เร่งระบาย-น้ำท่วมใหญ่แน่

บิ๊กตู่ขอบคุณ 12 แก้มลิง

เขื่อนเจ้าพระยาอั้นไม่อยู่ ต้องเพิ่มการระบายน้ำทิ้ง ปภ.เตือน 6 จว.ลุ่มเจ้าพระยา ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี รับมือน้ำล้นตลิ่งเพราะมีน้ำทะเลหนุนด้วย ชาวสิงห์บุรี 8 พันครัวเรือนโดนน้ำท่วมหนัก ส่วนกรุงเก่าผู้สูงอายุเริ่มเครียดเพราะโดนน้ำล้อมกรอบ ชาวสามโคกวอนเรือขนส่งแล่นเบาๆ เพราะคลื่นจากเรือกระแทกพื้นเรือนจนพังเสียหาย นครปฐมก็สั่งรับมือแม่น้ำท่าจีนล้นทะลัก

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่องการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ.2560 ความว่า ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว เมื่อวันที่ 23 ต.ค. โดยอุณหภูมิต่ำสุดบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบนของทั้งภาคกลาง และภาคตะวันออกลดลง อยู่ในเกณฑ์อากาศหนาวเย็นเกือบทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับลมชั้นบนระดับล่างเปลี่ยนเป็นลมตะวันออก หรือตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนลมชั้นบนระดับบนเปลี่ยนเป็นลมตะวันตก รวมทั้งปริมาณและการกระจายของฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนลดลงต่อเนื่อง ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป

นายวันชัยกล่าวต่อว่า ในส่วนภาคเหนือคาดว่าอุณหภูมิจะลดลงอยู่ในเกณฑ์หนาวถึงหนาวจัดในช่วงตั้งแต่กลางเดือนธ.ค.เป็นต้นไป อุณหภูมิบนพื้นราบจะลดลงเหลือเพียงเลขตัวเดียว เช่นเดียวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนบนยอดดอยจะลดลงเหลือเลขตัวเดียวประมาณกลางเดือนพ.ย.เป็นต้นไป สำหรับกรุงเทพฯ อุณหภูมิโดยเฉลี่ยจะหนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมา คาดว่าอุณหภูมิในบางช่วงอาจลงถึง 20 องศาเซลเซียส แต่จะได้รับผล กระทบหลังพื้นที่อื่น ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออกยังมีฝนอย่างต่อเนื่องไปจนถึงต้นเดือนม.ค.

“ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย.สภาพอากาศความหนาวเย็นในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะสามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจน ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกจะสัมผัสได้ชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของเดือนพ.ย.ไปแล้ว ส่วนภาคใต้นั้นฝนจะเพิ่มขึ้นทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก” อธิบดีกรมอุตุฯ กล่าว

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า รัฐบาลเตรียมแผนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา นำข้อมูลเปรียบเทียบหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2554 มาสู่การแก้ปัญหาบริหารจัดการน้ำปี 2557-2559 จะเห็นว่าการกักเก็บน้ำเกือบเต็มไปทั้งหมด ข้อดีคือหน้าแล้งจะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำในระบบชลประทาน อย่างไรก็ตาม พื้นที่นอกคันกั้นน้ำได้รับผลกระทบ หรือบางพื้นที่ท่วมคันกั้นน้ำ รัฐบาลมีมาตรการดูแลเยียวยา

“แต่เรื่องสำคัญคือการแก้ปัญหาภาพรวมทั้งระบบ การบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องของการเก็บกักน้ำ ทำแก้มลิง ที่เกี่ยวพันกับการเพาะปลูกที่เหมาะสม เก็บเกี่ยวกันฤดูน้ำหลาก ขอบคุณเกษตรกรทำให้ 12 ทุ่งภาคกลาง รองรับได้เป็นแก้มลิงได้ ก็อาจจะมีท่วมบ้างในบางพื้นที่ที่มันเอ่อล้น ก็เป็นน้ำสะสมตั้งแต่กลาง ใต้ ในหลายระดับ พยายามทำให้เดือดร้อนน้อยที่สุด เมื่อเก็บกักไม่ไหว เดี๋ยวมีน้ำมาอีก ก็ต้องมีการปล่อยบ้าง อย่างไรก็ตามพื้นที่นอกคันกั้นน้ำได้รับผลกระทบ หรือบางพื้นที่ท่วมคันกั้นน้ำ รัฐบาลก็มีมาตรการดูแลเยียวยา” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อยากให้ทุกคนติดตามการประชาสัมพันธ์ทั้งตัววิ่งโทรทัศน์และเฟซบุ๊ก อาจจะมีคนไม่พอใจบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ขอให้สื่อช่วยกันด้วย ถ้าฝนตกต้องระวังตรงไหนอย่างไร ต้องระมัดระวังประมาทไม่ได้ น้ำมันแรง ต้องไม่ประมาทในเรื่องนี้ น้ำที่ระบายไปทำให้ปริมาณสะสมต่ำกว่าปี 2554 พอสมควร

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดี ปภ. เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาวะอากาศและปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร พบว่าปริมาณฝนกระจายตัวในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ทำให้ระดับน้ำในลุ่มน้ำปิงและลุ่มน้ำน่าน มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมีฝนตกกระจายอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคกลาง ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา

ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.เป็นต้นไป ในปริมาณไม่เกิน 2,700 ลบ.ม.ต่อวินาที และจะยังคงการระบายน้ำในอัตราดังกล่าวต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 ต.ค. ประกอบกับอิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูงระหว่างวันที่ 23-27 ต.ค. จะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี สูงขึ้น 20-25 ซ.ม. อาจทำให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จึงประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 6 จังหวัด เตรียมพร้อมรับมือ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำภาคกลางเริ่มชะลอตัว จะมีระดับน้ำขึ้นสูงสุดประมาณ 10 ซ.ม. หรือหากมีฝนมาสมทบก็สูงขึ้นตามปริมาณฝนที่ตก ซึ่งประชาชนกังวลว่าน้ำเหนือจะไหลลงมาสมทบกับน้ำฝนตอนกลางของประเทศ คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี ขอให้วางใจได้เพราะปัจจุบันมีน้ำท่วมเป็นจุดๆ ในแถบ จ.นนทบุรี และจ.ปทุมธานี ส่วนหนึ่งเกิดจากน้ำขึ้นน้ำลง สถานการณ์จะดีขึ้นประมาณอีก 1 สัปดาห์ หรือปลายเดือนต.ค. สถานการณ์น้ำในภาคกลางจะดีขึ้น

ด้านสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.สิงห์บุรี หลังเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำเป็น 2,700 ลบ.ม.ต่อวินาที ในพื้นที่ลุ่มต่ำยังคงมีปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นชาวบ้านในหลายอำเภอเดือดร้อน 8,063 หลังคาเรือน โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เมือง อ.อินทร์บุรี และอ.พรหมบุรี ที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะที่ตลาดเทศบาลตำบลอินทร์บุรี น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงผุดซึมรั่วไหลผ่านตะเข็บถนนริมเขื่อนฝั่งตะวันออก ส่วนถนนสายสิงห์บุรี-อ่างทอง ต.บางพุทธา อ.เมือง ระดับน้ำในคลองชลประทานเอ่อล้นข้ามถนนช่วงหน้าร.พ. หมอประเจิด นายณรงค์ศักดิ์ วิงวอน นายกเทศบาลเมืองสิงห์บุรี เร่งใช้ดินลูกรังทำแนวเสริมป้องกันน้ำไหลข้ามท่วมชุมชน

วันเดียวกัน นายนรินทร์โชติศิริพันธ์ เตโช ผอ.รพ.สต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรี อยุธยา พร้อมเจ้าหน้าที่ออกตรวจเยี่ยมคนป่วยติดเตียงกว่า 10 ราย และผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำจากแม่น้ำน้อยล้นตลิ่งท่วมสูงกว่า 3-4 เมตร พบว่าหลายคนมีอาการเครียดความดันขึ้นสูง เพราะสภาพน้ำที่ท่วมสูงเป็นเวลานาน เจ้าหน้าที่ต้องพูดคุยให้กำลังใจเพื่อคลายเครียด

ด้านสถานการณ์น้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่ง ท่วมพื้นที่ อ.สามโคก และอ.เมือง จ.ปทุมธานี บ้านกว่า 4,000 หลังคาเรือน ถูกน้ำท่วม ยังได้รับผลกระทบจากคลื่นที่เกิดจากเรือขนส่งกระแทกเข้าใส่บ้านเรือนที่ส่วนใหญ่เป็นไม้ บางหลังถูกคลื่นกระแทกจนพื้นเรือนพังหลุดออกมาได้รับความเสียหาย จึงขอความร่วมมือกับผู้ขับเรือให้เห็นใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมบ้านช่วยลดความเร็วให้เบาลง โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นชุมชนบ้านอาศัย

วันเดียวกันในพื้นที่ลุ่ม และพื้นที่ติดแม่น้ำท่าจีน โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.บางไทรป่า อ.บางเลน และอ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง ถูกน้ำท่วมขังตามเกณฑ์ของกรมชลประทาน เริ่มได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว ประกอบกับโดยบางพื้นที่เกิดมีฝนตกหนัก และมีน้ำเหนือไหลผ่านจากจ.ชัยนาท ลงสู่แม่น้ำท่าจีน ผ่าน จ.สุพรรณบุรี นครปฐม ก่อนไหลลงสู่ทะเล กรมชลประทานนครปฐมจึงฝากเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ติดแม่น้ำและพื้นที่ลุ่ม ให้เฝ้าระวัง และติดตามพยากรณ์อากาศ รวมถึงประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำจากทางกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน