อุตุฯ ยังเตือนมีฝนหนักทั่วปท. เจ้าพระยาเอ่อท่วมสิงห์บุรี 3 อำเภอ นครสวรรค์ก็หนัก ระดับแม่น้ำปิงหนุนสูงอีก ขอนแก่นวุ่นชาวนาหวั่นนาข้าวล่มลอบรื้อคันกั้นน้ำพอง พิษเขื่อนอุบลรัตน์ระบายน้ำเพิ่ม กรมชลฯ ต้องเร่งห้ามหวั่นน้ำทะลักท่วมเขตเศรษฐกิจตัวเมือง แม่น้ำชีก็ทะลักท่วมจุดก่อสร้างรถไฟทางคู่จนต้องหอบเครื่องจักรหนีวุ่น ส่วนชาวอุบลฯ หลังจมน้ำนาน 3 เดือน ต้องระทมซ้ำเพราะลมหนาวมาถึงแล้ว

“บิ๊กตู่”สั่งเร่งช่วยภัยท่วม

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยที่ทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. สั่งการไปยังหัวหน้าส่วนราชการในทุกพื้นที่ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะจังหวัดที่ประสบอุทกภัยอยู่ขณะนี้ ให้ แบ่งมอบภารกิจในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจน ระหว่างการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อน และการเตรียมการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพื่อให้ทั้ง 2 ภารกิจสำเร็จลุล่วงได้อย่างสมบูรณ์

“ท่านนายกฯ กำชับกระทรวงมหาดไทยให้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เป็น ผู้ควบคุมดูแลและประสานการปฏิบัติกับทุกหน่วยงาน ไม่ให้บกพร่อง รวมทั้งทหารให้กระทรวงกลาโหมมอบหมายแม่ทัพภาคดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ต้องบริหารจัดการบุคลากรหรือกำลังพลให้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มขีดความสามารถ ไม่ว่าจะปฏิบัติภารกิจเดียวหรือทั้ง 2 ภารกิจก็ตาม” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า นายกฯ เน้น ย้ำว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่สนองพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ในฐานะข้าของแผ่นดิน และดูแลทุกข์สุขของประชาชนต่างพระเนตรพระกรรณ จึงขอให้ทุกคนปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งของบ้านเมือง

ฝนยังหนักทั่วปท.

นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุฯ เรื่องสภาพอากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 21-26 ต.ค. 2560) ฉบับที่ 10 ความว่า บริเวณความ กดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศจีนตอนใต้แล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน และประเทศลาวในคืนนี้ (21 ต.ค.) และมีแนวโน้มจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในวันที่ 22 ต.ค.

ขณะที่ประเทศไทยยังคงมีอากาศร้อนชื้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีสภาพอากาศแปรปรวน มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-5 องศาเซลเซียส พื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบตามภาคต่างๆ มีดังนี้

ช่วงวันที่ 22-23 ต.ค. ภาคเหนือ บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย และกำแพงเพชร ภาคกลาง บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท อุทัยธานี สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และชลบุรี

ส่วนในช่วงวันที่ 24-26 ต.ค. ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง สำหรับภาคใต้จะมี ฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง จึงขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากสภาพอากาศแปรปรวน และติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดในระยะนี้

“น้ำยม-น่าน”ถล่มพิจิตร

วันเดียวกัน ประชาสัมพันธ์จังหวัดตาก รายงานการติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำวัง บริเวณสะพานยางโองน้ำ ประตูระบายน้ำคลองตาไหล บ้านเรือนราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ต.แม่สลิด อ.บ้านตาก สรุปสถานการณ์ล่าสุดดังนี้ 1.ระดับน้ำบริเวณสะพานยางโองน้ำ ลดลงประมาณ 15-20 ซ.ม. 2.ระดับน้ำที่หน้าประตูระบายน้ำคลองตาไหลลดลงจากเมื่อวาน 10 ซ.ม.

3.ระดับน้ำภายในหมู่บ้านบริเวณที่ถูกน้ำท่วม ขณะนี้ระดับน้ำทรงตัว ท่วมเฉพาะบ้านในที่ลุ่มต่ำ ทั้งนี้ นายอำเภอบ้านตากประสานสำนักงานชลประทานตาก ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ทุกระยะ หากระดับน้ำในแม่น้ำวังลดลงเรื่อยๆ สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้และได้สั่งการให้ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ร่วมกันจัดเวรยามดูแลติดตามสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ช.ม.

นายทินกร รัตน์พัวพันธ์ ชลประทานจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านและลุ่มแม่น้ำยม ในพื้นที่ จ.พิจิตร ยังต้องเฝ้าระวังต่อไปอีกโดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำยมยังมีระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมวลน้ำยมตอนบนยังไหลบ่าลงมาค่อนข้างมาก ประกอบกับน้ำป่าสะสมจากด้าน จ.กำแพงเพชร และมวลน้ำทุ่งตามลำคลองสาขาต่างๆ ยังไหลมาสมทบกันอย่างต่อเนื่อง

ทำให้แม่น้ำยมช่วงที่ไหลผ่าน อ.สามง่าม อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.บึงนาราง และอ.โพทะเล มีอัตราการไหลผ่าน 404 ลบ.ม. ต่อวินาที ทำให้พื้นที่ถูกน้ำท่วมขังมายาวนานและจะเพิ่มระดับขึ้นอีกเล็กน้อยในห้วงสัปดาห์นี้ จากนั้นแม่น้ำยมจะค่อยๆ ทรงตัวและลดลงตามลำดับ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือนจึงจะเข้าสู่ภาวะ ปกติได้

ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำน่าน ที่ไหล ผ่านอำเภอเมือง อ.ตะพานหิน และอ.บางมูลนาก เริ่มทรงตัว โดยที่อ.บางมูลนาก ยังมีระดับสูงกว่าจุดวิกฤต 13 ซ.ม. สำหรับ จ.พิจิตร ปัจจุบันมีพื้นที่ถูกน้ำท่วม 10 อำเภอ 43 ตำบล 254 หมู่บ้าน และอีก 3 ชุมชน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 11,357 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายสิ้นเชิง 54,120 ไร่

ชาวปากน้ำโพหนีน้ำ

ด้านสถานการณ์ที่ จ.นครสวรรค์ มวลน้ำเหนือจำนวนมากจาก จ.กำแพงเพชร ไหลบ่าตามลำน้ำปิงมายังหลายพื้นที่ ส่งผลทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงและแม่น้ำเจ้าพระยาปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว น้ำได้เอ่อล้นตลิ่งไหลบ่าข้ามคันดินเข้าท่วมชุมชนเกาะยมในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์อย่างรวดเร็วและรุนแรง ล่าสุดน้ำบ่าข้ามถนนเข้าท่วมสวนผักและสวนฝรั่งพันธุ์กิมจู ต.บึงเสนาท ม.3 เสียหายนับพันไร่ ชาวบ้านหลายร้อยหลังคาเรือนต้องอพยพขึ้นมาอาศัยบนถนน บางส่วนต้องไปเช่าบ้านอาศัยในตัวเมืองปากน้ำโพแทน เพราะมีแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมที่สร้างเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว

บริเวณวัดคลองคาง ระดับน้ำท่วมสูง ประมาน 50 ซ.ม. และไหลแรงมาก ส่วนที่ใต้สะพานถนนสายเลี่ยงเมือง ต.ตะเคียนเลื่อน น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาล้นท่วมทาง ยูเทิร์นใต้สะพานระดับสูงประมาณ 30 ซ.ม. นายเชวงศักดิ์ พลเยี่ยม นายอำเภอเมืองนครสวรรค์ ไปดูแลประชาชนที่ถูกน้ำท่วมพร้อมทั้งนำถุงยังชีพไปแจกจ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ หมู่ 2 ต.นครสวรรค์ตก

ส่วนที่ ต.แควใหญ่ อ.เมืองนครสวรรค์ น้ำจากแม่น้ำน่านเพิ่มปริมาณสูงขึ้นมาก และไหลตัดผ่านถนนทางเข้ามา ม.2 ม.4 คาดว่า ในวันที่ 22 ต.ค.รถเล็กคงจะไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ชาวบ้านได้นำรถขึ้นมาจอดไว้บนสะพานข้ามดุสิตาภูมิ รวมถึงทางเข้าหมู่ 8 ต.เกรียงไกร น้ำกำลังไหลข้ามถนนและเพิ่มระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านบางส่วนได้ย้ายออกมาอยู่ตลาดกันหลายครัวเรือนเพื่อความปลอดภัย

นายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ แจ้งว่า น้ำขึ้นเร็วมาก เนื่องจากเมื่อวันก่อนมีฝนตกที่ จ.ตากและ จ.กำแพงเพชร เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้วันที่ 19-20 ต.ค.ที่ผ่านมา มีน้ำขึ้นที่นครสวรรค์ถึง 33 ซ.ม. ฝากแจ้งประชาชนว่า ขอให้อดทนอีกสักสองสามวันน้ำน่าจะทรงตัวและคงที่ ส่วนการปรับลดลงคาดว่าน่าจะในช่วงปลายเดือนนี้

ส่วนที่ อ.ลาดยาว มีรายงานแจ้งว่าน้ำป่าไหลเข้าท่วมหน้าเทศบาลลาดยาว และบริเวณหน้าการไฟฟ้า มีน้ำท่วมขังไม่สูงรถทุกชนิดผ่านได้ ถนนสายลาดยาว-เขาชนกันมีน้ำท่วมมาก

ด้านนายวีระ ด่านสกุลเจริญ เจ้าหน้าที่โครงการชลประทานนครสวรรค์ เปิดเผยว่า ที่สถานีวัดน้ำ อ.บรรพตพิสัย แม่น้ำปิง มีอัตราน้ำไหลผ่าน 1,304 ลบ.มต่อวินาที คิดเป็นร้อยละ 71.84 ของความจุลำน้ำ เพิ่มจากเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา 159.00 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 33.00 ซ.ม. ที่สถานีวัดน้ำ อ.ชุมแสง แม่น้ำน่าน มีอัตราน้ำไหลผ่าน 1,522 ลบ.มต่อวินาที หรือ ร้อยละ 96.39 ของความจุลำน้ำ มากกว่า เมื่อวานนี้ 4.00 ลบ.มต่อวินาที ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 2.00 ซ.ม. ที่สถานีวัดน้ำ อ.เมืองนครสวรรค์ แม่น้ำเจ้าพระยา มีอัตราน้ำไหลผ่าน 3,044 ลบ.มต่อวินาที คิดเป็นร้อยละ 84.79 ของความจุลำน้ำ มากกว่าเมื่อวาน 125.00 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 25.00 ซ.ม.

ขอนแก่นอ่วมน้ำเขื่อน

วันเดียวกันผลกระทบการระบายน้ำ ของเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มขึ้นจาก 50 ล้าน ลบ.ม. เป็น 54 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำพองสูงขึ้นจากเดิมอีก 30 ซ.ม. ไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่หมู่บ้านที่ตั้งติดกับแม่น้ำพองในพื้นที่ อ.น้ำพอง และ อ.เมืองขอนแก่น อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่บ้านบึงเนียมช่วงสะพานข้ามแม่น้ำพอง ที่พบว่าระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเริ่มไหลเข้าท่วมชุมชน ชาวบ้านต้องนำกระสอบทรายมาวางกั้นทางน้ำไหลเพื่อให้ลงสู่แม่น้ำพองและไม่ให้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน

ขณะที่หมู่บ้านนาเพียง ต.สำราญ อ.เมืองขอนแก่น ล่าสุดวันนี้น้ำได้ไหลเข้าท่วมเป็นบางจุด ชาวบ้านในหมู่บ้านต้องช่วยกันนำกระสอบทรายไปวางเรียงตามแนวตลิ่งของแม่น้ำพองเนื่องจากระดับน้ำสูงขึ้นกว่า 30 ซ.ม.เช่นกัน ส่วนพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังต่อเนื่อง ที่บ้านบึงอีเฒ่า, บ้านหนองแก และบ้านห้วยซัน ต.ศิลา อ.เมือง ระดับน้ำยิ่งเพิ่มความสูงขึ้น เหลือเพียง 15 ซ.ม. จะสูงเท่ากับน้ำท่วมปี 2554 ขณะที่นาข้าวของชาวบ้านที่อยู่บริเวณโดยรอบถูกน้ำท่วมแล้วโดยทั้งหมด

ชาวนาแอบรื้อคันกั้น

นายทรงวุฒิ กิจวรวุฒิ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย เผยว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สำรวจแนวคันกั้นน้ำตลอดแนวแม่น้ำพอง พบว่าชาวบ้านในเขต ต.บึงเนียม ลักลอบดึงกระสอบทรายที่กั้นประตูระบายน้ำออก เนื่องจากเกรงว่าน้ำจะท่วม ต้นข้าวได้รับความเสียหาย ทำให้น้ำจากแม่น้ำพองไหลเข้ามาที่ลำห้วยกุดกว้าง และไหลเข้าห้วยพระคือ ซึ่งจะทำให้น้ำไหล เข้าท่วมเขตพื้นที่เศรษฐกิจชั้นในของเมืองขอนแก่น เจ้าหน้าที่ต้องลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกับการเยียวยาและการชดเชยของ ทางราชการที่ได้กำหนดไว้ในระเบียบและขั้นตอนของการดำเนินงานทั้งหมด

ขณะเดียวกันระดับน้ำในแม่น้ำชีเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจากการวัดระดับน้ำ ที่จุดวัดระดับน้ำแม่น้ำชี ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น พบว่ามีระดับน้ำสูง 9.15 เมตร กระแสน้ำไหลเชี่ยวกราด จากภาวะพายุฝนที่ตกลงมาอย่างหนักอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมวลน้ำหนุนจาก จ.ชัยภูมิ พาดผ่านเข้ามาในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ส่งผลให้พื้นที่อำเภอทางตอนล่างของจังหวัดหลายหมู่บ้านเริ่มที่จะประสบปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะบ้านหนองปลาเข็ง ต.ท่าพระ อ.เมือง น้ำเอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชนแล้ว 25 หลังคาเรือน เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลท่าพระต้องตั้งจุดพักพิงชั่วคราวบริเวณที่ทำการตลาดนัดชุมชน บ.หนองปลาเข็ง เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมได้มาพักอาศัย

ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีช่วงรอยต่อระหว่าง ต.ท่าพระ ต.เมืองเก่า และเขตเทศบาลนครขอนแก่น พบว่าระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นในทุกชั่วโมง กระแสน้ำได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรและบ้านเรือนของประชาชนบางส่วนแล้ว นอกจากนี้ยังท่วมจุดที่ทำการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำชี เจ้าหน้าที่ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่และเตรียมเคลื่อนย้ายอุปกรณ์หนีกระแสน้ำที่ ไหลเชี่ยว

ลมหนาวซ้ำเติมชาวอุบลฯ

ส่วนชาว อ.เมืองอุบลราชธานี และอ.วารินชำราบ ที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมขังมานานกว่า 3 เดือน จากแม่น้ำมูนยังล้นตลิ่งไหลท่วมชุมชนสองฝั่งแม่น้ำกว่า 20 ชุมชน ล่าสุดระดับแม่น้ำมูนวันนี้ มีน้ำสูง 7.59 เมตร ทำให้มีน้ำล้นตลิ่งสูง 59 ซ.ม. แต่ชาวบ้านต้องผจญกรรมกับสภาพอากาศหนาวเพิ่ม ขึ้นอีก หลังศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.เป็นต้นไป อุณหภูมิลดลงรวดเร็ว 2-5 องศาเซลเซียส

ที่วัดวังยาววารี บ้านวังยาว ม.4 ต.เกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม ชาวบ้านเร่งกรอกกระสอบทรายมากั้นริมแม่น้ำชี หลังเขื่อนอุบลรัตน์ระบายน้ำเพิ่ม จนเอ่อเข้าท่วมไหลเอ่อล้นเข้ามาในวัดใกล้จะถึงศาลาการเปรียญวัดแล้ว ขณะที่นายเสน่ห์ นนทะโชติ ผวจ.มหาสารคาม สั่งให้ประชาสัมพันธ์แจ้งประชาชนให้ขนสิ่งของมีค่าขึ้นที่สูง และติดตามสถานการณ์ทุกระยะอย่างใกล้ชิด พร้อมอพยพผู้ประสบภัยมาศูนย์พักพิงตามที่อำเภอ หรือจังหวัด จัดไว้ให้

ด้านสถานการณ์ฝนตกหนักสะสม น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมหลายพื้นที่ใน อ.หล่มเก่า อ.หล่มสัก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ประกอบ กับมวลน้ำเดิมในแม่น้ำป่าสัก ยังหนุนสูงอย่างต่อเนื่อง และเริ่มส่งผลกระทบสู่พื้นที่ตอนล่าง ล่าสุดแม่น้ำป่าสักเอ่อล้นตลิ่ง เข้าท่วมถนนสายหลักภายในหมู่บ้านวังสะตือ ม.1 ต.วังโบสถ์ อ.หนองไผ่ สูงเฉลี่ย 60-70 ซ.ม. กัดเซาะถนนพังหลายจุด อีกทั้งถนนสายรองที่ชาวบ้านมักสัญจรอีกเส้นทางหนึ่ง ก็ถูกน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 30-40 ซ.ม. ระยะทางยาวกว่า 500 เมตร ชาวบ้าน จำนวน 83 หลังคาเรือน ประชากรราว 200 คน ไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้

สิงห์บุรีจม 3 อำเภอ

วันเดียวกันพื้นที่ลุ่มต่ำใน จ.สิงห์บุรี ยังคงมีปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นชาวบ้านในอำเภอยังคงมีความเดือดร้อนอยู่ไม่ต่ำกว่า 8,063 หลังคาเรือน โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เมือง อ.อินทร์บุรี และอ.พรหมบุรี ที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบ ล่าสุดที่ จุดวัดระดับน้ำ ต.บางพุทรา อ.เมืองสิงห์บุรี ปริมาณน้ำไหลผ่าน วัดได้ 2,552 ลบ.ม. ต่อวินาที ระดับน้ำยังคงทรงแล้วเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเป็นบางครั้ง

คาดว่าประมาณไม่เกินอีก 2 สัปดาห์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นอีกทำให้ประชาชนที่อยู่ติดริมแม่น้ำน้อยและแม่น้ำเจ้าพระยาต้อง เก็บของขึ้นที่สูง โดยเฉพาะคนป่วยที่ติดเตียงถูกน้ำท่วมนั้นในพื้นที่ของหน่วยข้าราชการคอยเฝ้าระวังดูแลคอยช่วยเหลืออย่างเต็มที่เนื่องจากมีคำสั่งของจากผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ให้เฝ้าดูอย่างเต็มที่หากมีความเดือดร้อนของชาวบ้าน

 

 

 

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน