กรมอนามัย เตือนสูบกัญชาอันตราย ควันทำให้เสี่ยงหอบหืด หลอดลมอักเสบ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง เด็ก-ทารกรับควันมือสองกระทบจิตประสาท ย้ำสูบที่สาธารณะเป็นเหตุรำคาญ

วันที่ 2 ก.ค.65 นางณีรนุช อาภาจรัส ผอ.กองกฎหมาย กรมอนามัย กล่าวถึงกรณีพบการขายกัญชามวน และการสูบในที่สาธารณะ ว่า การสูบกัญชาก่อให้เกิดกลิ่นและควันในที่สาธารณะ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่ใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบภัยกับเหตุนั้น ถือเป็นเหตุรำคาญตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา

หากพบเห็นการกระทำดังกล่าวสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนเหตุรำคาญแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ทันที เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยจะดูสถานที่หรือบริเวณที่ถูกร้องเรียน แหล่งกำเนิดกลิ่นหรือควัน ลักษณะกลิ่น ช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น หากพบว่าเรื่องร้องเรียนไม่เป็นเหตุรำคาญ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งผู้ร้องเรียนทราบ และยุติเรื่อง

“หากเข้าข่ายเป็นเหตุรำคาญ ให้พิจารณาออกคำแนะนำให้ผู้ก่อเหตุปรับปรุงแก้ไข โดยบอกข้อเท็จจริงที่ตรวจพบ มาตรการหรือวิธีการแก้ไขปรับปรุงให้เหตุรำคาญระงับไปในเวลาที่กำหนด แล้วติดตามตรวจสอบการ หากยังไม่แก้ไขให้ออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 27 กรณีเหตุเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะ หรือมาตรา 28 กรณีเหตุเกิดในสถานที่เอกชน แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ก่อเหตุปรับปรุงแก้ไข หรือระงับเหตุรำคาญ” นางณีรนุชกล่าว

นางณีรนุช กล่าวว่า หากยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จะส่งเรื่องเปรียบเทียบกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2.5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง ให้แจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ร้องเรียนทราบ และยุติเรื่องต่อไป

ด้าน นางนภพรรณ นันทพงษ์ ผอ.สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กล่าวว่า การนำกัญชาไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้ 1.ควันกัญชา ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 2.เด็กและทารกที่สัมผัสควันกัญชามือสอง อาจได้รับผลกระทบทางจิตประสาทเช่นเดียวกับผู้สูบ และ 3.กระตุ้นให้เกิดอาการป่วยทางจิตในกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติซึมเศร้าหรือป่วยด้วยโรคจิตเภทอยู่เดิม นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาที่ระบุว่ากัญชาแบบพันลำ มีอัตราการปล่อย PM2.5 เฉลี่ย 3.5 เท่าของบุหรี่แบบธรรมดา ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ

“ประชาชนควรตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดจากการสูบกัญชา การได้รับควันกัญชามือสอง รวมถึงสถานประกอบการที่อาจมีกิจกรรมรวมกลุ่มสูบกัญชา ควรมีมาตรการควบคุมไม่ให้เกิดเหตุรำคาญจากกลิ่นหรือควันกัญชา ซึ่งรบกวนประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

ขณะเดียวกันหากเจ้าพนักงานท้องถิ่นพบการเห็นการกระทำดังกล่าว ก็สามารถดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ ได้ทันที เนื่องจากหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย พ.ร.บ.การสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ร่วมภาคส่วนอื่น

เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ต้องไปสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้เกิดขึ้น รวมถึงเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการใช้ในทางไม่เหมาะสม หรืออันตราย” นางนภพรรณกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน