คพ. สรุป สถานการณ์คุณภาพอากาศปี 2564 แนวโน้มดีขึ้นกว่าปี 63 เผย ‘นครศรีฯ’ ดีสุด ‘ลำปาง’ แย่สุด พื้นที่กทม.-ปริมณฑล ฝุ่นPM2.5 เกินมาตรฐาน 67 วัน

วันที่ 4 ก.พ.65 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สถานการณ์คุณภาพอากาศ ปี 2564 มีการบริหารจัดการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และปัญหาหมอกควันภาคเหนือ โดยการจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง และแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหาด้านฝุ่นละออง

ภาพรวมคุณภาพอากาศดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าเฉลี่ยรายปีทั่วประเทศ 21 มคก./ลบ.ม. (ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 9) ฝุ่นละออง PM10 มีค่าเฉลี่ยรายปีทั่วประเทศ 40 มคก./ลบ.ม. (ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 7)

สำหรับก๊าซโอโซน มีค่าเฉลี่ย 8 ชั่วโมงสูงสุด เฉลี่ยทั้งประเทศ 84 มคก./ลบ.ม. (เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 2) มลพิษหลักที่ยังเป็นปัญหาในพื้นที่เดิม คือ ฝุ่นละออง PM2.5 (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่ภาคเหนือ) ฝุ่นละออง PM10 (ตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี) และก๊าซโอโซน (พื้นที่ทั่วไปในทั่วประเทศที่ไม่ใช่บริเวณริมถนน)

ปี 2564 จังหวัดที่มีคุณภาพอากาศดีที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นครศรีธรรมราช นราธิวาส ยะลา สงขลา และสตูล ตามลำดับ ซึ่งไม่มีจำนวนวันที่มลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐาน

ส่วนจังหวัดที่มีปัญหาคุณภาพอากาศมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ลำปาง เชียงราย สระบุรี ตาก และพิษณุโลก ตามลำดับ โดยมีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 70 68 66 60 และ 57 วัน ตามลำดับ

สำหรับมาตรการและแนวทางจัดการคุณภาพอากาศในภาพรวม คือ การลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด ควบคุมไม่ให้มีการเผาในที่โล่งช่วงที่มีฝุ่นละอองสูง นโยบายส่งเสริมการตัดอ้อยสด ลดอ้อยไฟไหม้ ขอความร่วมมือประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และหมั่นบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้ก่อควันดำ ส่งเสริมการปฏิบัติงานแบบ Work From Home ในช่วงที่ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 สูง และเพิ่มพื้นที่สีเขียวพื้นที่วิกฤต

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ปี 2564 ภาพรวมทั้งพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้น จำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน 67 วัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 9) การดำเนินงานมีการขับเคลื่อนมาตรการตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 ข้อ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ การจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ภายใต้การบริหารจัดการของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)

มีการรายงานสถานการณ์แบบ Real-time ผ่านเว็บไซต์ Air4Thai.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ Facebook “ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)” การพยากรณ์ฝุ่นละอองและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วัน เพื่อให้หน่วยงานและประชาชนเตรียมรับมือสถานการณ์ รวมทั้งการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจจับรถควันดำ การดำเนินโครงการร่วมกับภาคเอกชนภายใต้โครงการบำรุงรักษารถ ลดฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้มีการเผาในที่โล่งในช่วงที่ฝุ่นละอองสูง และมาจากประชาชนลดกิจกรรมการเดินทาง

สำหรับสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 103 วัน (ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 8) จุดความร้อนสะสมมีค่า 61,776 จุด (ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 52) ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 40 มคก./ลบ.ม. (ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 13) สาเหตุหลักมาจากการเผาในพื้นที่การเกษตรจำนวนมากประกอบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ส่งผลให้มีการลุกลามของไฟป่าอย่างรวดเร็ว

โดยพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีพื้นที่เผาไหม้รวม 9.742 ล้านไร่ 5 จังหวัดที่มีพื้นที่เผาไหม้สูงสุด ได้แก่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ ตาก และนครสวรรค์ การจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ประชุมถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือเพื่อปรับแผนการดำเนินงานในปีต่อไป

และขับเคลื่อนการดำเนินงานและลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันในระดับพื้นที่ มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเฝ้าระวัง เช่น เทคโนโลยีอวกาศตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ Line chatbot: Firemanth บัญชาการเฝ้าระวังและดับไฟป่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บลดเผา และแอปพลิเคชันบริหารการเผาในที่โล่ง)

ส่วนพื้นที่ ต.หน้าพระลาน จ.สระบุรี ฝุ่นละออง PM10 มีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 101 วัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 10) เนื่องจากการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจากโรงโม่บดย่อยหิน โรงปูนซีเมนต์ โรงปูนขาว เหมืองหินในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงการจราจร การบรรทุกขนส่งในพื้นที่ และถนนสาธารณะที่มีสภาพชำรุด ปริมาณฝุ่นละออง PM10 เฉลี่ยรายปี 98.6 มคก./ลบ.ม. (ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 8)

การจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM10 มีการประชุมหารือและผลักดันให้นำนโยบาย และมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองไปสู่การปฏิบัติและบังคับใช้อย่างเข้มงวด การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ ตรวจการณ์และเฝ้าระวังปัญหาฝุ่นละอองแบบ Spot Check และตรวจสอบตรวจจับการระบายฝุ่นละอองในรูปของเขม่าควันดำจากรถใช้งานในพื้นที่หน้าพระลาน

พื้นที่ ต.มาบตาพุด จ.ระยอง สารอินทรีย์ระเหยง่ายประเภทสาร 1,3 บิวทาไดอีน และสาร 1,2 ไดคลอโรอีเทน มีแนวโน้มคงที่ แต่สารเบนซิน มีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากแหล่งกำเนิดมลพิษหลักในพื้นที่คือโรงงานอุตสาหกรรมเคมีที่มีการปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่ายออกสู่บรรยากาศ การจัดการแก้ไขปัญหาสารอินทรีย์ระเหยง่าย

มีการติดตามตรวจสอบสถานการณ์สารอินทรีย์ระเหยง่ายในพื้นที่จังหวัดระยอง 11 สถานี และสื่อสารข้อมูลให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง ควบคุม และกำกับดูแลสถานประกอบการในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีการจัดทำร่างกฎหมายและคู่มือแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโรงงานปิโตรเคมี ทบทวนการดำเนินงานแก้ไขปัญหา และจัดทำแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาสารอินทรีย์ระเหยง่ายในพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียงจังหวัดระยอง

ด้านสถานการณ์หมอกควันข้ามแดนและไฟป่าพรุภาคใต้ ปี 2564 ภาพรวมมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา พบจำนวนจุดความร้อนในพื้นที่ป่าพรุเล็กน้อย และพบฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน (ค่าสูงสุดเท่ากับ 58 มคก./ลบ.ม. ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต) การดำเนินงานเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคใต้ มีการติดตามตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคใต้ และเผยแพร่ข้อมูลคุณภาพอากาศ ผ่านเว็บไซต์ air4thai.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ Facebook ศกพ. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดทำแนวกันไฟ

รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมป่าไม้โดยสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11-12 (จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดนครศรีธรรมราช) ตรวจเช็คระดับน้ำผิวดินอย่างต่อเนื่อง จัดอบรมเครือข่าย สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกัน รักษาป่าและควบคุมไฟป่า รวมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ดับไฟป่าให้กับเครือข่ายภายใต้โครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) คพ.ประสานการดำเนินงานกับกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักเลขาธิการอาเซียนอย่างใกล้ชิด ดำเนินงานภายใต้กลไกขับเคลื่อนข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน

นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้เสนอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกันตั้งเป้าหมายในการลดจุดความร้อนในภูมิภาคลงร้อยละ 20 ตาม โรดแม็ปฉบับใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงเพื่อเป็นเป้าหมายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในภูมิภาคอย่างยั่งยืนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน