หนุ่มลมชักชนวินาศพัทยาเจอหนัก ตร.เพิ่มข้อหา”ขับเสพ” ส่งศาลฝากขังเข้าเรือนจำพร้อมค้านประกันตัว หลังแพทย์ตรวจพบสาร “แอมเฟตามีน” ส่วนผู้บาดเจ็บสอบปากคำแล้ว 20 ราย เตรียมเยียวยาช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล ด้านลุงเชียงใหม่อารมณ์ร้อนถูกบีบแตรใส่ คว้าไม้เท้าฟาดกระจกรถหนุ่มที่นั่งมากับลูกเมีย ต่อมาอ้างว่าคุมสติไม่อยู่เพราะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง แพทย์ร.พ.ดังแนะหากป่วยจริงตามอ้างแล้วมีผลต่อการควบคุมอารมณ์ต้องให้แพทย์เฉพาะทางตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เตือนคนขับรถถ้ามีโรคที่มีผลต่อการขับขี่ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ หรือควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ แพทย์ระบุกำลังทำงานร่วมกรมการขนส่งทางบก เพื่อกำหนดโรค-อาการที่ไม่ควรขับรถ โดยลมชักกับเบาหวานเป็นโรคที่ไม่ควรขับรถ

จากกรณีที่เกิดเหตุสะเทือนขวัญหลัง นายอัครเดช อุดมรัตน์ อายุ 44 ปี ขับรถกระบะ อีซูซุ สีดำ ทะเบียน ผค 43 ชลบุรี พุ่งชนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่วิ่งสวนทางมานับ 10 คัน บริเวณหน้าตึกคอท ถนนพัทยาใต้ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตคาที่ 2 ราย บาดเจ็บ 15 ราย สุนัขตาย 1 ตัว และมีรถที่ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก เหตุเกิดเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. เบื้องต้นผู้ต้องหากล่าวอ้างว่าเป็น “โรคลมชัก” และขณะเกิดเหตุไม่รู้สึกตัว ขณะที่จากการนำตัวไปตรวจวัดแอลกอฮอล์ในร่างกายก็ไม่พบว่ามีปริมาณเกินที่กฎหมายกำหนดทางเจ้าหน้าที่จึงอายัดตัวไว้ก่อนทำหนังสือขอตรวจสอบประวัติการรักษาที่ร.พ.กรุงเทพพัทยา และนำตัวส่งร.พ.บางละมุง เพื่อตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะนั้น

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. พ.ต.อ.อภิชัย กรอบเพชร ผกก.สภ.เมืองพัทยา จ.ชลบุรี กล่าวว่า ได้รับคำยืนยันจากแพทย์แล้วว่าผลตรวจปัสสาวะของนายอัครเดชคนขับเป็นสีม่วง และมีสารเสพติดชนิด “แอมเฟตามีน” เจือปนอยู่ ซึ่งเป็นสารที่เป็นส่วนผสมของยาบ้า แต่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นสารที่ผสมกับตัวยาชนิดใด ซึ่งจะนำปัสสาวะส่งไปตรวจพิสูจน์อีกครั้งที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) เพื่อพิสูจน์ยืนยัน แต่เบื้องต้นได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแล้วว่าเสพสารเสพติดในขณะขับรถ ซึ่งได้มอบหมายให้ทางพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป

พ.ต.อ.อภิชัยเปิดเผยอีกว่า สำหรับคดีนี้แต่เดิมได้ตั้งไว้หลายข้อหา ได้แก่ ขับรถโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิตและได้รับบาดเจ็บสาหัส และได้รับบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการขับรถแบบประมาทหวาดเสียว รวมไปถึงหลบหนีการจับกุม ซึ่งได้งดการประกันตัวและเตรียมส่งฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ที่ศาลจังหวัดพัทยา ตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. อย่างไรก็ตาม ขณะที่การสอบปากคำนั้นผู้ต้องหากล่าวอ้างว่าป่วยก็กำลังรอคำยืนยันจากแพทย์ ส่วนของผู้บาดเจ็บนั้นได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำไปแล้วจำนวนกว่า 20 ปาก ซึ่งจะเรียกพบและ ดูเรื่องของค่ารักษาพยาบาลและความเสียหายที่เกิดขึ้นอีกครั้ง

ส่วนกรณีที่โซเชี่ยลมีเดียวิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการเผยแพร่คลิปวิดีโอชายสูง อายุคนหนึ่ง ต่อมาทราบชื่อ นายพรพรหม โทณวณิก อายุ 60 ปี คนขับรถโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ใช้ไม้เท้าเหล็กทุบเข้าที่กระจกรถยนต์คู่กรณี เนื่องจากไม่พอใจที่ถูกบีบแตรใส่ จนเป็นเหตุให้ผู้ชายคนขับรถคู่กรณีได้รับบาดเจ็บจากเศษกระจกที่แตกใส่และกระจกรถยนต์เสียหาย รวมทั้งภรรยาท้องแก่และลูกชายวัยขวบกว่าที่นั่งมาตกใจกลัวมาก ต่อมานายพรพรหม ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนสภ.แม่ปิง อ.มือง จ.เชียงใหม่ โดยยอมรับผิด แต่ให้การอ้างว่า ก่อเหตุไปเพราะไม่สามารถระงับโทสะได้ เนื่องจากเคยมีประวัติด้านสุขภาพเป็นโรคหลอดเลือดสมอง จนควบคุมตัวเองไม่ได้นั้น

นพ.สรไน อ่อนหวาน แพทย์ประจำโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า ตามปกติโดยทั่วไปทุกคนที่จะขับขี่รถไปบนท้องถนนจำเป็นที่จะต้องตั้งสติให้ดีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเจ็บป่วยหรือมีโรคประจำตัวหรือไม่ก็ตาม ส่วนผู้ที่ป่วยหรือมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคที่มีผลต่อการขับขี่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ หรือควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุหรือสิ่งไม่คาดคิดที่จะเกิดขึ้นบนท้องถนน ซึ่งจะมีผลทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นได้ ส่วนประเด็นการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้วมีผลต่อการควบคุมอารมณ์นั้น จำเป็นต้องให้แพทย์เฉพาะทางตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดจึงจะทราบ

ด้านพล.อ.ต.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ในฐานะเลขานุการอนุกรรมการปรับปรุงมาตรฐานสุขภาพของ ผู้ขับรถ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ตั้งคณะกรรมการร่วมประกอบด้วย แพทยสภา ราชวิทยาลัย กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อกำหนดมาตรฐานสุขภาพของผู้ขับขี่ ซึ่งได้รวบรวมมาตรฐานสุขภาพความปลอดภัยด้านการขับรถจากทั่วโลก โดยมีราชวิทยาลัยดูด้านวิชาการ และเชิญผู้มีส่วนร่วมมาให้ความเห็น กับขบ. ทั้งนี้ได้สรุปเป็นแนวทางปฏิบัติเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือต้องปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องที่สำคัญคือการออกกฎกระทรวง ซึ่งทางขบ. กำลังเร่งดำเนินการ โดยเหตุผลที่ใช้เวลาเพราะมีรายละเอียดเยอะมากนอกเหนือจากโรค คือ สภาวะของความเจ็บป่วย และการรักษา ตลอดจนประเภทการขับขี่ รถส่วนบุคคลหรือ รถสาธารณะ โดยจะต้องวางระบบเพื่อปรับแก้ให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ตลอดจนต้องดูในขั้นตอนการตรวจสุขภาพให้ทำได้สะดวก ทันเวลาและมีภาระรายจ่ายเพิ่มน้อยที่สุด ดังนั้นจึงต้องวางแผนปรับเกณฑ์เพิ่มไปทีละส่วน โดยค่อยเป็นค่อยไป

“เรื่องโรคจะไม่บอกเพียงว่าโรคใดที่ไม่สามารถขับรถได้ แต่ต้องดูเป็นสภาวะของโรคนั้นว่าอยู่ในภาวะที่ขับรถได้หรือไม่ เช่น โรคลมชัก หากมีอาการชักบ่อยๆ ก็ไม่อนุญาตให้ขับรถ แต่ถ้ารักษา ทานยาสม่ำเสมอจนไม่มีอาการมาแล้ว 2 ปี ก็จะปลอดภัยพอในการขับรถ และโรคเบาหวานที่รักษาควบคุมอย่างดี ก็อนุญาตให้ขับรถได้ เว้นแต่รุนแรง ถึงขั้นมีอาการหมดสติจึงไม่ปลอดภัย ส่วนใหญ่ แพทย์จะแจ้งเตือนตัวผู้ป่วยอยู่แล้ว ทั้งนี้ ทุกโรคหากผู้ป่วยรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงก็ควรหลีกเลี่ยงการขับรถ เพราะจะเป็นอันตราย ต่อตนเอง ต่อคนในครอบครัวที่ต้องนั่งรถไปด้วยและต่อประชาชนบนถนนอื่น เพียงเท่านี้จะลดความเสี่ยงได้โดยไม่ต้องรอให้ออกกฎหมายห้าม” รองเลขาธิการแพทยสภากล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน