คสช.เผยปริมาณน้ำใกล้เคียงท่วมใหญ่ปี”54 แต่เตรียมพร้อมไว้ก่อนแล้ว อธิบดีกรมชลฯ เตรียมชงป้องกันพื้นที่นอกคันกั้น สุพรรณบุรีน้ำล้นทุ่ง ท่วมบางปลาม้า สสจ.สิงห์บุรีให้ระวังโรคที่มากับน้ำ ขณะที่ ผวจ.ขอนแก่นประชุมด่วน เร่งกู้พนังริมน้ำพองที่ถูกกัดเซาะขาดยาว 30 ม. แจ้งเขื่อนอุบลรัตน์ลดการระบายน้ำ เหลือ 38 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้สามารถซ่อมแซมได้ เผยไร่นาท่วมแล้ว 3,500 ไร่ ระดมเครื่องสูบน้ำป้องเขตเทศบาล เร่งสูบลงแม่น้ำชี ขณะที่น้ำก้อนใหญ่ถึงสารคาม ชาวนาบุรีรัมย์วอนรัฐช่วย ผวจ.พิจิตรเตือนห้ามเล่นน้ำ หลังยอดตายพุ่ง

เร่งกู้พนังกันน้ำพองขาด

เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 29 ต.ค. นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น เรียกประชุมด่วนคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น, หนองบัวลำภู, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม และร้อยเอ็ด เพื่อประเมินสถานการณ์ ภายหลังคันดินคลองส่งน้ำชลประทาน 3L-RMC บ.คุยโพธิ์ ต.บึงเนียม อ.เมือง จ.ขอนแก่น ถูกกระแสน้ำจากแม่น้ำพองกัดเซาะจนขาดเป็นระยะทางกว่า 30 เมตร มวลน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรเสียหายไปแล้วกว่า 3,500 ไร่ และยังมีพื้นที่นาข้าวที่กำลังรอเก็บเกี่ยวอีกประมาณ 18,000 ไร่ ที่อาจได้รับผลกระทบ ที่ประชุมมีมติให้เขื่อนอุบลรัตน์ลดการระบายน้ำลงเหลือ 38 ล้าน ลบ.เมตร ในเวลา 15.00 น. วันนี้ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำ และให้เจ้าหน้าที่สามารถซ่อมแซมคันจุดดังกล่าวได้ง่ายขึ้น

นายสมศักดิ์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ยังคงเร่งซ่อมพนังกั้นน้ำ ด้วยการเสริมไม้ยูคาลิปตัสพร้อมกับวางถุง บิ๊กแบ๊กขวางคันคลองที่ขาด เพื่อป้องกันน้ำเซาะและทรุดตัวเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ฝั่ง จากนั้นจะนำแผ่นเหล็กชีตไพล์ ขนาดกว้าง 40 ซ.ม. ยาว 5 ม. ประมาณ 200-500 แผ่น พร้อมด้วยกล่องกระชุหิน หรือกล่องเกเบี้ยน จำนวน 300 ชุด เพื่อปิดช่องที่ขาด ขณะนี้มวลน้ำที่ผ่านจุดพนังดินที่ขาดมีอยู่ประมาณ 8 ล้าน ลบ.ม. หากปล่อยไว้จะเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ตำบลบึงเนียม จากนั้นจะลงห้วยพระคือและลงบึงทุ่งสร้างก่อนเข้าสู่เขตเทศบาลนครขอนแก่น โดยยืนยันว่าน้ำยังไม่เข้าเขตเศรษฐกิจ ของเมืองขอนแก่น เบื้องต้นคาดว่าภายใน 3 วัน จะสามารถควบคุมได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจเพราะทุกหน่วยระดมกำลังเข้าช่วยเหลือเต็มที่ ได้แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่บ้านคุยโพธิ์ ต.บึงเนียม ต.เมืองเก่า ต.พระลับ อ.เมืองขอนแก่น รวมไปถึงพื้นที่ที่เคยถูกน้ำท่วมรอบนอกเขตเทศบาลนครขอนแก่น ให้ขนย้ายทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยงขึ้นสู่ที่สูง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจากทาง เจ้าหน้าที่เท่านั้น

ขอนแก่นระดมเครื่องสูบน้ำ

ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า สำหรับประตู ระบายน้ำ D 8 ห้วยพระคือ ต.พระลับ ซึ่งมีเครื่องสูบ 20 เครื่อง ได้สั่งการให้เร่งสูบน้ำที่ไหลเข้ามาในพื้นที่เขตเมืองให้ไหลออก ลงสู่แม่น้ำชี ทั้งนี้เครื่องสูบน้ำทั้ง 20 เครื่องนี้ถ้าสูบพร้อมกันก็จะสูบน้ำออกได้ถึง 5 ล้าน ลบ.เมตรต่อวัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือน้ำไหลเข้าบริเวณคันดินที่ขาดมีปริมาณประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ประกอบกับยังมีน้ำรั่วมาจากลำห้วยใหญ่อีกประมาณ 7 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ซึ่งรวมกันแล้วน้ำที่ไหลเข้าบริเวณประตูระบายน้ำ D 8 ห้วยพระคือ มีมากกว่าปริมาณน้ำที่จะสามารถสูบออกไปได้ ดังนั้นจึงได้ขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากจังหวัดลำปาง 7 เครื่อง และจังหวัดหนองคาย 12 เครื่อง มาเสริมอีกรวมจำนวน 19 เครื่อง ซึ่งคาดว่าจะสูบน้ำออก ในจำนวนปริมาณที่ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอีกด้วย

ระดมเครื่องจักรซ่อมพนัง

ขณะที่นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณด้านท้ายคันคลองชลประทานขาดดังกล่าว จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการซ่อมแซมปิดคันคลองที่ขาดให้แล้วเสร็จภายใน 2 วัน ซึ่งปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์ลดการระบายน้ำเหลือ 38 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่ลำน้ำพอง ทำให้การซ่อมแซมคันคลองที่ขาดและพนังกั้นน้ำบริเวณ ต.บึงเนียม เป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้น ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าไปดำเนินการปิดช่องคันคลองที่ขาดแล้วตั้งแต่ช่วงเช้าของวันนี้ เพื่อให้แล้วเสร็จทันภายใน 2 วัน

ชาวนาบุรีรัมย์วอนรัฐช่วย

เกษตรกรหลายหมู่บ้านใน อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมูนเอ่อท่วมนาข้าวที่กำลังออกรวงใกล้เก็บเกี่ยวจำนวนหลายพันไร่ เร่งนำเมล็ดข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวหนีน้ำ ไปตากตามริมถนนในหมู่บ้าน บริเวณลาน หรือที่โล่งต่างๆ เพื่อลดความชื้น ซึ่งช่วงต้นฤดูข้าวราคาดีได้ราคาสูงตันละ 10,000-13,000 บาท แต่หากนำข้าวสดที่ไม่ผ่านการตากไปขายก็จะได้ตันละไม่เกิน 8-9,000 บาท และบางโรงสีก็ไม่รับซื้อ อย่างไรก็ตามมีเกษตรกรหลายรายที่เก็บเกี่ยวข้าวหนีน้ำไม่ทัน ทำให้ต้นข้าวจมน้ำเสียหาย

น.ส.ทองสา ยอนรัมย์ อายุ 40 ปี เกษตรกรบ้านยางทะเล หมู่ 2 ต.แคนดง อ.แคนดง บอกว่า ปีนี้ทำนาทั้งหมด 22 ไร่ ขณะนี้จมน้ำเสียหายไปแล้ว 10 ไร่ ส่วนที่เก็บเกี่ยวหนีน้ำได้ทันก็รีบนำมาตากแดดไว้ตามลาน และถนนในหมู่บ้าน เพื่อลดความชื้นก่อนนำไปขาย เพราะเกรงหากนำข้าวสดไปขายจะถูกกดราคา แต่ก็ไม่รู้ว่าข้าวที่เหลือจะขายได้คุ้มทุนหรือไม่ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสำรวจช่วยเหลือเกษตรกรด้วย ทั้งเรื่องเงินชดเชยช่วยเหลือข้าวที่เสียหายจากน้ำท่วม และดูแลช่วยเหลือพยุงราคาข้าวในท้องตลาด ไม่ให้ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 14-15 บาท จึงจะคุ้มทุนและสามารถอยู่รอดได้

น้ำก้อนใหญ่ถึงสารคาม

ที่บ้านท่าค้อ ม.14 ต.ลาดพัฒนา อ.เมือง จ.มหาสารคาม มวลน้ำชีที่ไหลผ่านมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น จะลดการระบายน้ำ แต่มวลน้ำจำนวนมากเพิ่งมาถึง จ.มหาสารคาม ส่งผลให้กระสอบทรายที่ชาวบ้านกั้นไว้ ริมฝั่งแม่น้ำชี ต้านทานไม่ไหว ไหลเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ระดับน้ำสูงถึง 1-1.50 เมตร ข้าวของได้รับความเสียหาย รถไม่สามารถสัญจรผ่านได้

นางวิลัย บุญพิคำ อายุ 58 ปี เล่าว่า เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา น้ำจากแม่น้ำชีล้นกระสอบทรายที่ชาวบ้านได้กั้นไว้เข้าท่วมบ้านเรือนทั้งหมด ชาวบ้านเก็บข้าวของแทบไม่ทัน ส่วนบ้านของตนมี 2 ชั้น น้ำได้ท่วมชั้นล่างทั้งหมด น้ำลึกกว่า 1 เมตร โชคดีที่ตนและคุณแม่อายุ 80 ปี อยู่บนชั้น 2 จึงไม่มีใครเป็นอะไร ส่วนชั้นล่างน้ำได้ท่วมข้าวของเกือบทั้งหมด

ด้านนางวิลัยวรรณ ทศภานนท์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านท่าค้อ ม.14 ต.ลาดพัฒนา อ.เมือง จ.มหาสารคาม เปิดเผยว่า บ้านท่าค้อ มีทั้งหมด 16 หลังคาเรือน ประชากร 270 คน ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากแม่น้ำชีอยู่บ่อยครั้ง ขณะนี้ได้มี ปภ. และ อบต.ลาดพัฒนา ให้การช่วยเหลือเบื้องต้น โดยนำเรือท้องแบนมาให้ประชาชนสัญจรเข้าออกหมู่บ้าน และประสาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือต่อไป

ผวจ.พิจิตรเตือนห้ามเล่นน้ำ

สถานการณ์น้ำท่วมพิจิตรยังอยู่ในระดับที่สูง โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม ในเขต อ.โพทะเล เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลายแม่น้ำยมรับน้ำจาก อ.สามง่าม และอ.โพธิ์ประทับช้าง ก่อนประจบกับแม่น้ำน่าน ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จ.นครสวรรค์ แต่แม่น้ำน่านมีระดับ ที่สูงการไหลจึงค่อนข้างล่าช้า ส่งผลให้ยังมีระดับน้ำท่วมสูง 1-2 เมตร ประชาชนต้องสัญจรไปมาด้วยเรือ นอกจากนี้โรงเรียนจำนวน กว่าสิบแห่งในพื้นที่ถูกน้ำท่วมสูงเกือบถึงอาคารเรียนชั้นสอง ยังไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนใน วันที่ 1 พ.ย.นี้ได้ โดยเฉพาะโรงเรียนบ้านหนองไผ่-มาบชุมแสง ต.ท่าเสา ต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

นายวีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี ผวจ.พิจิตร กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือ ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิต จากน้ำท่วมที่พิจิตรสูงมากถึง 13 ราย ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน เพราะออกไปเล่นน้ำท่วม อยากขอความร่วมมือ ผู้ปกครอง อย่าปล่อยบุตรหลานไปเล่นน้ำท่วม เนื่องจากน้ำไหลแรง ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ นอกจากนี้ตนให้ทางราชการนำป้ายไปปักห้ามเล่นน้ำแล้ว

สำหรับพื้นที่พิจิตร ยังมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมจำนวน 8 อำเภอ 43 ตำบล 274 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 11,476 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 50,118 ไร่ และสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 อำเภอ เสียชีวิต 13 ราย

กาฬสินธุ์ยังเฝ้าระวัง 24 ชม.

ปัญหาน้ำท่วมที่จ.กาฬสินธุ์ แม้ในเขตชลประทานสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย แต่ในพื้นที่ อ.ฆ้องชัย และอ.กมลาไสย ยังคงมีการเฝ้าระวังปัญหาน้ำเอ่อล้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะทาง 26 กิโลเมตร ต้องตรวจสอบจุดรั่วซึม และนำกระสอบทรายเสริมพนังจนเกิดความแข็งแรง ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ ระดับน้ำยังคงทรงตัว มีเพียงพื้นที่นาข้าวถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด

นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการวัดระดับน้ำรายงานจากฝายวังยาง ในลำน้ำชี พบว่ายังคงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 3 ซ.ม. แต่ในขณะนี้วัดจากระดับต่ำสุดที่เคยท่วมใหญ่ในปี 2554 ระดับน้ำยังต่ำกว่า 28 ซ.ม. อีกทั้งเขื่อนอุบลรัตน์ก็ลดการระบายน้ำ คาดว่าพนังกั้นแม่น้ำชีในพื้นที่จะสามารถต้านทานกระแสน้ำได้ อีกทั้งเชื่อว่าในระยะ 2-3 วันนี้ น้ำจะทรงตัวเนื่องจากมวลน้ำก้อนแรกไหลเข้ามาในพื้นที่กาฬสินธุ์แล้ว ทั้งนี้ความเสียหายคงอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งจะประเมินทุกชั่วโมง ขณะที่มาตรการเข้าช่วยเหลือในเบื้องต้น จะเน้นในเรื่องของสุขภาพ ซึ่งในขณะนี้สาธารณสุขจังหวัดก็ลงพื้นที่เพื่อดูแลรักษาพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่แล้ว

ชง 7 พันล.ป้องพื้นที่นอกคันกั้น

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรม ชลประทาน กล่าวว่า ต้องยอมรับการระบายน้ำออกจากทุ่งตอนเหนือแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นไปได้ช้าเพราะน้ำกระจุกตัวและเพิ่งผ่านจุดสูงสุดเมื่อวันที่ 25-26 ต.ค. จากนี้ต่อไปในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง จะลดลงวันละ 1-2 เซนติเมตร จึงต้องใช้เวลานาน เชื่อว่าต้นเดือนธ.ค.น่าจะแก้ปัญหาจบ ส่วนกรณีน้ำซึมลอดคลอง 3L-RMC บริเวณก.ม.13 +895 ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย บ้านคุยโพธิ์ ต.บึงเนียน อ.เมือง จ.ขอนแก่น คาดจะสามารถปิดได้ในวันที่ 30 ต.ค.นี้ ต้องยอมรับปีนี้มีปริมาณมาก ทำให้เมื่อต้องระบายน้ำลงชี มูน จะทำได้ช้า อาจกระทบกับพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร มหาสารคาม กาฬสินธุ์

นายสมเกียรติกล่าวว่า พื้นที่นอกคันกั้นน้ำจะกระทบมากกว่า กรมชลประทานร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นกรมป้องกันและสาธารณภัย เตรียมร่วมกันดำเนินการตามแผนช่วยเหลือพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ใช้ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนแล้ว 6 แห่งอยู่ในแผน 1 แห่งเหลืออีก 7 แห่ง วางแผนเพิ่มเติมวงเงินตามแผน 4,800 ล้านบาท ส่วนมาตรการที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้างเพื่อบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำ ซึ่งอยู่ในแผนการดำเนินงานจำนวน 14 แห่ง วงเงิน 200 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการปี 2558-2566

ในปี 2562 มีแผนงานมาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง โดยการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค วงเงิน 8 ล้านบาท สร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน วงเงิน 1,977 ล้านบาท มาตรการไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง จัดหาพื้นที่รองรับผู้อพยพ วงเงิน 15 ล้านบาท, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดหาสถานที่สำหรับผู้อพยพในแต่ละจังหวัด ซึ่งมีแผนการสำรวจความต้องการก่อนปี 2561 ทั้งนี้กรมชลประทานได้ประสานข้อมูลกับกรมทางหลวงชนบทในส่วนของพื้นที่นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 14 แห่ง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 12,749 ไร่ เพื่อจัดทำ แผนด้านการปรับตัวกับสภาพน้ำหลากต่อไป

จับตาขุดคลองระบายน้ำหลาก

ด้าน นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นในการขุดคลอง ระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ว่า อาจมีผลกระทบหลายด้าน 1. หากมีการสร้างเขื่อนหมื่นล้านบาท เพื่อกั้นแม่น้ำเจ้าพระยา จะเกิดปัญหาไม่มีตะกอนไปตกปากแม่น้ำ อาจกระทบ กับชาวประมง จะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร 2. ด้านท้ายน้ำกทม. และปริมณฑล อาจต้องยกคันถึง 4 เมตร จะทำหรือไม่ 3.ควรคิดทั้งระบบ น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำทะเลหนุน 4.หากเกิดเป็นพฤติกรรมน้ำหลากไม่อยู่ในแม่น้ำ ทางระบายน้ำหลากจะไม่เกิดประโยชน์ 5.ต้องใช้เวลาศึกษา 1-2 ปี ก่อน 6.ควรชี้แจงให้ประชาชนรับทราบว่าโครงการเป็นเพียงการลดผลกระทบเรื่องของน้ำท่วมลงเท่านั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่ท่วมเลย 7.หากน้ำทะเลหนุนสูง 0.50-1.00 ม. หรือมากกว่าปกติจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง 8.การเร่งระบายน้ำที่เร็วเกินไปจะส่งผลกระทบต่อด้านท้ายน้ำและชาวประมงหรือไม่ 9.ควรมีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ให้ดี

อ.เกษตรเห็นด้วยควรรีบทำ

นายสุวัฒนา จิตตลดาการ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า คลองลัดบางบาล-บางไทร มีความจำเป็นมากในระบบเจ้าพระยาเพื่อเร่งระบายน้ำ ผ่านลงสู่อ่าวไทย โดยไม่ให้ล้นตลิ่ง ควรเริ่มก่อสร้างภายในปี 2560-2561 และการขุดลอกลำน้ำช่วงที่แคบจาก อ.สรรพยา ถึง อ.บางบาล มีความจำเป็นเห็นควรสนับสนุน ทั้งนี้ควรเพิ่มเติมมาตรการทั้งการดูแลและแก้ไขการบุกรุกทางน้ำในลำน้ำเจ้าพระยา รวมถึงการบุกรุกแม่น้ำเจ้าพระยา จาก อ.บางบาล ถึง อ.บางไทร ซึ่งเป็นส่วนที่มีปัญหาการไหลมากที่สุดด้วย แต่ควรพิจารณาเป็นพิเศษด้านราคาค่าชดเชย ที่ดินที่ต้องเวนคืน ซึ่งควรอิงกับราคาตลาดที่แท้จริง เพื่อความเป็นธรรมกับเจ้าของที่ดิน

คสช.ชี้น้ำใกล้เคียงปี”54

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวชี้แจงถึงปริมาณน้ำที่มี ค่อนข้างมากในปีนี้ว่า เนื่องจากประเทศไทยได้รับอิทธิพล จากพายุโซนร้อน ตาลัส เซินกา พายุไต้ฝุ่นทกซูรี และพายุดีเปรสชัน เมื่อเปรียบกับเวลาเดียวกัน ในเหตุการณ์น้ำท่วม ใหญ่เมื่อปี 2554 มีปริมาณน้ำฝนรวมสะสมที่ 1,798 มิลลิเมตร ในทางสถิตินับว่ามีปริมาณใกล้เคียงกัน

พ.อ.วินธัยกล่าวว่า แต่ด้วยรัฐบาลพยายามบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมมาก่อนหน้านั้น นอกจากนี้มีการเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องจักรกลต่างๆ โดยพยายามไม่ให้น้ำขยายวงกว้างมากขึ้น ส่วนพื้นที่สุดวิสัยที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลมีแผนการดูแลเยียวยาไว้แล้วตามความเหมาะสม อย่างดีที่สุด โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ได้มีสั่งการกำชับผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดูแลให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ส่วนกองทัพบก พล.อ. เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.ให้ทุกหน่วยเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า ปัจจุบันอยู่ในขั้นระหว่างการให้ความช่วยเหลือ ร่วมกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่ โดยในภาพรวมขณะนี้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก (ศบภ.ทบ.) ได้ส่งกำลังพลจำนวน 31 กองร้อยช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้ง 22 จังหวัด ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยศบภ.ทบ.ส่วนกลางได้เตรียมการสนับสนุนเพิ่มเติมในเรื่องจำเป็นต่างๆ เอาไว้ ทั้งเรื่องคนและเครื่องมือต่างๆ ไว้คอยเสริมกรณีจำเป็นหรือเมื่อมีการร้องขอเข้ามา

เก็บขยะทะเลหัวหิน

พ.อ.กรกานต์ นาเวชวนิชกุล รอง ผอ.รมน.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับนายจีรวัฒน์ พราหมณี ปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน กำลังทหารจาก มว.รส.ที่ 2 หัวหิน ตำรวจท่องเที่ยว เหล่าจิตอาสา ผู้ประกอบการค้าชายหาดหัวหิน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ร่วมเก็บขยะบริเวณชายหาดหัวหิน ซึ่งเป็นขยะที่มาในช่วงมรสุมเป็นประจำทุกปี โดยขยะส่วนใหญ่จะเป็นเศษของพรรณไม้ริมน้ำ เช่น ลูกจาก มะพร้าว ผักตบชวา และขยะที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ขวดน้ำ ซึ่งเมื่อดูจากประเภทของขยะ และการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ สรุปได้ว่าเป็นขยะที่ลอยมาจากที่อื่น ซึ่ง พ.อ.กรกานต์ นาเวชวนิชกุล ได้ประสานกำลังทหารจากศูนย์การทหารราบ เพื่อลงพื้นที่แก้ปัญหาดังกล่าว ร่วมกับเทศบาลหัวหินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สถานที่ชายหาดหัวหินกลับมาสวยงามเหมาะแก่การรองรับการท่องเที่ยว

สสจ.สิงห์บุรีระวังโรคมากับน้ำ

นายแพทย์มณเฑียร คณาสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี เผยว่า ขณะนี้หลาย พื้นที่ในจังหวัดสิงห์บุรีกำลังประสบปัญหาอุทกภัย ซึ่งสภาวะน้ำท่วมขังที่เกิดขึ้นมักมีปัญหาสุขภาพอนามัยตามมา เพราะกระแสน้ำจะพาสิ่งสกปรก/เชื้อโรคให้แพร่กระจาย ทำให้ แหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคปนเปื้อน จึงมีโอกาสเกิดโรคระบาดได้ง่าย เช่น โรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า โรคตาแดง สัตว์มีพิษและของมีคม รวมถึงการเสียชีวิตจากการจมน้ำและไฟฟ้าดูด ไฟฟ้า ชอร์ตอีกด้วย ประกอบกับในช่วงที่ฝนตก หนักอากาศจะมีความชื้นสูง เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบหรือปอดบวม อีกทั้งสภาพผิวดินหลังน้ำท่วมมีความเหมาะสมสำหรับการแพร่พันธุ์ของยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อโรคไข้เลือดออก จึงมีโอกาสระบาดสูงขึ้นหลังน้ำท่วมเช่นกัน ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

น้ำล้นทุ่งท่วมบางปลาม้า

สถานการณ์แม่น้ำท่าจีนในพื้นที่ 3 อำเภอท้ายน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำ จากประตูน้ำพลเทพ จ.ชัยนาท และมีการผันน้ำลงสู่ทุ่ง ทั้งประตูระบายน้ำทุ่งเจ้าเจ็ด ผักไห่ พระยาบันลือ ทำให้บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เมือง อ.บางปลาม้า และ อ.สองพี่น้อง ถนนบางสายในหมู่บ้านถูกตัดขาด เนื่องจากน้ำมีปริมาณล้นทุ่งและเอ่อท่วมอย่างต่อเนื่อง

ส่วนในพื้นที่ ต.โคกคราม ต.จระเข้ใหญ่ อ.บางปลาม้า เป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำและรับน้ำมาจากทุ่งเจ้าเจ็ด ซึ่งมีพื้นที่ติดกับ จ.พระนคร ศรีอยุธยา และ จ.อ่างทอง ขณะนี้บ้านเรือนของชาวบ้านได้รับผลกระทบกว่า 300 หลังคาเรือน ถนนหลายสายในหมู่บ้านถูกน้ำท่วมขัง รถสัญจรไปมาลำบาก ส่วนใน อ.เมืองสุพรรณบุรี จำนวน 11 ตำบล ยังได้รับผลกระทบ บ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนยังถูกน้ำท่วมขัง ถึงแม้ระดับน้ำจะเริ่มลดลง 2-3 ซ.ม. แต่ชาวบ้านยังต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำ ท่าจีนอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ช.ม.

คนหาปลาจมดับ

ขณะที่ร.ต.อ.ชาญชัย นามวงษา รอง สง.(สอบสวน) สภ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น รับแจ้งจากศูนย์วิทยุ 191 สภ.น้ำพอง ว่ามีชาวบ้านจมน้ำเสียชีวิตบริเวณตลิ่งริมแม่น้ำพอง บ.โนนพยอม ม.5 ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น หลังรับแจ้งจึงรุดไปตรวจสอบ ที่เกิดเหตุ พร้อมด้วยพ.ต.อ.จรูญ นวมทอง รอง ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น พ.ต.อ.สุวัฒน์ สมจิตร ผกก.สภ.น้ำพอง แพทย์เวร ร.พ.น้ำพอง และหน่วยกู้ชีพกู้ภัยน้ำพอง ที่เกิดเหตุพบศพ นายสมัย คำพึ่งกลาง อายุ 54 ปี ถูกชาวบ้านช่วยกันงมร่างขึ้นมาจากน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก โดยสภาพศพมีบาดแผลบริเวณศีรษะ

จากการสอบถาม นายบุญทัน ล่ากัน เพื่อนของผู้ตายให้การว่า ได้ออกหาปลากับผู้ตายโดยใช้เรือคนละลำ แยกไปวางอวนกันคนละจุด ต่อมาได้ยินเสียงคนตกน้ำพอหันไปดูพบเพียงหมวกของผู้ตาย ส่วนร่างนั้นได้จมลงน้ำจึงรีบไปตามชาวบ้านมาช่วย งมหานานกว่า 2 ชั่วโมง จนพบร่างห่างจากจุดที่จมน้ำราว 100 เมตร “คาดว่าผู้ตายน่าจะปีนต้นมะเดื่อที่ผูกเรือไว้เพื่อไปผูกอวนจับปลา แต่เกิดพลาดท่ากิ่งไม้หักตกลงกระแทกเรือจนศีรษะแตกและจมน้ำเสียชีวิต” ขณะที่ญาติไม่ติดใจสาเหตุการตาย เจ้าหน้าที่จึงมอบศพให้ญาตินำกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป

ปภ.เตือนฝนหนัก 9 จว.ใต้

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ เข้าปกคลุมบริเวณอ่าวไทย ภาคใต้และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นกับฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และลมกระโชกแรง ปภ.จึงได้ประสานจ.ประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา และเขต 18 ภูเก็ต เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงเวลาดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำและสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมสรรพกำลัง วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งเสริมแนวคันกั้นน้ำและประสานการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมขัง และพื้นที่เศรษฐกิจ กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ/แผนเผชิญหตุแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด พร้อมพิจารณาอพยพประชาชนไปพักอาศัยยังศูนย์พักพิงหรือจุดอพยพที่ปลอดภัย

จัดทหารพร้อมช่วยเหลือ

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ได้สั่งการผบ.เหล่าทัพให้ความร่วมกันอย่างเต็มกำลังและต่อเนื่อง ในการเข้าถึงและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ที่ยังคงเกิดขึ้นจากพายุฝนและน้ำล้นตลิ่ง ทั้งพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่ภาคกลางในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ใกล้ลุ่มน้ำสายหลัก ซึ่งมีประชาชนได้รับผลกระทบและเดือดร้อนหลายครัวเรือน

“ให้ติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำ ในลุ่มน้ำสายหลักอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประสานกับส่วนราชการในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ให้การสนับสนุนกำลังพล เครื่องมือช่างและจัดชุดเคลื่อนที่เร็วให้พร้อมปฏิบัติการเชิงรุก เข้าคลี่คลายสถานการณ์และแก้ปัญหาเร่งด่วนที่อาจเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการเสริมความแข็งแรงของพนังกั้นน้ำและการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ การแจกจ่ายอาหารและสิ่งของบรรเทาทุกข์อย่างทั่วถึง รวมทั้งการช่วยเหลือทางการแพทย์เร่งด่วนและการฟื้นฟูจิตใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบ” พล.ท.คงชีพกล่าว

“โผงเผง”จมดับ 1

ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ จันสี รองสารวัตรสอบสวน สภ.ป่าโมก จ.อ่างทอง รับแจ้งมีเหตุผู้สูญหายภายในน้ำ เหตุเกิดบริเวณบ้านเลขที่ 38/2 หมู่ที่ 3 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง หลังรับแจ้งจึงรุดไปตรวจสอบยังที่เกิดเหตุ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตชด. ที่ประจำอยู่ในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่สมาคมนักวิทยุสมัครเล่นกู้ภัยจังหวัดอ่างทอง เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ พบว่าบริเวณดังกล่าวเป็นกลุ่มบ้านที่ถูกน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมขังสูงระดับประมาณ 2.50 เมตร ผู้สูญหายดังกล่าวคือนายสำอาง วังเวงจิตร์ อายุ 68 ปี โดยล่าสุดมีผู้พบเรือที่นายสำอางค์ใช้ พายเป็นประจำลอยอยู่แต่ไม่พบนายสำอาง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตชด.ในพื้นที่ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดประดาน้ำของสมาคมนักวิทยุสมัครเล่นกู้ภัยจังหวัดอ่างทอง ลงดำน้ำค้นหากว่า 1 ชั่วโมง จึงพบร่างของนายสำอางจมอยู่ใต้น้ำใกล้เคียงบริเวณดังกล่าว

นางอุษา รอดเชียง อายุ 49 ปี น้องภรรรยา ของนายสำอาง กล่าวว่า นายสำอางว่ายน้ำไม่เป็น เมื่อช่วงเช้าเห็นพายเรือออกมารดน้ำต้นไม้ ที่ยกหนีน้ำที่ท่วมมาร่วม 2 เดือนแล้ว พอช่วงเที่ยงๆ มีคนเห็นว่าพายเรือลำดังกล่าวออกไปตัดต้นกล้วยที่ขวางทางน้ำอยู่ ก่อนที่จะเงียบหายไป กระทั่งเห็นเรือลอยมาที่หน้าบ้านแต่ไม่พบนายสำอาง ตอนแรกคิดว่าผูกเรือไม่ดีทำให้ลอยมา จนกระทั่งเย็นก็ยังไม่เห็นจึงแจ้งตำรวจกระทั่งมาพบเป็นศพจมอยู่ใต้น้ำดังกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน