แม่คนขับรถตู้มรณะเข้าขอขมาพ่อ แม่”น้องอิง”เด็ก 3 ขวบที่ติดในรถรับ-ส่ง น.ร.จนเสียชีวิต ทั้ง 2 ฝ่ายต่างร้องไห้ด้วยกัน จนแม่น้องอิงเป็นลมอีกครั้ง หลังจากเป็นลมตอนรดน้ำศพลูกสาว ตร.ส่งคนขับกับผู้ช่วยฝากขังศาล ตั้งข้อหาประมาทเป็นเหตุให้คนตาย ขณะที่กระทรวงศึกษาฯ-กรมการขนส่งทางบก ระบุมีมาตรการต่างๆ ดูแลควบคุมรถรับส่งน.ร.อยู่แล้ว แต่ไม่มีการเอาจริงเอาจัง และยังมีช่องโหว่จนเกิดเรื่องเศร้าไม่สิ้นสุด เรียกร้องจิตสำนึกของผู้รับผิดชอบทุกฝ่าย แนะวิธีการง่ายๆ ป้องกันเหตุสลด สอนเด็กบีบแตรให้คนข้างนอกเห็นความผิดปกติ ครูประจำรถตรวจสอบเด็กทั้งก่อนและลงรถอย่างละเอียด รวมทั้งคนขับรถต้องตรวจสอบภายในรถอย่างถี่ถ้วนก่อนจอดล็อก

14631080601463108074l

จาก กรณีนายอาทิตย์ รังษิโญ คนขับรถตู้รับ-ส่งนักเรียน จากหมู่บ้านไปส่งตามโรงเรียนต่างๆ ในจ.สมุทรปราการ ลืม “น้องอิง” ด.ญ.ปริมประภา ปัจจัยโญ อายุ 3 ขวบ นักเรียนชั้นอนุบาล 1 ศูนย์เด็กเล็กคลองบางกระบือ อบต.บางพลีใหญ่ ไว้ในรถนานกว่า 8 ช.ม. อ้างว่าขณะตระเวนขับรับนักเรียนจากหมู่บ้านจนครบตามจำนวน 13 คนแล้ว จู่ๆ รถเกิดแอร์เสียจึงต้องจอดรถทิ้งตากแดดไว้หน้าหมู่บ้าน โดยไม่ได้ตรวจสอบว่าเด็กนักเรียนลงจากรถครบทุกคนแล้วหรือยัง เป็นเหตุให้น้องอิงติดอยู่ในรถจนเสียชีวิตอย่าง น่าเวทนา เพราะเจอสภาพอากาศร้อนจัดและขาดอากาศ ท่ามกลางความเศร้าสลดของผู้ที่ทราบข่าว ตามที่นำเสนอไปแล้วนั้น

ความ คืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 12 พ.ค. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษา ธิการ(ศธ.) กล่าวว่า การลืมนักเรียนไว้ในรถนักเรียนเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่น่าเสียใจมากๆ แต่ก็ยังเกิดขึ้นอีกทั้งๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ซึ่งมันมากเพียงพอที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีบทเรียนได้แล้ว ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ ขึ้นมาได้อีก คิดว่ากระทรวงศึกษาฯ คงไม่สามารถออกมาตรการอะไรพิเศษมาจัดการกับปัญหานี้ได้ เนื่องจากสิ่งที่จะป้องกันได้ดีที่สุดคือการที่ผู้ประกอบการมีจิตสำนึก โดยเฉพาะจิตสำนึกกับเด็กๆ ในส่วนของโรงเรียนนั้น ที่ผ่านมาได้กำชับให้ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนเป็นพิเศษ เช่น การพานักเรียนไปทัศนศึกษาจะต้องมีครูควบคุมดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิดและ เพียงพอ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่รู้ประสีประสา ยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้

ด้าน นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า ทราบข่าวสลดที่เกิดขึ้นแล้ว แม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะไม่ใช่สถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) แต่สพฐ.จะย้ำเตือนสถานศึกษาในสังกัดให้สอดส่องเฝ้าระวังนักเรียนช่วงเปิด เทอมที่จะถึงนี้เป็นพิเศษ ส่วนตัว อยากให้กรณีที่เกิดขึ้นเป็นอุทาหรณ์สำหรับ ผู้ปกครอง รวมถึงผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบรับ-ส่งนักเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ให้ระมัดระวังอย่าหลงลืมไว้ในรถ นอกจากกรณีลืมนักเรียนไว้ในรถแล้วที่ผ่านมาก็มีข่าวพ่อแม่ทิ้งลูกไว้ในรถและ ดับเครื่องยนต์เพราะคิดว่าแค่ไปทำธุระเพียงครู่เดียว

ขณะที่ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดศธ.กล่าวว่า จะประสาน สพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) ขอให้กำชับสั่งการไปยังโรงเรียนและครู รวมถึงคนขับรถให้ดูแลนักเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ เพราะขนาดเป็นเด็กที่อยู่ในวัยที่พอจะช่วยเหลือตนเองได้ หากต้องติดอยู่ในรถที่จอดตากแดดนานขนาดนั้นก็เป็นอันตรายต่อชีวิตได้เช่นกัน สำหรับกรณีที่เป็นรถรับจ้างรับส่งนักเรียนซึ่งคนขับอาจไม่ได้ใส่ใจดูแลนัก เรียนเท่าที่ควรนั้น ทางโรงเรียนควรมอบหมายครูประจำชั้นให้หมั่นตรวจตรา หากพบว่านักเรียนในชั้นขาดเรียนครูต้องทราบด้วยว่าขาดเรียนเพราะสาเหตุอะไร โดยสอบถามไปยังผู้ปกครองโดยตรงเพื่อให้ทราบอย่างชัดเจน กล่าวคือจากนี้ไปเมื่อพบว่านักเรียนหายตัวไป ครูทุกคนต้องให้ความสำคัญและติดตามตัวเด็กทันทีที่ทราบ

ปลัด ศธ.กล่าวอีกว่า ในอดีตที่เคยมีการเสนอให้ติดตั้งเซ็นเซอร์ในรถรับ-ส่งนักเรียนเพื่อส่งเสียง เตือนหากดับเครื่องล็อกรถแล้วแต่ยังมีสิ่งมีชีวิตเคลื่อนไหวภายในรถนั้น เรื่องนี้ศธ.คงเข้าไปควบคุมยาก เพราะรถรับ-ส่งนักเรียนส่วนใหญ่เป็นของเอกชน และบางทีผู้ปกครองรวมกลุ่มกันจัดรถรับ-ส่งเองโดยไม่แจ้งโรงเรียนทราบ ซึ่งจุดนี้ไม่ได้อยู่ในการดูแลของทางราชการ ดังนั้น การสร้างความตระหนักรับผิดชอบให้กับครูในการตรวจเช็ก นักเรียนที่มาเรียน ตลอดจนการตรวจสอบนักเรียนในรถของคนขับรถรับ-ส่งนักเรียนจะช่วยป้องกันปัญหา ได้มากกว่า

“นอกจากการเน้นย้ำให้ครู สพฐ. และ สช. ตรวจตรานักเรียนแล้ว ทางโรงเรียนยังต้องใส่ใจกับรถรับ-ส่งนักเรียนทั้งของราชการและรับจ้างอีกทาง หนึ่งด้วย เนื่องจากตั้งแต่ปีพ.ศ.2536 ศธ.ได้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ.2536 ให้โรงเรียนได้นำไปปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน โดยระเบียบดังกล่าวระบุให้ผู้ดำเนินกิจการรถโรงเรียน ต้องควบคุมดูแลและเอาใจใส่เรื่องความปลอดภัยในการรับ-ส่งนักเรียน ต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้มสะท้อนแสง กว้างอย่างน้อย 35 ซ.ม. และยาวอย่างน้อย 85 ซ.ม. เขียนข้อความ “รถโรงเรียน” ตัวอักษรสีดำสูงไม่น้อยกว่า 15 ซ.ม. ติดอยู่ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวรถ เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 50 เมตร พร้อมกันนี้ยังต้องติดไฟกะพริบ สีเหลืองและเปิดขณะรับ-ส่งนักเรียน” ปลัดศธ.กล่าว

ปลัดศธ.กล่าวด้วยว่า ระเบียบดังกล่าวยังระบุให้รถทุกคันต้องมีเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือ นักเรียนเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ทั้งเครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก เหล็กชะแลง เครื่องมือปฐมพยาบาล ขณะที่คนขับรถต้องตรวจสอบสภาพรถและอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา ส่วนผู้ควบคุมดูแลนักเรียนต้องเป็นครูหรือบุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี มีหน้าที่ตรวจสอบจำนวนนักเรียนที่รับ-ส่งในแต่ละเที่ยวให้ถูกต้องครบถ้วนตรง ตามรายชื่อ พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อนักเรียนที่ใช้บริการด้วย โดยผู้ควบคุมดูแลนักเรียนต้องประจำอยู่กับรถโรงเรียนตลอดเวลาที่รับ-ส่งนัก เรียน เพื่อควบคุมดูแลและช่วยเหลือนักเรียนให้เกิดความปลอดภัยตลอดการเดินทาง

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงปีพ.ศ.2556 ที่ผ่านมา สช.เคยเสนอสำนักงานปลัด (สป.) ศธ. เพื่อขอแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ.2536 โดยกำหนดให้รถรับ-ส่งนักเรียนระดับต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ลงมา โดยเฉพาะรถตู้โรงเรียน ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณหรือเซ็นเซอร์ไว้ในรถทุกคัน เพื่อทำหน้าที่ส่งสัญญาณทันทีที่ล็อกรถแล้ว แต่ยังมีสิ่งมีชีวิตเคลื่อนไหวอยู่ภายในรถ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสลดขึ้นอีก แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบไป

สำหรับ ระเบียบดังกล่าวหากมีการปรับ ปรุงแก้ไขเพิ่มเติมแล้วจะส่งผลให้รถรับ-ส่งนักเรียนทุกคัน ไม่ว่าจะเป็นรถของโรงเรียนรัฐ หรือโรงเรียนเอกชน ต้องติดเครื่องมือ ดังกล่าวทุกคัน โดยที่ศธ.ไม่จำเป็นต้องเสนอเข้าครม.เพื่ออนุมัติงบประมาณ เนื่องจากเซ็นเซอร์ในขณะนั้นมีราคาต่อเครื่องไม่สูงมาก ส่วนกรณีที่เป็นรถรับจ้างรับ-ส่งนักเรียนนั้น ทางโรงเรียนต้นสังกัดของนักเรียนจะต้องกวดขันให้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวง อย่างไรก็ตาม เมื่อศธ.ยังไม่ปรับปรุงแก้ไขระเบียบข้างต้นจึงไม่สามารถบังคับให้รถทุกคัน ติดเซ็นเซอร์ได้ ส่งผลให้ปัจจุบันจึงมีรถรับ-ส่งนักเรียนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ติดตั้ง เซ็นเซอร์ไว้ภายในรถ ขณะที่รถรับจ้างรับ-ส่งนักเรียนแทบไม่มีเครื่องมือดังกล่าวภายใน รถเลย

วัน เดียวกัน นายณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) กล่าวว่า ในส่วนของกรมจะรับผิดชอบดูแลด้านมาตรฐานความปลอดภัยของตัวรถโรงเรียนหรือรถ รับส่งนักเรียนเท่านั้น ปัจจุบันกรมออกกฎกระทรวงภายใต้พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ.2522 กำหนดให้ผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนที่มีที่นั่งเกินกว่า 12 ที่นั่ง(รถบัส) ต้องมายื่นขอจดทะเบียนขอใบอนุญาตประกอบขนส่งนักเรียนเป็นการเฉพาะ พร้อมทั้งต้องติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยประจำรถด้วย แต่กฎหมายยังไม่ได้ครอบคลุมถึงรถขนาดเล็กที่มีที่นั่งน้อยกว่า 12 ที่นั่ง คือ รถตู้ และรถกระบะ ที่มักเกิดปัญหาขึ้นบ่อยครั้ง

รอง อธิบดี ขบ.กล่าวอีกว่า ดังนั้น เร็วๆ นี้กรมจะออกระเบียบเพิ่มเติมบังคับให้รถโรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นรถตู้และรถ กระบะ ต้องยื่นขอใบอนุญาตประกอบการขนส่งนักเรียนตามกฎหมายด้วย และจะต้องติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยภายในตัวรถเหมือนรถขนาดใหญ่ เช่น กำหนดให้ทาสีตัวรถเหลืองคาดดำเพื่อให้รถคันอื่นเห็นเด่นชัด มีป้ายเขียนข้อความว่า “รถรับส่งนักเรียน” เป็นตัวอักษรสีดำ ติดไฟสัญญาณสีเหลืองอำพัน หรือสีแดง ไว้ที่ด้านหน้าหรือด้านท้ายของตัวรถ และมีเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือนักเรียนเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ เครื่องดับเพลิง และค้อนทุบกระจก

“ปัจจุบันกรมบังคับเฉพาะ รถโรงเรียนที่เป็นรถบัสเท่านั้น แต่ภายในปีนี้จะออกระเบียบเพิ่ม บังคับรถตู้และรถกระบะด้วย และต้องติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยเหมือนรถใหญ่ ส่วนการแก้ไขปัญหาการลืมเด็กเล็กทิ้งไว้ในรถนั้น กรมมีแนวคิดออกระเบียบกำหนดห้ามรถโรงเรียนหรือรถรับส่งนักเรียนทุกประเภทติด ฟิล์มที่กระจกรถ แต่ให้ใช้การติดผ้าม่านบังแดดแทน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับนักเรียนที่อยู่ในรถ เช่น กรณีลืมเด็กไว้ หากเป็นผ้าม่านเด็กสามารถเปิดม่านร้องขอความช่วยเหลือจากภายนอกได้ หรือคนที่เดินผ่านไปผ่านมาอาจจะมองเห็นและช่วยเหลือได้ทัน ซึ่งจะคล้ายๆ กับมาตรการของรถแท็กซี่ที่ปัจจุบันกรมออกระเบียบห้ามติดฟิล์มและติดม่าน เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารภายในรถ” รองอธิบดี ขบ.กล่าว

รอง อธิบดี ขบ.กล่าวด้วยว่า สำหรับ ผู้ประกอบการที่นำรถป้ายดำ หรือรถส่วนบุคคลที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นรถนักเรียนมาให้บริการรับและส่งนัก เรียน ถือว่าผิดกฎหมายตามพ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ข้อหาใช้รถผิดประเภท และไม่มีใบอนุญาตประกอบการขนส่ง มีโทษหนักจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ ส่วนกรณีฝ่าฝืนไม่ติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยในตัวรถ หากตรวจพบมีโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท

ส่วนความคืบหน้าด้านคดี พ.ต.อ.วิชิต บุญชินวุฒิกุล ผกก.สภ.บางปู จ.สมุทรปราการ กล่าวว่าหลังเกิดเหตุตำรวจได้แจ้งข้อหานายอาทิตย์ รังษิโญ อายุ 29 ปี คนขับรถตู้ และนายสาธิต สุวรรณจักร อายุ 43 ปี ผู้ช่วย ข้อหาร่วมกันกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หลังจากสอบปากคำผู้ต้องหาและรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว เชื่อว่าน่าจะเกิดจากความประมาทของทั้งสองคน ซึ่งช่วงบ่ายวันนี้นำตัวผู้ต้องหาทั้งสองไปฝากขังต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ เป็นที่เรียบร้อย ส่วนเรื่องการเยียวยานั้นทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้มีการพูดคุย เนื่องจากผู้ปกครองเด็กยังอยู่ในอาการเศร้าโศกเสียใจ และยังติดภารกิจจัดงานศพ

ผกก.สภ.บางปูกล่าวต่อว่า มาตรการป้องกันหลังจากนี้เท่าที่คุยกับหน่วยที่เกี่ยวข้องจะได้ตรวจสอบผู้ ประกอบการรถตู้รับส่งนักเรียนในพื้นที่รับผิดชอบ และไปกำชับเรื่องความเอาใจใส่ดูแลรับผิดชอบเด็ก นักเรียน รวมถึง ผู้ปกครองเองก็ต้องเข้าไปแนะนำแนวทางการเลือกรถรับส่งของบุตรหลานด้วย ในส่วนของสถานศึกษาจากนี้ต้องตรวจสอบผู้ประกอบการที่เข้ามารับส่งนักเรียนใน สถานศึกษาของตนเพื่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียน โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้วในพื้นที่ ซึ่งน่าจะเป็นอุทาหรณ์ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ไขอย่างจริงจัง

ด้าน นายศักดิ์นิพนธ์ สว่างวงศ์ ผอ.สพป.เขต 2 สมุทรปราการ กล่าวว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบทราบว่าเด็กนักเรียนที่เสียชีวิตยังไม่ได้อยู่ในความ ดูแลของเขตเพราะอายุไม่ถึงเกณฑ์ ยังอยู่ในความดูแลของอบต.บางพลีใหญ่ แต่ในส่วนของมาตรการดูแลความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนในส่วนของเขตพื้นที่ การศึกษาเขต 2 มีทั้งหมด 71 แห่ง โดยรับเด็กนักเรียนตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป ที่ผ่านมาก่อนเปิดเทอมได้มอบนโยบายให้ทุกโรงเรียนเรียกประชุมผู้ปกครองและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้องกับยานพาหนะ เช่น รถรับ-ส่งนักเรียน ต้องมีความระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัย ไม่ควรขับรถเร็วและต้องตรวจดูเด็กทุกครั้ง ทั้งคนขับและคนดูแลเด็ก

วัน เดียวกัน น.ส.ธนัชชา ปัจจัยโญ มารดาของน้องอิง เด็กที่เสียชีวิต พร้อมด้วยญาติเดินทางไปรับศพน้องอิงจากสถาบันนิติเวชวิทยา ร.พ.ตำรวจ นำศพมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัด น้อยสุวรรณนาราม หรือวัดคลองเก้า ท่ามกลางบรรยากาศโศกเศร้า มีพิธีรดน้ำศพเวลา 16.30 น. โดยน.ส.ธนัชชาหลังจากรดน้ำศพบุตรสาวแล้วได้เป็นลมล้มพับ ญาติต้องช่วยกันปฐมพยาบาลและช่วยกันปลอบให้กำลังใจ

น.ส.ธนัช ชาเปิดใจทั้งน้ำตาว่า ตนมีลูก 5 คน ประกอบอาชีพขายของชำในตลาดเพชรอารีย์ น้องอิงเป็นคนลูกสุดท้อง วันเกิดเหตุ ส่งน้องอิงขึ้นรถไปโรงเรียนเวลาประมาณ 07.00 น. เมื่อวานนี้ โดยเป็นวันเปิดเทอม วันที่สอง จากนั้นตนไปขายของที่ตลาดกระทั่งได้รับแจ้งข่าวร้ายของลูกสาว ซึ่งตนเสียใจมาก

“อยากให้คนขับรถมีความรอบคอบมากกว่านี้ รถก็คันไม่ได้ใหญ่มาก ถึงแม้ว่าตอนเด็กขึ้นหรือลงจากรถไม่ได้เช็กว่ามีกี่คนก็ตาม แต่เมื่อส่งนักเรียนหมดแล้วก็น่าจะขึ้นไปตรวจสอบรถตามเบาะนั่งต่างๆ ว่าเด็กนักเรียนลงหมดหรือยัง คงจะไม่เสียเวลามากนัก ขอฝากคนขับรถที่รับส่งนักเรียนคันอื่นด้วย เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้เด็กจะทรมานมาก แค่เราเดินตากแดดเพียงไม่กี่นาทีก็ยังรู้สึกปวดแสบปวดร้อน แต่นี่เด็กติดอยู่ในรถเกือบทั้งวันจะทรมานขนาดไหน และอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำชับเกี่ยวกับเรื่องคนขับรถให้มาก” แม่ผู้สูญเสียลูกกล่าว

น.ส.ธนัชชากล่าวอีกว่า น้องอิงบอกว่าอยากไปโรงเรียนมาก เสื้อก็ไม่ได้ไปจ้างเขาปัก แม่เป็นคนปักให้เองกับมือ น้องอิงอยากไปโรงเรียนเพราะมีพี่สาวอีกคนเรียนอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้

ขณะ ที่นางมั่นฟ้า แซ่ลิ้ม อายุ 55 ปี มารดาของคนขับรถตู้คันเกิดเหตุ นำพวงมาลัยเข้าขอขมาพ่อและแม่ของน้องอิง ทำให้ต่างฝ่ายต่างร้องไห้กันระงมด้วยความเศร้าโศกเสียใจ โดยแม่ของน้องอิงร้องไห้เสียใจจนเป็นลมอีกครั้ง ญาติต้องปฐมพยาบาลและคอยให้กำลังใจ สำหรับศพน้องจะสวดอภิธรรมศพ 3 คืน กำหนดฌาปนกิจศพวันอาทิตย์ที่ 15 พ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงาน เพิ่มเติมว่า จากเหตุสลดเด็กหรือนักเรียนติดอยู่รถรับส่งจนเสียชีวิตหลายครั้งต่อเนื่อง กัน จนสร้างความเศร้าสลดแก่ครอบครัวและสังคมที่ทราบข่าว ได้มีการแนะนำวิธีการเบื้องต้นที่ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนเพื่อไม่ให้เกิด เรื่องเศร้าสลดขึ้นอีก อาทิ การสอนให้เด็กบีบแตรรถเพื่อส่งสัญญาณให้คนภายนอกรู้ถึงความผิดปกติ หรือการสอนให้เด็กรู้จักเปิดประตูรถเอง นอกจากนี้ยังแนะวิธีให้ครูผู้ดูแลประจำรถตรวจสอบเด็กทั้งตอนขึ้นและลงจากรถ อย่างละเอียดรอบคอบ และที่ต้องสร้างจิตสำนึกอย่างมากก็คือ คนขับรถต้องตรวจสอบภายในรถอย่างละเอียดทุกครั้งว่ามี ผู้โดยสารอยู่ในรถหรือไม่ก่อนจอดรถทิ้งไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน