพ่นตามจุดที่มีน้ำท่วมขังภายในโรงเรียนท่ากลางแจ้งจมวิทยา และในหมู่บ้านท่ากลาง ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน เนื่องจากเศษวัชพืชที่ถูกน้ำท่วมจนเน่าตายและสิ่งปฏิกูลต่างๆ ส่งกลิ่นเหม็นและเน่าเสียให้กลับคืนสู่สภาพเดิม

ส่วนสถานการณ์เขื่อนลำปาวล่าสุดมีน้ำไหลเข้าอ่าง 11 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,846 ล้าน ลบ.ม. จากความจุกักเก็บ 1,980 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 93 ปัจจุบันทางเขื่อนยังคงปิดการระบายน้ำ เพื่อจัดการจราจรน้ำไม่ให้ปริมาณน้ำไปสมทบกับน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ป้องกันน้ำล้นตลิ่งในช่วงนี้

วันเดียวกัน ชาวบ้าน ต.กุฎี อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบจากน้ำที่ผันเข้าพื้นที่แก้มลิงไหลข้ามถนนทางเข้าชุมชนเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนสูงกว่า 2 เมตร จนเต็มพื้นที่ไหลเออขึ้นท่วมบนถนนสายบางบาล-ผักไห่ ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 14 สูง 20-30 ซ.ม. ระยะทางยาวกว่า 200 เมตร เจ้าหน้าที่แขวงการทางต้องเร่งวางแนวกระสอบทรายเพื่อกันน้ำ นางจินดา บัวอ่อน อายุ 61 ปี ภายในบ้านถูกน้ำท่วมสูงกว่า 50 ซ.ม. ต้องยกพื้นเพื่อเก็บของมีค่าและใช้เป็นที่นอนชั่วคราว ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก มีหลานๆ อยู่ถึง 3 คนเป็นเด็กเล็ก ต้องย้ายเด็กวัย 6 เดือนไปอาศัยอยู่กับญาติเพื่อความปลอดภัย ขณะที่นางสุมนรัตน์ ฝากพร อายุ 57 ปี เจ้าของร้านขายของชำภายในหมู่บ้านน้ำเข้าท่วมบ้านและร้านค้า ต้องนั่งขายของแช่น้ำ ขณะนี้ชาวบ้านเดือดร้อนในเรื่องการขับถ่ายเนื่องจากห้องน้ำถูกน้ำท่วมไม่สามารถใช้ได้

เช่นเดียวกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี โดยเฉพาะบริเวณนอกเขตคันกั้นน้ำ ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งรวม 18 ตำบล 50 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 3,837 ครัวเรือน นางรุ่งทิวา สุดแดน พม.ปทุมธานี พร้อมนายวิชาญ ม่วงใหม่ แรงงานจังหวัด เจ้าหน้าที่ ปภ. เหล่ากาชาดจังหวัดปทุมธานี ทหาร และอาสาสมัครจิตอาสา ร่วมลงเรือมอบถุงยังชีพบรรเทาความเดือดร้อนให้ ชาวบ้านรวม 4 จุด ประกอบด้วย วัด สุราษฎร์รังสรรค์ วัดโบสถ์ วัดกร่าง และวัดท้ายเกาะ มีชาวบ้านผู้สูงอายุพายเรือมาขอรับสิ่งของบริจาคจำนวนมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน