“บิ๊กตู่”ย้ำรัฐบาลเดินตามโรดแม็ปสู่ประชาธิปไตยเข้มแข็ง ยันบริหารประเทศโปร่งใสไร้ทุจริต “วิษณุ”ยันพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ จะทรงลงพระปรมาภิไธย ร่างรัฐธรรมนูญเอง “มีชัย” แจงวิธีแก้คำปรารภ ตัดถ้อยคำเดิมออก แล้วใส่จุดไข่ปลาเว้นพระนามไว้ เมื่อชัดเจนแล้วให้สำนักเลขาธิการนายกฯไปเติมเอง กรธ.ให้สำนักงานสถิติฯ ทำโพลกฎหมายลูก 4 ฉบับ สอบถามความคิดเห็นชาวบ้าน 2.6 หมื่นคนทั่วประเทศ เพื่อไทยสงสัยกรธ.วางกฎตั้งพรรคการเมืองให้ซับซ้อน หวังเป็นข้ออ้างรีเซ็ต เหน็บ “บิ๊กป้อม” เลิกเหนียม เปิดตัวตั้งพรรคไปเลย

“บิ๊กตู่”ย้ำเดินหน้าสู่โรดแม็ป

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเซนอน คุคชัค เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความ สงบแห่งชาติ (คสช.) ในโอกาสอำลาตำแหน่ง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศไทยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลัง เดินตามโรดแม็ปของรัฐบาลในการกลับคืน สู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและรัฐบาลบริหารประเทศด้วยความโปร่งใส ปราศจากการ ทุจริต จึงขอให้โปแลนด์และสหภาพยุโรป (อียู) มั่นใจในการบริหารประเทศของรัฐบาล

โปแลนด์เชื่อมั่นเสถียรภาพไทย

ขณะที่เอกอัครราชทูตโปแลนด์กล่าวว่า ยืนยันว่ารัฐบาลโปแลนด์ทราบดีว่าไทยมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและแม้จะอยู่ในช่วงไว้อาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประเทศ ไทยก็ยังคงมีความสงบสุขและเดินหน้าต่อไป และยินดีผลักดันให้ไทยและสหภาพยุโรปกลับมาดำเนินความร่วมมือระหว่างกันอีกครั้ง

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์แต่งเพลง “ความหวังความศรัทธา” ว่าขอไม่อธิบายในเรื่องนี้ ยังไม่ถึงเวลาที่จะอธิบายเรื่องเพลง เพราะเป็นช่วงที่ประชาชนแสดงความไว้อาลัย ซึ่งเพลงนี้นายกฯได้ประพันธ์มาก่อนหน้านี้กว่า 2 เดือนแล้ว

“วิษณุ”ชี้ 2 จุดแก้คำปรารภรธน.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แก้ไขคำปรารภในร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ว่า กรธ.จะใช้เวลาไม่นาน ซึ่งมี 2 จุดที่ต้องแก้ไขคือ 1.ย่อหน้าแรกซึ่งเรียกว่า “ศุภมัสดุรัชกาล” ขณะนี้ยังไม่สามารถเขียนได้ จนกระทั่งจะได้ทราบว่าจะพระราช ทานลงมาในวันใด 2.พระปรมาภิไธย ซึ่งเดิมมีการเขียนโดยอ้างรัชกาลเดิม แต่วันนี้จะต้องเปลี่ยนใหม่ ขณะเดียวกันเราก็เปลี่ยนไม่ถูกอยู่ดี ต้องทราบพระปรมาภิไธยที่ชัดเจนก่อนจึงเขียนได้ แต่คำนั้นชัดอยู่แล้วว่าใช้คำว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่จะเรียกอย่างไรก็แล้วแต่ว่าจะมีพระราชวินิจฉัย

เมื่อครั้งรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัตินั้น รัชกาลที่ 8 ใช้คำว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล เพราะเดิมเมื่อครั้งเป็นพระ วรวงศ์เธอพระองค์เจ้าก็ใช้อย่างนั้น เป็นการเอาชื่อเดิมมาต่อ แต่ตอนรัชกาลที่ 7 ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นเจ้าฟ้า ขึ้นต่อจากรัชกาลที่ 6 และเมื่อขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ พระปรมาภิไธยในตอนแรกคือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจ้าฟ้าประชาธิปก กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา จะเห็นว่ามีหลายวิธี แต่ครั้งนี้จะเรียกอย่างไร รัฐบาลตอบไม่ถูก

ทูลเกล้าฯก่อน-แก้ไขทีหลัง

“เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 2 ข้อ ซึ่งกรธ. ไม่สามารถแก้ไขได้ถูกต้องเพราะไม่รู้จะแก้อย่างไร ไม่รู้ว่าจะทรงโปรดเกล้าฯในยามใด ขึ้นกี่ค่ำ แรมกี่ค่ำ และไม่รู้พระปรมาภิไธย ที่ชัดเจนถูกต้อง ดังนั้น ที่สุดแล้วก็ต้องถวายขึ้นไปโดยที่ยังไม่แก้ไข ไม่ได้เติมอะไร เพราะจะถึงกำหนดที่ต้องทูลเกล้าฯแล้ว” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อรัฐบาลทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญขึ้นไป และเมื่อทราบว่าขึ้นกี่ค่ำ แรมกี่ค่ำ ทราบถึงพระปรมาภิไธยแล้ว กรธ.จะส่งต้นฉบับแก้ไขมาให้ ขณะที่รัฐบาลจะส่งอาลักษณ์ไปเขียน ซึ่งไม่ถือว่ายุ่งยาก และในวันนี้ยังยืนยันเช่นเดิมที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างรัฐธรรมนูญด้วยพระองค์เอง

“มีชัย”ระบุใส่จุดเว้นพระนาม

ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวว่า ขณะนี้รอให้รัฐบาลส่งหนังสือแจ้งมา ยัง กรธ.ก่อน แต่ระหว่างนี้เราสามารถแก้ไขคำปรารภไปพลางๆ ก่อนได้ คิดว่าคงใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากต้องทำตามกรอบระยะเวลา คาดว่าคงแก้เพียงนิดเดียว ซึ่งอาจเว้นช่วงเอาไว้ โดยใช้จุดไข่ปลาไปก่อน วันไหนที่รู้ค่อยไปเติม ซึ่งอาจใช้เป็นผู้สำเร็จราชการหรือพระมหากษัตริย์ ตรงนี้รัฐบาลโดยสำนักเลขาธิการนายกฯ จะเป็นผู้เติม เมื่อถึงเวลาที่นายกฯ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้คำปรารภสามารถสรุปง่ายๆ ว่าเว้นพระนามไว้ใช่หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า เว้นพระนามไว้ ส่วนเรื่องการใช้คำราชาศัพท์นั้น เมื่อค้นดูแล้วพบว่าถึงยังไม่มีพระบรมราชาภิเษก ก็ใช้พระบรมราชโองการได้ ไม่เป็นไร เราจะแก้ถ้อยคำเดิมออกไปก่อน ส่วนคำใหม่จะเป็นอย่างไรต้องจุดไข่ปลาไปก่อน ถือว่าไม่ผิดหลักกฎหมาย ตอนนี้รัฐบาลมีเวลาถึงวันที่ 9 พ.ย. ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องนำเรื่องนี้เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนหรือไม่ หากรัฐบาลส่งหนังสือมาเมื่อไหร่ กรธ.สามารถส่งกลับเย็นวันนั้นเลยก็ได้

กรธ.ให้สสช.ทำโพลกม.ลูก

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ และสำรวจความเห็นของประชาชน กรธ. เปิดเผยว่า ในวันที่ 1-6 พ.ย. สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จะสุ่มสัมภาษณ์ความเห็นประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ 2.6 หมื่นคน ต่อเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีคำถามทั้งสิ้น 20 ข้อ อาทิ มาตรการและกลไกที่ทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน การมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรค การกลั่นกรองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครในแต่ละเขต การทำหน้าที่ของกกต. รวมถึงการจะให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้งเป็นผู้ช่วย กกต.แทน กกต.ประจำจังหวัด

ส่วนวิธีการ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติจะเดินเข้าสอบถามประชาชนแบบตัวต่อตัว เพื่อให้ได้ความเห็นของประชาชนที่แท้จริง โดยกำหนดให้ส่งความเห็นทั้งหมดมายัง กรธ.ในวันที่ 15 พ.ย. เพื่อนำไปประกอบการทำร่างพ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับต่อไป ทั้งนี้ กรธ.ได้ส่งหนังสือไปยังทุกพรรคการเมืองเพื่อให้ส่งสมาชิกเข้าร่วมการสัมมนารับฟังความเห็น ต่อการร่างพ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.และร่างพ.ร.บ. ที่มาส.ว. ที่จะจัดในวันที่ 16 พ.ย.แล้ว

กกต.จ่อแก้ระเบียบ

ที่สำนักงาน กกต. นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม เป็นประธานการประชุมเพื่อหารือและรับทราบความ คืบหน้าการปรับปรุงแก้ไขระเบียบ กกต.เกี่ยวกับองค์การเอกชน และร่างระเบียบสำนักงาน กกต. ว่าด้วยศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล พ.ศ….

นายประวิชกล่าวว่า สำนักงาน กกต.ได้ศึกษาผลการวิจัยขององค์การเอกชนในการช่วยเหลือการปฏิบัติงานของ กกต.ที่ผ่านมา พบว่ามีปัญหาและอุปสรรคบางประการ ซึ่งบางส่วนเกิดจากระเบียบที่เกี่ยวข้อง มีความยุ่งยากซับซ้อนไม่เอื้อต่อการปฏิบัติงาน อีกทั้งอาจมีจำนวนลดน้อยลง จึงได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการปฏิบัติงานขององค์การเอกชน มุ่งให้เครือข่ายองค์การเอกชนเข้ามาเป็นกลไกช่วยเหลือการปฏิบัติงานของ กกต.ในภารกิจการช่วยเหลือตรวจสอบการเลือกตั้งเมื่อมีการเลือกตั้ง ทุกระดับ

ยัน 5 เสือไม่กังวลปมเซ็ตซีโร่

นายประวิชให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการแต่งตั้งเลขาธิการ กกต. ว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นของอนุกรรมการในการสรรหาเลขา ธิการ กกต. ซึ่งขั้นตอนยังคงดำเนินการต่อไป เบื้องต้นจากที่ได้สอบถามอนุกรรมการหลังมีผู้สมัครร้องเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครไม่สอด คล้องกับประกาศในการรับสมัครไปที่ศาลปกครอง ก็ได้ให้ระยะเวลาสักระยะ แต่ผ่านมาพอสมควรแล้ว ก็จะเดินหน้าต่อไป ยืนยันว่าไม่มีการล้มการสรรหาเลขาธิการ กกต.ที่ทางสำนักงานได้เปิดรับสมัครมา แต่หากศาลปกครองมีคำวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาเราก็ค่อยพิจารณาไป

ส่วนแนวคิดของสมาชิกสภาขับเคลื่อน การปฏิรูปประเทศ (สปท.) เรื่องการเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระนั้น นายประวิชกล่าวว่า ไม่ใช่หน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องไปหวั่นไหวหรือกังวลใจ ตนได้ย้ำหลายครั้งว่าขึ้นอยู่กับรัฐ ธรรมนูญจะให้อยู่หรือไม่ และขณะนี้ กรธ.กำลังพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะเป็นตัวชี้ว่าจะอยู่หรือไม่ และอยู่อย่างไร ซึ่งเราได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับไปตามหน้าที่แล้ว และ กกต.อีก 4 คนก็ไม่ได้กังวล เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับกฎหมายประกอบรัฐ ธรรมนูญ

พท.โวยกฎเหล็กตั้งพรรค

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงข้อกำหนดเรื่อง การจัดตั้งพรรคการเมืองในร่างพ.ร.บ.พรรค การเมืองว่า คิดว่าสิ่งที่จะทำให้มีปัญหาอยู่ที่บทการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งจะต้องดูว่ามีข้อจำกัดและอุปสรรคอะไรบ้าง เช่น ตอนนี้มีการกำหนดให้จ่ายค่าธรรมเนียมสมาชิกพรรค ถ้าหากเป็นคนไม่มีเงินจะทำอย่างไร การ ร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้แนวคิดของเขา คือไม่ได้ส่งเสริมให้การจัดตั้งพรรคเป็นไปได้ง่ายๆ เพราะเกรงจะมีพรรคมากเกินไป ซึ่งไม่มีคุณภาพ จึงมีการกำหนดรายละเอียดตั้งพรรคให้ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม

ด้านนายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทร ปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการกำหนดให้มีผู้ริเริ่มตั้งพรรค 15 คน และต้องหาสมาชิกให้ได้ 500 คนภายใน 120 วันว่า พรรคเก่าที่มีสมาชิกพรรคอยู่แล้วคงไม่มีปัญหา ส่วนพรรคใหม่นั้นการจะหาสมาชิกให้ครบ 500 คนคงไม่ยาก เพราะการจัดตั้งพรรคได้ จะต้องมีความสัมพันธ์กับประชาชนอยู่แล้ว เรื่องพวกนี้จิ๊บจ๊อยมาก แต่อยากถามว่าการกำหนดเช่นนี้จะใช้เป็นข้ออ้างนำไปสู่การเซ็ตซีโร่พรรคหรือไม่ โดยอ้างว่าพรรคเก่าได้เปรียบพรรคที่จะตั้งใหม่ในเรื่องหาสมาชิกพรรค เราขอพูดดักคอไว้ก่อนเลย เพราะ ผู้ที่เคลื่อนไหวตั้งพรรคใหม่ในช่วงนี้มี จำนวนมาก

เหน็บ”บิ๊กป้อม”อย่าเหนียม

เมื่อถามถึงการตั้งพรรคอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ที่อ้างว่าเพื่อปูทางไว้ให้คสช. ถ่ายโอนอำนาจบริหารประเทศต่อ นายวรชัยกล่าวว่ากฎหมายตั้งพรรคตอนนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ไม่ว่าจะตั้งพรรคอะไร เพื่ออะไรก็ตาม ตนมองว่าการที่ผู้มีอำนาจคิดจะลงเล่นการ เมืองนั้นเป็นเรื่องที่ดี ถ้าอยากมีอำนาจก็ไม่ควรมาทางอ้อม จะตั้งพรรคคุณประยุทธ์ หรือคุณป้อมก็ว่ากันไป

“อยากเรียกร้องให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหมเปิดตัวเลยว่าจะตั้งพรรค ไม่ต้องมาเหนียมอายเพราะไม่ใช่เรื่องน่าอาย ประกาศมาให้ชัดเลยว่าจะเล่นการเมือง อาสามาทำงานให้ประชาชน จะอายทำไม การฉีกรัฐธรรมนูญ ทำรัฐประหารน่าอายกว่าเยอะ ยังไม่เห็นอายเลย” นายวรชัยกล่าว

สนช.เพิ่มจำนวนกมธ.

ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุมมีมติในวาระที่ 3 เห็นชอบให้ประกาศใช้ข้อบังคับการประชุมสนช. (ฉบับที่..) พ.ศ… ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้วด้วยคะแนนเสียง 195 ต่อ 1 งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 1 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.เป็นต้นไป

ร่างแก้ไขดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมสนช. พ.ศ.2557 ในเรื่องเกี่ยวกับจำนวนกมธ.ในกมธ.สามัญประจำสนช.ที่มีทั้งหมด 16 คณะ เพื่อรองรับสมาชิกสนช.ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเป็นการแก้ไขจำนวนกมธ. ในกมธ.สามัญให้ประกอบด้วยกมธ.ไม่น้อยกว่า 11 คน แต่ไม่เกิน 30 คน จากเดิมไม่น้อยกว่า 11 คน แต่ไม่เกิน 26 คน พร้อมกันนี้ ยังแก้ไขให้ กมธ.สามัญแต่ละคณะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของแต่ละกมธ.สามัญนั้นๆ อีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน