7 ปี “บิลลี่” ถูกอุ้มหาย ครอบครัว-กะเหรี่ยงบางกลอย จัดกิจกรรมรำลึก “มึนอ”ยังหวังทวงคืนความยุติธรรม นำตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้

วันที่ 18 เม.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ด่านเขามะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีการจัดกิจกรรมรำลึก 7 ปีกับการหายไปของ บิลลี่ หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ โดยมีชาวบ้านบางกลอยราว 20 คน และ น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ อดีตภรรยานายบิลลี่ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เข้าร่วม ทั้งนี้ นายนอแอะ มีมิ ลูกชายปู่คออี้ อดีตผู้นำทางจิตวิญญาณ ทำพิธีเรียกขวัญให้วิญญาณบิลลี่กลับบ้าน ขณะที่ชาวบ้านต่างวางดอกไม้แสดงความรำลึก บางคนได้เขียนข้อความแสดงความในใจ

น.ส.มึนอ กล่าวว่า ตลอดเวลาที่บิลลี่หายไป 7 ปียังมีความหวังว่าจะได้รับความยุติธรรมจากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองโดยสามารถนำตัวคนที่กระทำผิดไปลงโทษได้ ซึ่งทุกวันนี้แม้บิลลี่หายไปนานแต่ยังมีปัญหาเรื่องประกันชีวิตที่ยังไม่สามารถเอาคืนได้ เพราะไม่มีใบมรณะบัตรเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ออกให้ อย่างไรก็ตามยังเชื่อมั่นในดีเอสไอ(กรมสอบสวนคดีพิเศษ)เพราะได้ทำการสืบสวนสอบสวนและส่งฟ้องแต่อัยการไม่ส่งฟ้อง

เราอยากขอความเป็นธรรมให้กับบิลลี่และชาวบ้านบางกลอย ทำไมชาวบ้านถึงต้องออกจากบ้านเกิดของพวกเขา ปัญหาไม่ควรเกิดขึ้น รัฐบาลทำให้ปัญหาเล็กเป็นปัญหาใหญ่ เอาชาวบ้านลงมาแล้วไม่จัดพื้นที่ทำกินให้กลายเป็นปัญหามาถึงปัจจุบัน”น.ส.มึนอ กล่าว

ด้าน น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า กรณีการหายตัวไปของบิลลี่สะท้อนกระบวนการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง เช่น การบังคับให้สูญหาย ยังไม่มีแนวทางแก้ไขและอาจจะเกี่ยวข้องกับความมุ่งมั่นทางการเมืองของรัฐบาล ที่ผ่านมา 7 ปี อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่แทบจะเป็นหน่วยงานเดียวอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะนำอำนาจหรือวิธีการที่สามารถทำได้

ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ มีผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือบุคคลที่เห็นหรือจับกุมบิลลี่ในวันที่เกิดเหตุ บุคคลคนนั้นเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ใช้เวลาหลายปีกว่าที่หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน จนพบชิ้นส่วนของร่างกายที่อาจจะนำไปสู่การคลี่คลายคดีว่าบิลลี่ถูกบังคับให้สูญหาย ทำให้หายไป ถูกพาไปที่ไหน โดยใคร และอาจจะทำให้เกิดการเสียชีวิต เราควรจะได้ผู้กระทำผิด เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมาตั้งนานแล้ว ไม่ใช่เวลาที่กระบวนการยุติธรรมไทยจะรอให้ชาวบ้านค้นหาความจริง หรือหน่วยงานราชการด้วยกันเองไม่ทำหน้าที่

“เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลอาจจะทำให้คนผิดสามารถที่จะต่อสู้คดีได้ สุดท้ายเขาก็ไม่ต้องรับผิด จริงๆ ควรจะเก็บพยานหลักฐาน สอบสวนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าอุทยานฯ เจ้าหน้าที่ที่ใกล้ชิด ในวันที่เกิดเหตุ ตั้งแต่วันแรกหรือสัปดาห์แรกๆ ก็ไม่ได้กระทำ จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาหลายปี จึงมีการรับเป็นคดีพิเศษของ DSI เรามองว่ารัฐบาลนี้และรัฐบาลที่เกี่ยวข้องตลอดมาไม่มีความจริงใจในการคลี่คลาย ปล่อยให้คนผิดลอยนวล”ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน