นักวิชาการ ชี้ ศาลไม่ห้าม กะเหรี่ยงบางกลอย กลับใจแผ่นดิน เพียงแค่ต้องหาหลักฐาน ชาวบ้านแฉ รัฐรุนแรง กระชากขึ้นเฮลิคอปเตอร์-ยึดมือถือ

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 12 มี.ค. ที่ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนา “ปัญหา-เสียงจากชาวบ้านบางกลอย การตีความหมาย กรณีชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน” โดย นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

น.ส.จันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางสุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมี น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นผู้ดำเนินรายการ

นักกฎหมายยัน ชาวบ้านเป็นคนไทย ไม่ใช่ต่างด้าว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ขอชี้แจงข้อเท็จจริงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน 9 ประเด็น คือ 1.กล่าวอ้างว่าชาวบ้านเป็นต่างด้าว ไม่ใช่คนไทย แต่ข้อเท็จจริงในปี 2554 ที่มีการฟ้องร้องศาลปกครอง ในที่สุดชาวบ้านได้แสดงตัวเป็นคนไทย มีทะเบียนบ้าน บัตรประชาชนเป็นคนไทย 2.อ้างว่าชาวบ้านเป็นกะหร่าง ซึ่งไม่มีอยู่ในสารบบของชาติพันธุ์ไทย มีเพียงกะเหรี่ยงเท่านั้น โยงประเด็นว่าเป็นชนเผ่าที่ไม่ได้เกิดในไทย ซึ่งคำว่ากะหร่างเป็นคนดูถูกกะเหรี่ยง

3.อ้างว่าชาวบ้านบุกรุกป่า ซึ่งข้อเท็จจริงคือชาวบ้านเกิดบริเวณดังกล่าว อยู่ในป่ามาโดยตลอดไม่ได้บุกรุกป่า 4.มีการอพยพของชาวบ้านในปี 2539 และ 2554 ซึ่งในปี 2554 ไม่ใช่การอพยพ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเผาบ้านชาวบ้าน จึงต้องหนีตายลงมา 5.จัดสรรที่ดินครอบครัวละ 7 ไร่ แต่ข้อเท็จจริงพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ไม่ให้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่จัดสรรให้ใครอยู่ มีเฉพาะพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเท่านั้น

6.อ้างว่าพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำจะอาศัยทำกินไม่ได้ แต่ในบางกลอยล่างก็เป็นป่าต้นน้ำเช่นเดียวกัน และสภาพภูมิประเทศคล้ายกัน และอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ หากเป็นเช่นนั้นการนำชาวบ้านลงมาบางกลอยล่างก็ผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ข้อ 7.เมื่อชาวบ้านกลับไป มีการแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้าน ในข้อหาบุกรุกเปิดป่าใหม่ แสดงว่าขณะที่ชาวบ้านทำกินในพื้นที่เก่า รัฐยอมรับว่าพื้นที่เก่าของชาวบ้านมีการฟื้นฟูเป็นป่าใหม่แล้ว แปลว่าตามมาตรา 65 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ถ้ามีการฟื้นฟูเป็นป่าใหม่ได้ ก็ให้สิทธิชาวบ้านดำรงชีพตามวิถีชุมชนหรือวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ ข้อ

8.เจ้าหน้าที่อ้างว่าปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงคือ เจ้าหน้าที่ใช้มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล เป็นมาตรการเร่งรัดในการสำรวจพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน ไม่ใช่มาตรการบังคับ จะอ้างว่าเลยระยะเวลา 240 วัน ไม่ได้ เพราะหากไม่เสร็จตามกำหนดสามารถยื่นเวลาไปได้ และตามพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสองมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ

และ 9.อ้างปฏิบัติการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด อ้างว่าชาวบ้านไม่มีสิทธิไปอาศัยทำกินนั้น เป็นเพียงการฟ้องร้องในคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐไปเผาบ้านชาวบ้านเท่านั้น ส่วนสิทธิทำกินของชาวบ้านว่าจะกลับไปอยู่ได้หรือไม่นั้น ทางโฆษกศาลปกครองได้ออกมาระบุชัดเจนว่า ศาลยังไม่ได้พิจารณาในเรื่องนี้

จากนั้นตัวแทนชาวบ้านบางกลอย นายพนมพร วนสิริคุณ และ นายประเสริฐ พุกาด ชาวบางกลอย ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม โดยนายประเสริฐ เผยว่า อำนาจของรัฐทำกับเราแบบนี้ แล้วเราจะอยู่อย่างไร รัฐอ้างว่าจัดสรรพื้นที่ให้ แต่พวกเรากลับไม่มีพื้นที่ปลูกข้าว ไม่มีข้าวสาร ไม่มีอะไรกิน อดข้าวบ้างก็มี จึงตัดสินใจขึ้นไป จริงๆ อยากขึ้นไปตั้งนานแล้ว แต่ไม่กล้าขึ้นไปกลัวอำนาจรัฐ เหตุการณ์การจับกุมชุลมุนมาก มีกระชากดึงผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมลงขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไป ส่วนเด็กเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำอะไร เจ้าหน้าที่ได้บันทึกภาพเหตุการณ์กัน

ในขณะที่ชาวบ้านถูกยึดโทรศัพท์ตั้งแต่อยู่บางกลอยบน และเมื่อนำตัวลงมาก็พามาตรวจร่างกาย เจาะเลือด ถอนเส้นผม เก็บเนื้อเยื้อที่กระพุ้งแก้ม ทุกคนโดนตรวจทั้งหมด เมื่อตนถูกสอบสวนก็ส่งตัวไปยังเรือนจำกลางเพชรบุรี แยกชายหญิง และที่เรือนจำให้ทุกคนตัดผม แต่เราขอให้ 2 คนไม่ตัดผม มีนายหน่อแอะ มีนิ และอีกคน เพราะความเชื่อว่าหากตัดผมแล้วจะไม่สบายได้ เจ้าหน้าที่ถึงยอม นอกนั้นโดนโกนผมทั้งหมด

อ.จุฬาฯ จวกรัฐเลอะเทอะ ละเมิดสิทธิชุมชน-ศักดิ์ศรีความเป็นตน

ด้าน รศ.ดร.ประภาส กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิชุมชน และศักดิ์ศรีความเป็มนุษย์ ปฏิบัตหน้าที่โยงกันในหลายมิติ แต่กลับไม่สนใจประเด็นหลักตามสิทธิชุมชน เอาประเด็นรองมาทำลายประเด็นหลัก เป็นความเลอะเทอะของรัฐที่ไปขยายมิติความมั่นคงไปโยงกับกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ เสมือนเป็นเช็กเปล่าที่ไปทำลายชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ชอบธรรม

โดยเฉพาะกอ.รมน. ที่นำไปเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคง และต้องคุยเรื่องนี้ให้ชัด ความมั่นคงที่นิยามมานั้นเกี่ยวข้องกับการไม่ไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แต่ต้องไม่ไปทำลายหลักการใหญ่ในเรื่องสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่จึงมีความไม่ชอบธรรมในการปฏิบัติการและอ้างคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดไม่ได้ เนื่องจากยังมีมีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านจะไม่มีสิทธิ์ที่จะกลับไปอยู่ เพียงแต่ศาลสั่งให้กลับไปไม่ได้ตามคำอุทธรณ์ของชาวบ้าน

รศ.ดร.ประภาส ระบุว่า ส่วนประเด็นคำวินิจฉัยของศาลจังหวัดเพชรบุรีอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยมีเงื่อนไขว่า ห้ามผู้ต้องหากลับไปในพื้นที่ที่ถูกจับ และพื้นที่อุทยานที่ไม่ได้รับอนุญาต และจะมีโทษปรับครั้งละ 50,000 บาท ซึ่งข้อควรพิจารณาคือ ชาวบ้านที่ถูกอพยพทิ้งไว้เป็น 10 ปี โดยไม่มีการจัดสรรที่ดินให้ ต้องถูกดำเนินคดีเพราะพยายามกลับไปทำกินที่ดินเดิม กระบวนการยุติธรรมที่กำลังดำเนินการยังไม่ควรพิพากษาตัดสินความผิด โดยที่ยังขาดกระบวนการพิสูจน์สิทธิของชุมชนและสิทธิของชาวบ้าน ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่นักวิชาการต้องไปถกเถียงกันว่าศาลทำเกินเลยไปหรือไม่

ขณะที่ นายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า เป็นปัญหารัฐแบบอำนาจนิยมในการตีความ ฝ่ายนิติบัญญัติไม่เคยเห็นหัว ไม่เคยคุ้มครอง เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 มีการคุ้มครองสิทธิชุมชน แต่ศาลกลับไม่เห็นในประเด็นนี้ ในเมื่อศาลปกครองสูงสุดยอมรับว่าเป็นชุมชนดั้งเดิม เพียงแต่ไม่มีเอกสารสิทธิรับรอง ซึ่งเรื่องเอกสารการครอบครองที่ดิน เป็นกฎหมายที่ดิน ไม่ใช่เรื่องสิทธิชุมชน ทำไมศาลไม่ใช้กฎหมายสิทธิชุมชน เพราะรัฐธรรมนูญได้คุ้มครองสิทธิชุมชนไว้แล้ว นี่เป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องสิทธิชุมชนในสังคมไทยที่แก้ไขไม่ได้

นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็รับรองสิทธิชุมชนเช่นเดียวกัน ทั้งสิทธิในที่ดินและเขตแดน การมีจารีตวิถีปฏิบัติกับธรรมชาติ ซึ่งไร่หมุนเวียนนอกจากจะเป็นการดูแลรักษาป่าไม้ ยังให้ชุมชนดำรงอยู่ได้ ซึ่งรัฐต้องเคารพและดูแล อีกทั้งปัญหาของพื้นที่บางกลอย ไม่มีการสำรวจอย่างแท้จริงว่ามีชุมชนและความหลากหลายเหล่านี้ดำรงอยู่ และควรถูกคุ้มครองโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และต้องเป็นทุกพื้นที่ในประเทศไทย ไม่ใช่การกล่าวอ้างว่าเป็นการบุกรุก

อ.ปริญญา ชี้ศาลไม่ได้บอก ชาวบ้านกลับใจแผ่นดินไม่ได้

ผศ.ดร.ปริญญา ระบุว่า ตนขอสรุปประเด็นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 61 ในเรื่องคำพิพากษาให้เจ้าหน้าที่รัฐชดเชยให้ชาวบ้านในกรณีที่ไปเผาทำลายสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินของผู้ฟ้องทั้ง 6 ราย เนื่องจากทำเกินกว่าเหตุ ส่วนการขอกลับสู่ที่ดินเดิม ศาลระบุว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 รายไม่มีเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน หรือหนังสือการได้รับอนุญาตจากทางการ ประเด็นคือ ศาลไม่ได้ระบุว่า กลับได้หรือไม่ แต่ขาดกระดาษจากทางการมารองรับ ซึ่งการออกเอกสารเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร ก็กลับมาเป็นเรื่องของรัฐบาล เพราะรัฐจะอ้างว่าศาลไม่ให้กลับไม่ได้ ศาลยังไม่ได้ชี้ขาด เพียงแต่ขาดเอกสาร

หากมีการฟ้องในประเด็นนี้ ศาลก็ต้องมีการนำสืบพยานหลักฐานในอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งชัดเจนว่า เรื่องนี้ยังไม่จบ กฎหมายยังเปิดอยู่และสามารถต่อสู้ได้ด้วยข้อเท็จจริง หากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะพิสูจน์สานต่อเรื่องนี้ย่อมทำได้ เพราะกฎหมายเปิดช่องแล้ว และล่าสุด กมธ.ที่ดิน เตรียมข้อมูลจากกรมแผนที่ทหารเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งทุกฝ่ายต้องยอมรับในข้อเท็จจริงนี้และต้องยอมรับ หากชาวบ้านไม่ถูกชาวบ้านต้องยอม หากชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ต้องยอมเช่นกัน

ข้องใจ เรือนจำเพชรบุรี ใช้อำนาจไหนโกนหัวชาวบ้าน

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญอีกเรื่อง คือ การที่เรือนจำกลางเพชรบุรีไปโกนหัวชาวกะเหรี่ยงบางกลอย อาศัยอำนาจใด เพราะตามระเบียบกรมราชทัณฑ์หากเป็นนักโทษเด็ดขาดที่คดีสิ้นสุดแล้ว ผมด้านหน้าและด้านบนยาวได้ 5 เซนติเมตร ส่วนด้านข้างต้องเกรียน นอกจากนี้ระบุว่าคนต้องขังก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด เรือนจำจะปฏับัติเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ และให้ไว้ผมแบบชนสามัญ ดังนั้นการที่เรือนจำกลางเพชรบุรีไปกร่อนผมพวกเขา ใช้อาศัยอำนาจใด เรื่องนี้ตนมองว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมาก เราต้องต่อสู้ในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ชาวบางกลอย แต่หมายถึงทุกคน หากไม่ใช่นักโทษ จะปฏิบัติกับพวกเขาเป็นนักโทษไม่ได้ เรื่องนี้ต้องฟ้องให้เป็นบรรทัดฐานกับทุกคน

อัยการ ชี้รัฐอ้างคำพิพากษา ละเมิดชาวบ้านไม่ได้

ด้าน น.ส.จันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า คนอยู่กับป่าได้มาเป็นประวัติศาสตร์ หากยอมรับตรงนี้ได้ การใช้กฎหมายจะเคารพต่อสิทธิชุมชน และบังคับใช้ในด้านกฎหมายได้ สิทธิชุมชนคือการคุ้มครองสิทธิ ซึ่งในกรณีของพื้นที่บางกลอย ในมาตรา 64 และ 65 ตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ได้กำหนดให้รัฐมีหน้าที่สำรวจสิทธิชุมชนตามข้อเท็จจริง ตามรากเหง้าที่ปรากฎ รัฐต้องทำข้อมูล เดินสำรวจเพื่อให้เกิดสิทธิชุมชุน เราต้องแปลความกฎหมายเป็นเช่นนี้ กฎหมายลูกที่กำหนดเพื่อรองรับรัฐธรรมนูญ การใช้ระยะเวลาการกำหนด 240 วันไม่ใช่การคุ้มครองสิทธิชุมชน และสุดท้ายกระบวนการยุติธรรมกลับใช้กฎหมายทางอาญามาดำเนินคดีต่อชาวบ้าน โดยอ้างเพียงหลักฐานโฉนดที่ดินไม่ได้

“ผู้พิพากษาต้องมีการไต่สวนต้องดีพอ เพราะชาวบ้านไม่ใช่อาชญากร และเรื่องนี้กระทบต่อสังคมและชุมชน ย้ำว่าเจ้าหน้าที่รัฐอ้างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดมาละเมิดต่อชาวบ้านไม่ได้ ฝ่ายบริหารเองที่ต้องจัดทำคุ้มครองสิทธิตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ตามมาตรา 64 และ 65” น.ส.จันทิมา ระบุ

อดีต กสม.ชี้จับชาวบ้านไม่ชอบธรรม ย้อนรอยโศกนาฏกรรม บิลลี่-อ.ป๊อด

นางสุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตำนานเรื่องนี้ไปดูเพียงผิวๆ ไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการอย่างซ้ำซาก ตั้งแต่เรื่องการลอบยิง นายทัศน์กมล โอบอ้อม หรือ อ.ป๊อด แกนนำต่อต้านการผลักดันชนกลุ่มน้อย ต่อมาเป็น บิลลี่ นายพอละจี รักจงเจริญ ถือเป็นความเจ็บปวดของชาวบ้านที่หมดหนทาง สิทธิชุมชนมันมีมายาวนานตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 แต่อำนาจรัฐกลับเมินเฉย ไม่มีการสะสางปัญหา เป็นการกระบวนการจับกุมที่ไม่ชอบธรรม จัดหาทนายที่เป็นคนของรัฐ ไม่ใช่ทนายที่ชาวบ้านต้องการ กระบวนการยุติธรรมเช่นนี้ถือเป็นความไม่ชอบธรรมอย่างร้ายแรง ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รัฐเลือกปฏิบัติกับประชาชนทางเชื้อชาติ ฐานะทางเศรษฐกิจที่ยากจน

นางสุนี ย้ำว่า รัฐอ้างว่าไม่มีการใช้ความรุนแรง แต่เจ้าหน้าที่มีทั้งอาวุธปืน เฮลิคอปเตอร์ อ้างว่าไม่ใช่ความรุนแรงแต่ก็ละเมิดต่อกระบวนการทั้งหมดแล้ว รัฐควรยุติการดำเนินคดีเพราะเริ่มต้นจากความไม่ยุติธรรม และควรตั้งคณะทำงานที่อิสระจากกระทรวงทรัพยากรฯ

ส.ส.ม้ง ก้าวไกล ชี้กลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ต้องการขัดแย้งใคร

นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาศึกษาด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า ตนเป็นคนม้งคนหนึ่งที่มีโอกาสทำหน้าที่ในสภา ปัญหาชาติพันธุ์มีมาอย่างยาวนาน ชาวกะเหรี่ยงบอกว่าถ้าไม่ได้อยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมขอให้ฆ่าเราตายเสีย เราขอตาย นี่คือคำสุดท้ายของความเป็นมนุษย์ กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้ต้องการขัดแย้งกับใคร แต่หากเจ้าหน้าที่ยังปฏิบัติเช่นนี้ กลัวจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว หรือหากชาวกะเหรี่ยงทำตามอย่างที่พวกเขาบอก เราจะรับเหตุการณ์เช่นนี้อย่างไร

ความล้มเหลวของรัฐคือยังไม่ได้แก้ปัญหา มักให้สัญญากับชาวบ้านแต่สุดท้ายก็หันหลังให้ มติครม.ที่มีขึ้นก็ไม่ได้เกิดเป็นรูปธรรม ความหม่นหมองที่สุด คือ การใช้กฎหมายมากกว่ากฎธรรมชาติ และมันจะไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหาให้กับพวกเราชาวชาติพันธุ์ได้ การออกกฎหมายของรัฐล้มเหลว ชาวบ้านไม่เชื่อมั่นในกฎหมาย หน่วยงานความมั่นคงควรสร้างความมั่นคงให้กับพวกเรา ให้มีปัจจัย 4 ในการดำรงชีพ แล้วเราจะเป็นเกราะให้พื้นที่มีความมั่นคงได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน