‘สึนามิ’ คลื่นยักษ์หายนะ มีจุดเริ่มต้นเมื่อเวลา 07.58 น. วันที่ 26 ธันวาคม 2547 (ตามเวลาประเทศไทย) เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ศูนย์กลางอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

ห่างจากจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 580 กิโลเมตร ที่ละติจูด 3.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 95.7 องศาตะวันออก ขนาดความรุนแรง 8.9 ริกเตอร์

ส่งผลกระทบเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ รวมถึงอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร

ต่อมาเวลา 08.30 น. เกิดแผ่นดินไหวรู้สึกได้อีกครั้ง ศูนย์กลางอยู่บริเวณรัฐฉาน ประเทศพม่า ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 200 กิโลเมตร ที่ละติจูด 20.76 องศาเหนือ 98.04 องศาตะวันออก มีขนาดประมาณ 6.4 ริกเตอร์ ทำให้เกิดความสั่นสะเทือนในหลายจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน

แผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางบริเวณเกาะสุมาตรา ที่เกิดขึ้นใต้น้ำนี้เอง ได้ก่อให้เกิดคลื่นน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า ‘สึนามิ’ (TSUNAMI) หรือคลื่นอ่าวเรือ หรือคลื่นชายฝั่ง ส่งผลกระทบต่อสถานที่ท่องเที่ยว บริเวณชายฝั่งไม่ว่าหาดป่าตอง หาดกมลา หาดกะรน รวมถึงหาดในยาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติภูเก็ต รวมถึงประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย อย่างรุนแรง

สำหรับประเทศไทยถือเป็นเหตุการณ์ ‘สึนามิ’ ครั้งแรก และร้ายแรงเกินจะนึกฝัน

เหตุการณ์สึนามิไทย ที่ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และสูญหายอีกจำนวนมาก

บ้านเรือนประชาชน รีสอร์ต และโรงแรม ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน มูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท

นอกจากนี้ยังสูญเสีย คุณพุ่ม เจนเซ่น พระโอรสในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ขณะที่คุณพุ่มเล่นเจ็ตสกีอยู่ชายหาดโรงแรมมันดะเลย์รีสอร์ต บ้านเขาหลัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา สิริอายุ 21 ปี

วันนี้ ‘สึนามิ’ ผ่านไปครบ 13 ปี

 

 

เหตุการณ์ ‘สึนามิ’ ครั้งสำคัญของโลก
1 เมษายน พ.ศ. 2489 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 ริกเตอร์ ในหมู่เกาะเอลูเทียน รัฐอลาสกา สหรัฐอเมริกา ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ ‘สึนามิ’ เข้าถล่มหมู่เกาะฮาวาย มีผู้เสียชีวิต 159 ราย

5 พฤศจิกายน พ.ศ.2493 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ริกเตอร์ บริเวณชายฝั่งด้านใต้ของอ่าวกัมชัตกา (แถบแปซิฟิก) บริเวณด้านตะวันออกไกลของรัสเซีย ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิเป็นบริเวณกว้างทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ ด้วยความเร็วคลื่นกว่า 500 ไมล์ หรือราว 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

9 มีนาคม พ.ศ.2500 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.3 ริกเตอร์ ที่หมู่เกาะเอลูเทียน ซ้ำอีก ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ขนาดความสูง 75 ฟุต คลื่นเดินทางไกลเป็นความยาวกว่า 2,440 ไมล์ หรือราว 3,904 กิโลเมตร ทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยความเร็วประมาณเกือบ 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

23 พฤษภาคม พ.ศ.2503 สึนามิถล่มฮาวายอีกครั้ง อันเนื่องจากแผ่นดินไหวขนาด 8.3 ริกเตอร์ในประเทศชิลี ความเสียหายส่วนใหญ่เกิดในหมู่บ้านฮิโล ของฮาวาย มีผู้เสียชีวิต 61 ราย อาคารบ้านเรือนพังทลายกว่า 537 แห่ง

29 พฤศจิกายน พ.ศ.2518 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ริกเตอร์ ที่ฮาวายอีกครั้ง ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิสูง 47 ฟุต มีผู้เสียชีวิต 2 ราย

17 กรกฎาคม พ.ศ.2541 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.1 ริกเตอร์ ที่ปลายสุดด้านตะวันตกของทะเลบิสมาร์ค และใน 20 นาทีต่อมา ก่อให้คลื่นสึนามิพุ่งเข้ากระแทกชายฝั่งใส่หมู่บ้านในปาปัวนิวกินี และก่อให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณยาวตามริมชายหาด 32 กิโลเมตร มีผู้เสียชีวิต 2,202 ราย บาดเจ็บ 1,000 ราย ประชาชนกว่าหมื่นคนที่รอดชีวิตต้องไร้ที่อยู่อาศัย

26 ธันวาคม 2547 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ ที่เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย เกิดคลื่นสุนามิ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่าหมื่นราย ในอินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย พม่า และไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน