18 ม.ค. 2561 นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความรำลึก 10ปี ของการเสียชีวิตของ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หรือ “หมอหงวน” ผู้ผลักดันโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “30บาทรักษาทุกโรค” ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2551 โดยระบุว่า

“ทำไมผมและเพื่อนอีกหลายคนจึงอยากทำงานกับนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์
……………………………………………

วันนี้..ครบ 10 ปี การเสียชีวิตของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ นายแพทย์หนุ่มใหญ่ที่เป็นตำนานของวงการสาธารณสุขไทย
.
ชื่อของนายแพทย์สงวน ซึ่งผมมักเรียกอย่างคุ้นเคยว่า “พี่หงวน” ถูกเอ่ยขานทุกครั้งเมื่อใครก็ตามพูดคุยเรื่องราวเกี่ยวกับนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค”
.
ที่จริง พี่หงวนมีผลงานอีกมากมายที่ผมนึกถึง ตลอดช่วงเวลาเกือบ 34 ปีที่ได้นับถือเป็นพี่น้องกัน
.
ผมเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อ พ.ศ.2517 ตอนนั้นพี่หงวนเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 เราเรียกกันว่า ชั้น “ปรีคลินิก” แต่เขายังเรียนในชั้นเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ และบางเวลาก็ข้ามไปเรียนที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งอยู่ติดกัน
.
พี่หงวนเป็นนักกิจกรรมนักศึกษาตัวยง ที่ชอบคิด ชอบเขียนทั้งร้อยแก้วร้อยกรอง ผมเคยอ่านบทกวีที่น่าทึ่งของผู้ใช้นามปากกาว่า “พงศา อารัมภ์” จนอยากรู้จักตัวเป็นๆว่าเขาเป็นคนอย่างไร ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง
.
พี่หงวนยังเป็นบรรณาธิการหนังสือมหิดลสาร ประธานชมรมรัฐศึกษา นายกสโมสรนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ และเป็นนายกองค์การบริหาร สหพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ช่วงเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
.
ตึกสันทนาการของคณะวิทยาศาสตร์ คือศูนย์รวมกิจกรรมของนักศึกษามหิดลในขณะนั้น เราทั้งทำกิจกรรมในเวลาบ่ายและเย็น กวนกาวเพื่อติดโปสเตอร์ในเวลาค่ำ บางครั้งประชุมกันถึงดึกดื่น พี่หงวนมักเดินข้ามไปมาระหว่างคณะฯ สลับไปมาระหว่างการประชุมเรื่องกิจกรรมนักศึกษากับการขึ้นตึกผู้ป่วยอยู่เสมอ
.
หลังปี 2519 พี่หงวนไปทำงานที่โรงพยาบาลราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ สร้างกิจกรรมสาธารณสุขชุมชนที่เลื่องลือจนโรงพยาบาลราษีไศลกลายเป็น “ตักกศิลา”ของนักศึกษาในยุคนั้น ที่มีความใฝ่ฝันในการดูแลผู้ยากไร้ในชนบท ทุกช่วงปิดเทอมมีนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล และนักศึกษาสายสาธารณสุขอื่นๆ ไปขอฝึกงานกันคลาคล่ำ
.
ต่อมา พี่หงวนย้ายกลับเข้ามาทำงานในกระทรวงสาธารณสุข และกลายเป็นนักคิดคนสำคัญที่ผลักดันงานวิจัยมากมายซึ่งนำไปสู่การปฏิรูประบบสาธารณสุขสำคัญๆในช่วงทศวรรษ 2530-2540 แล้วสะสมองค์ความรู้เหล่านั้นจนนำไปสู่การผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำเร็จได้ใน พ.ศ.2544
.
น่าเสียดายที่พี่หงวนอายุสั้น จากโลกนี้ไปด้วยอายุเพียง 55 ปี
.
ผมยังจำภาพวันที่เพื่อนพ้องน้องพี่ไปเยี่ยมพี่หงวนที่โรงพยาบาลรามาธิบดีก่อนเสียชีวิตไม่นาน เราร้องเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ที่เรารู้ว่าพี่หงวนชอบและฝังใจ เสียงเพลงวันนั้นกะท่อนกะแท่น บางคนร้องไม่จบ เพราะทนกลั้นน้ำตาไม่อยู่
.
ผมมาทบทวนดูว่า ทำไมพี่หงวนทำงานออกมาได้มากมายในช่วงชีวิตของเขา
ทำไมเมื่อน้องๆต้องการคำปรึกษา จะนึกถึงพี่หงวนเป็นคนแรกๆ
ทำไมทุกคน ทุกฝ่าย (และทุกสี) ถึงพร้อมร่วมทำงานกับพี่หงวน
.
สำหรับคนอื่น ผมไม่ทราบ แต่สำหรับผมและเพื่อนอีกหลายคน เราตอบตัวเองได้ว่า
เพราะพี่หงวน คนที่เรารู้จัก

– เขามี “แรงปรารถนา” อยากให้โลกนี้ดีขึ้น
– เขารู้จริงในสิ่งที่เขาทำ
– เขาอ่อนน้อมถ่อมตน จริงใจ ซื่อสัตย์ ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม
– เขาไม่เคยนินทาว่าร้ายใคร ไม่เคยแทงหลังใคร
– เขาให้เกียรติและให้เครดิตเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้กล้าคิด กล้าทำ
และ…เรารู้ว่า เมื่อเราพบความยากลำบากในการทำสิ่งที่ถูกต้อง เขาพร้อมยืนเคียงข้างเราเสมอ
.
คนหนึ่งคน แม้เขาจากไปแล้ว 10 ปี ยังมีคนรุ่นหลังระลึกถึง
หวังว่า เราไม่ระลึกถึงเพียงว่า “เขาทำอะไร” แต่เรียนรู้ด้วยว่า “เขาทำอย่างไร ด้วยจิตใจแบบไหน”
เพื่อเราจะทำภารกิจที่รอเราอยู่ข้างหน้าได้ดีขึ้น
.
กว่า 40 ปีก่อน เมื่อมีเพื่อนนักศึกษาที่ร่วมทำกิจกรรมเสียชีวิต
นักกิจกรรมที่ตึกสันทนาการมักอ่านข้อความบทหนึ่งเพื่อเติมพลังใจให้แก่กัน
เป็นข้อความจากหนังสือ “เบ้าหลอมวีรชน” ของนิโคไล ออสต๊อฟสกี้ แปลโดย เทอด ประชาธรรม ซึ่งพี่หงวนได้ใช้พลังใจนั้นมาตลอดชีวิตของเขา
.
“สิ่งที่มนุษย์เราหวงแหนที่สุดก็คือชีวิต
และก็เป็นสิ่งที่ให้แก่เขาเพื่อดำรงอยู่ได้แต่เพียงครั้งเดียว
เขาจักต้องดำรงชีวิตอยู่เพื่อที่ว่าจะไม่ต้องทรมานใจด้วยความโทมนัสว่า
วันเดือนปีที่ผ่านไปนั้นปราศจากจุดหมาย…
ชีวิตเช่นนี้เมื่อตายลงก็สามารถพูดได้ว่าชีวิตของฉัน
และพลังกายพลังใจทั้งหมดของฉัน
ได้อุทิศให้แก่อุดมการณ์ที่ดีงามที่สุดแล้วในโลกนี้
นั่นคือ การต่อสู้เพื่อกอบกู้อิสรภาพของมนุษย์..”

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน