‘ปลาร้า’โภชนาการมาก แต่โซเดียมสูง เสี่ยงไตพัง ไม่ควรกินเกิน 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน กรมอนามัยย้ำเลือกซื้อปลาร้า ที่มี อย. จากแหล่งที่เชื่อถือได้ กินต้องปรุงสุก

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีสำนักพระบิดามีการผลิตปลาร้าบอง น้ำปลาร้า ไม่ได้มาตรฐานและนำไปขาย ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลต่ออาหารประเภทนี้ ว่า การเลือกซื้อปลาร้าต้องต้มสุก สะอาด มีแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ กรณีซื้อแบบบรรจุขวดควรดูเลขสารบบอาหาร หรือดลข อย. หากซื้อแบบไม่บรรจุขวด ควรดูว่ามีสิ่งเจือปน สีและกลิ่นผิดแปลกจากที่เคยกินหรือไม่ โดยเลือกซื้อจากสถานที่จำหน่ายที่น่าเชื่อถือและคุ้นเคย และก่อนบริโภคทุกครั้งควรนำไปทำให้สุก ปรุงด้วยความร้อนอุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที เพื่อลดความเสี่ยงพยาธิใบไม้ตับ

สำหรับผู้ประกอบการควรคำนึงถึงความสะอาดและปลอดภัย เลือกวัตถุดิบหรือปลาที่มีคุณภาพ มีระยะเวลาในการหมักที่เหมาะสม หากเป็นปลาส้มให้หมักนานมากกว่า 3 วัน ส่วนปลาร้าให้หมักนานมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป กระบวนการผลิตต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่สะอาด มีมาตรฐาน และมาตรการป้องกันการปนเปื้อน น้ำที่ใช้ในการผลิตต้องมีคุณภาพน้ำดื่มตามมาตรฐานของกรมอนามัย สถานที่เก็บวัตถุดิบต้องสะอาดเป็นสัดส่วน มีการป้องกันการปนเปื้อน ผู้ปฏิบัติงานต้องมีสุขอนามัยดี

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ส่วนด้านโภชนาการ ปลาร้าดิบปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 148 กิโลแคลลอรี มีโปรตีน 15.3 กรัม ไขมัน 8 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3.9 กรัม เหล็ก 3.4 กรัม วิตามินบี 1 0.02 กรัม วิตามินบี 2 0.16 กรัม และไนอะซิน 0.8 กรัม จัดว่าเป็นอาหารที่มีโภชนาการสูง เพราะปลาร้าคือแหล่งโปรตีนชั้นดีเมื่อเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์อื่นๆ มีวิตามินแร่ธาตุหลายชนิด และยังเป็นแหล่งของโพรไบโอติกส์อีกด้วย แต่ควรกินในปริมาณที่เหมาะสม ปลาร้าต่วงที่มาจากทั้งโรงงาน และตลาด ปริมาณรวมโซเดียมของเกลือและผงชูสใกล้เคียงกัน โดยปลาต่วงของโรงงานจะมีโซเดียม 5,057 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม และจากตลาดจะมีโซเดียม 5,145 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ปลาร้าส้มตำปรุงสำเร็จที่นิยมนำมาปรุงอาหาร มีโซเดียม 5,647 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ขณะที่ปลาร้าสับแจ่วบอง มีโซเดียม 5,791 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม

“ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าใน 1 วัน ไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม หรือเฉลี่ยไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร ดังนั้น ปลาร้าไม่ควรบริโภคมากกว่า 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน หากบริโภคเป็นประจำ หรือมากเกินไป ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะโรคไตเรื้อรัง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน