อัยการธนกฤต ผอ.สนง.ประสาน ฯ นิติวัชร์ เผยหากทรัพย์สิน ผกก.โจ้เข้าข่ายฟอกเงินต้องใช้อำนาจ คกก.ธุรกรรม ตาม พรบ.ปราบปรามฟอกเงิน ยึดอายัดทรัพย์ หรือให้อัยการร้องศาลขอให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินได้ หากใช้วิธีการปกติ ทรัพย์อาจถูกยักย้ายถ่ายเทไปก่อน

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 64 ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นกรณีอำนาจตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในการดำเนินการกับทรัพย์สิน ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน กรณีผู้กำกับโจ้ ความว่า กรณีของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ ซึ่งมีประเด็นเรื่องการมีทรัพย์สินอยู่ในความครอบครองจำนวนมากทั้งที่เป็นเงินสดและทรัพย์สิน ซึ่งรวมถึงรถหรูราคาแพงจำนวนหลายสิบคันที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้สังคมมีข้อสงสัยถึงแหล่งที่มาของทรัพย์สินจำนวนมากมายเหล่านี้ ซึ่งผมขอให้ความเห็นส่วนตัวในประเด็นทางวิชาการด้านกฎหมาย โดยไม่มีเจตนาไปซ้ำเติมให้ร้ายใคร หรือเข้าไปเกี่ยวข้องหรือแทรกแซงการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด

ในเรื่องนี้อาจจะมีหลายท่านตั้งข้อสังเกตและข้อพิจารณาว่า ทรัพย์สินของผู้กำกับโจ้มีความเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ด้วยหรือไม่ ซึ่งการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ จะทำให้สามารถดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงินได้อย่างรวดเร็วทันการณ์ เพื่อไม่ให้มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไป จนไม่สามารถดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นในภายหลังได้ เพราะหากจะใช้กระบวนการตามกฎหมายปกติทั่วไปแล้ว ทรัพย์สินเหล่านี้อาจจะถูกยักย้าย ซุกซ่อน เปลี่ยนสภาพ หรือมีการถ่ายโอนทรัพย์สินไปยังบุคคลอื่นได้

พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 ได้กำหนดความผิดมูลฐานไว้ ซึ่งรวมถึงความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรไว้ด้วย

หากคดีนี้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มาตรา 5 และเป็นการกระทำกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน ก็อาจจะนำมาสู่มาตรการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นตามพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ได้

อำนาจตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ที่สำคัญในการดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน กล่าวโดยย่อได้ดังนี้

1. อำนาจในการตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
คณะกรรมการธุรกรรมตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มีอำนาจตามมาตรา 34 (1) ในการตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน โดยมาตรา 3 ได้กำหนดความหมายของธุรกรรมและทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้

2. อำนาจในการเข้าไปในเคหสถาน สถานที่ หรือยานพาหนะ เพื่อตรวจค้น ติดตาม ตรวจสอบ ยึด หรืออายัดทรัพย์สิน หรือพยานหลักฐาน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน

กรรมการธุรกรรม เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากเลขาธิการ มีอำนาจสำคัญตามมาตรา 38 ในการเข้าไป ในเคหสถาน สถานที่ หรือยานพาหนะ เพื่อตรวจค้น ติดตาม ตรวจสอบ ยึด หรืออายัดทรัพย์สิน หรือพยานหลักฐาน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ ทรัพย์สินหรือพยานหลักฐานดังกล่าวนั้นจะถูกยักย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพ ไปจากเดิม

3. อำนาจในการตรวจสอบรายงานและข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมและสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว คณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจตามมาตรา 34 (3) ในการดำเนินการตามมาตรา 48 ในการตรวจสอบรายงานและข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรม และหากคณะกรรมการธุรกรรมมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด คณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราวได้มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน และในกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินไปก่อน แล้วรายงานต่อคณะกรรมการธุรกรรมในภายหลังได้

4. อำนาจอัยการในการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

นอกจากนี้ มาตรา 48 ยังกำหนดว่า ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใด เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีอำนาจส่งเรื่องให้อัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้น ตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็วได้ด้วย โดยตามมาตรา 59 ศาลแพ่งจะเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการดำเนินการกับทรัพย์สินในคดีความผิดฐานฟอกเงิน โดยนำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน