นักวิชาการ ตั้งคำถาม ปัญหาภาษีบุหรี่ ใครที่ต้องรับผิดชอบ หลังปรับวิธีคิดภาษีใหม่ เตือนสติซ้ำรอยปี 60 เอื้อให้อุตสาหกรรมบุหรี่ลดราคาสู้

จากกรณี สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยาสูบและชาวไร่ยาสูบเดินทางมาที่กระทรวงการคลังเพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรี โดยหวั่นว่าการปรับราคาและภาษีบุหรี่จะทำให้อุตสาหกรรมยาสูบของไทยเสียหายหนัก และตามที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบเรื่องอัตราภาษีบุหรี่ใหม่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมานั้น

เมื่อวันที่ 29 กันยายน รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย (สสท.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ต้องกลับไปดูว่าต้นตอของปัญหาเกิดตรงไหน สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่นั้นถูกต้องหรือไม่ ปัญหาเกิดเพราะกรมสรรพสามิตอ้างว่าจัดเก็บภาษีสินค้าทุกประเภทเหมือนกันหมดจากฐานราคาขายปลีกแนะนำ โดยอ้างว่าเป็นราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาด ทั้งที่ความจริงแล้วทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ก็อธิบายชัดเจนเรื่อง ความล้มเหลวของตลาด (market failures) ว่าสินค้าอันตรายอย่างเหล้า/บุหรี่รัฐต้องแทรกแซงไม่ให้ราคาถูกกำหนดโดยกลไกตลาด มิฉะนั้นจะมีการบริโภคเพิ่มขึ้น บุหรี่เป็นสินค้าที่ต้องควบคุมราคา แต่กรมสรรพสามิตกลับปล่อยให้ลดราคา หลบเลี่ยงภาษีจากร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 20 ทำให้เก็บภาษีลดลงซองละ 9.8 ถึง 20.3 บาท

“มีหลายคนโทษว่าเพราะอัตราภาษีตามมูลค่าเป็น 2 อัตรา ของปี 2560 เลยทำให้บุหรี่ลดราคาได้ ซึ่งที่จริงไม่ใช่ ถึงจะเป็นกี่อัตราก็ตาม ตามหลักแล้วจะปล่อยให้ลดราคาไม่ได้ ที่เคยขายซองละ 70 – 98 บาทก็ต้องเสียภาษีร้อยละ 40 ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ค้าแจ้งราคาเหลือ 60 บาทแล้วเสียภาษีร้อยละ 20 มีประเทศไหนเขาทำแบบนี้บ้าง ประเทศไทยเสียค่าโง่ไปเท่าไร อย่างน้อยดูได้จากการที่บุหรี่นำเข้าเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะที่เงินนำส่งรัฐของรัฐวิสาหกิจการยาสูบลดลงกว่า 40,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นี่ยังไม่นับผลกระทบถึงชาวไร่ยาสูบ และงบประมาณของรัฐที่จะสูญเสียในการรักษาผู้ป่วยเพิ่มขึ้น สสท. พยายามชี้ให้เห็นปัญหาและเรียกร้องให้แก้ไขเรื่องนี้มาตลอด” รศ.ดร.สุชาดา กล่าว

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ทนายความและอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การปล่อยให้บุหรี่ลดราคาไม่เคยมีปรากฏมาก่อน ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบกับองค์การอนามัยโลก โดยในเรื่องการจัดเก็บภาษียาสูบเพื่อการควบคุมการบริโภค การกำหนดระดับภาษียาสูบควรคำนึงถึงราคาขายปลีกสุดท้ายที่ผู้บริโภคจ่ายซื้อมากกว่าจะคำนึงถึงอัตราภาษีเพียงอย่างเดียว ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีความล้มเหลวของตลาด ที่ยืนบนหลักการว่า “ยาสูบเป็นสินค้าที่ต้องควบคุม” และข้อเสนอของ GATT/WTO ที่กำหนดว่าประเทศต่าง ๆ สามารถบังคับใช้มาตรการที่จำเป็น ซึ่งอาจตั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับราคาเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนได้ โดยมีเงื่อนไขคือต้องบังคับใช้ให้เหมือนกันทั้งสินค้าที่ผลิตในประเทศและที่นำเข้า

“ที่ผ่านมาบุหรี่ไทยมีการปรับราคาสูงขึ้นสอดคล้องกับกฎหมายควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกและของไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยาสูบไทย ตลอดจนชาวไร่ยาสูบตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 เป็นต้นมานั้น ต้องถามกลับไปยังกรมสรรพสามิตว่าที่ปล่อยให้บุหรี่นอกลดราคาเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะมีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทบุหรี่ต่างชาติ อย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้หวังว่า มติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาล่าสุดจะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้” ดร.วศิน กล่าว

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมยาสูบพยายามแทรกแซงการออกกฎหมายและการกำหนดนโยบายควบคุมยาสูบในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายภาษียาสูบ บริษัทบุหรี่ข้ามชาติสามารถเข้าถึงบุคลากรในหน่วยงานด้านภาษีสรรพสามิต การกำหนดภาษีสรรพสามิตบุหรี่ 4 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศโดยรวม รายได้ของรัฐลดลง เนื่องจากการกำหนด “ราคาขายปลีกแนะนำ” ที่ซับซ้อน เปิดช่องให้มีเลี่ยงภาษี บริษัทบุหรี่ข้ามชาติสามารถลดราคาได้ เด็กและเยาวชนก็สามารถเข้าถึงบุหรี่ได้ง่ายจากราคาบุหรี่นอกที่ลดราคา ชาวไร่ยาสูบก็ไม่ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังจึงควรแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดราคาขายปลีกแนะนำสำหรับบุหรี่ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน