จุฬาฯ เปิดผลพัฒนาวัคซีน mRNA ไทย ผ่านการทดลองในคน 2 เฟส ได้ผลดี-ภูมิขึ้นสูง กันเดลต้าได้ คาดว่าจะผลิตล็อตรีลิสต์เร็วสุดช่วงต้น ธ.ค.นี้

วันที่ 29 ก.ย.2564 ที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในการจัดเสวนา THAILAND COVID-19 VACCINE FORUM 2021 สถานการณ์ความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนไทยสู้โควิด-19 โดยทีมประเทศไทย โดย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้ เป็นการรวมตัวของทีมวิจัยประเทศไทยในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ถือเป็นการรวมตัวพร้อมหน้าพร้อมตาตั้งแต่เดือน ก.พ.2563 เป็นเวลา 1 ปีกับ 6 เดือนที่ผ่านมา หลังจากระดมสรรพกำลังร่วมกันทำงาน ซึ่งครั้งนี้มีความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนโควิด โดยทีมวิจัยของประเทศไทย

ด้าน นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ขณะนี้ผ่านด่านกระตุ้นในหนู ซึ่งพบค่าที่สูงหลายหมื่นไตเตอร์ (titer) ยิ่งสูงยิ่งป้องกันไวรัสไม่ให้เข้าเซลล์ ในลิงก็ได้ประมาณ 5 พันไตเตอร์ โดยขณะนี้ได้ทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 และเข้าสู่ระยะที่ 2 แล้ว ขณะเดียวกันระหว่างการทดสอบในอาสาสมัคร ก็ได้เตรียมโรงงานไทย ซึ่งโรงงานที่เป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับเราตลอด คือ ไบโอเนท เอเชีย และเพื่อความไม่ประมาท ได้มีการทำคู่ขนาน คือ รุ่น 2 โดยหากรุ่น 1 ป้องกันข้ามสายพันธุ์ไม่ได้ ก็จะมีรุ่น 2

จุฬาฯ เปิดผลพัฒนาวัคซีน mRNA ไทย ผ่านการทดลองในคน 2 เฟส ได้ผลดี-ภูมิขึ้นสูง กันเดลต้าได้

จุฬาฯ เปิดผลพัฒนาวัคซีน mRNA ไทย ผ่านการทดลองในคน 2 เฟส ได้ผลดี-ภูมิขึ้นสูง กันเดลต้าได้

นพ.เกียรติ กล่าวต่อว่า ส่วนคำถามว่า วัคซีนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันสูง มีความหมายจริงหรือไม่ในการป้องกันโรคในการป้องกันป่วยและล้มตาย คำตอบคือ จริง โดยหนูพันธุ์พิเศษที่ใส่โปรตีนให้ไวรัสเข้าเซลล์ได้นั้น พบว่า หนูที่ฉีดวัคซีนและไม่ฉีดวัคซีน (ฉีดไขมันเฉย) สามารถป้องกันในหนูรับวัคซีนแม้ได้ปริมาณต่ำ ก็สามารถป้องกันการเจ็บป่วย และป้องกันไม่ให้เชื้อเข้ากระแสเลือดได้ 100% และลดปริมาณเชื้อที่ใส่ในจมูกและปอดลงได้มากกว่า 10 ล้านเท่า

“หากตามต่อว่า ภูมิที่ขึ้นสูงจะตกเมื่อไหร่นั้น ข้อมูลในลิงตั้งแต่ ก.ค.2563 ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลไฟเซอร์ กับ โมเดอร์นา จะใช้เวลา 8 เดือนขึ้นไป ยิ่งหากเป็นอู่ฮั่นจะเกินปี จริง ๆ ภูมิธรรมชาติต้องตก ไม่ตกจะเรื่องใหญ่ เพราะร่างกายเราเจอสิ่งแปลกปลอมตลอด ต้องสร้างภูมิคุ้มกันตลอด หากเราเจออะไรแล้วสร้างตลอดและไม่หยุด ร่างกาย หรือเลือดเราจะข้นมากและจะเป็นโรค เป็นเส้นเลือดอุดตันได้ แต่ในลิงแม้ตกแล้ว 6 เดือน ภูมิก็ยังสูงอยู่” นพ.เกียรติ กล่าว

นพ.เกียรติ กล่าวอีกว่า ส่วนคำถามว่าป้องกันสายพันธุ์ข้ามสายพันธุ์อย่างเดลต้า เบต้า แกมม่า ได้หรือไม่ เราเอาเลือดที่ฉีดวัคซีนในลิงและหนูเอามาพิสูจน์ โดยทำที่ห้องปฏิบัติการของ สวทช. ซึ่งพบว่าป้องกันสายพันธุ์ได้ทุกสายพันธุ์ โดยเดลต้า ป้องกันได้ดีมาก ยิ่งโดสสูง แม้ภูมิตกก็ยังสูง ป้องกันได้หมด ประเด็นปัญหาคือ วัคซีนกระตุ้นภูมิสูงจะตกช้า ต่ำลงจะตกเร็ว เพราะเราไปเจอเชื้อติดง่ายและป่วยเร็ว คือ เดลตา จึงเป็นประเด็นว่าต้องมีการบูส

นพ.เกียรติ กล่าวว่า ส่วนการวิจัยในอาสาสมัครนั้น ต้องขอขอบคุณทุกท่าน โดยเราเริ่มกลางเดือน มิ.ย.2564 โดยจากการทดลองเฟส 1/2 กลุ่มอายุ 18-55 ปี ผลเบื้องต้นจำนวนอาสาสมัครยังน้อย การจะบอกว่าปลอดภัย 100% ยังต้องติดตามโครงการขนาดใหญ่ สำหรับผลเบื้องต้นยังไม่เจอผลข้างเคียงรุนแรง ส่วนใหญ่เล็กน้อยและดีขึ้นภายใน 1 วัน และไม่เกิน 2 วันครึ่ง ส่วนใหญ่หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย โดยเฉพาะเข็ม 2

นพ.เกียรติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผลรายบุคคล 10 กว่าท่านนั้น หากฉีดโดสสูง 50 ไมโครกรัม ตัวเลขขึ้นสูง 1 อาทิตย์หลังเข็ม 2 ซึ่งเต็มที่คือ 100% โดยตัวเลขสูงถึง 94% อย่างไรก็ตาม ส่วนการจับกับโปรตีนอยู่ที่ 2,500 ไตเตอร์ หากให้โดสต่ำกว่าจะขึ้นสูงใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะขึ้นสูง ซึ่งที่กล่าวมาคือ เป็นการจับโปรตีนของโควิด-19 ส่วนที่ว่าจะยับยั้งไม่ให้เข้าเซลล์หรือไม่ ก็ได้เช่นกัน และป้องกันข้ามสายพันธุ์ในคนได้หรือไม่ ได้เช่นกัน แม้เดลตาจะตกลงไป แต่ก็ยังป้องกันได้ ส่วนเบต้า แกมม่า ก็ลดลงมาหน่อย แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ของอ็อกซ์ฟอร์ด ที่น่าพอใจ

นพ.เกียรติ กล่าวด้วยว่า สำหรับเฟส 1 เราผ่านกลุ่มอายุ 18-55 ปีแล้ว ส่วนเฟส 1 อายุมาก 56-75 ปี นั้นฉีดครบ 2 เข็มแล้ว และอาทิตย์นี้จะครบ 1 อาทิตย์หลังเข็ม 2 ส่วนเฟส 2 อายุ 18-59 ปี ฉีดเข็ม 2 แล้วเช่นกัน ขณะนี้รอหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าจะไปต่ออย่างไร ส่วนไบโอเนท-เอเชีย ก็พร้อมเริ่มผลิตล็อตวัคซีนได้ คาดว่าจะผลิตล็อตรีลิสต์เร็วสุดช่วงต้น ธ.ค.นี้

นพ.เกียรติ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า จริง ๆ แล้ว ขอย้ำว่า ทุกเทคโนโลยีแพลตฟอร์มมีความหมายหมด หากมีครบวงจร มีคุณค่าหมด ต้องอาศัยทุกแพลตฟอร์ม แต่ชนิด mRNA ได้พิสูจน์ในโควิดชัดเจนว่า สปีดเร็วสุด ประสิทธิภาพ ซึ่งการใช้เวลาออกแบบจนทดลอง ได้เร็ว และจะเป็นเทคโนโลยีหนึ่งของอนาคต

ที่มาจาก : มติชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน