อย่าชะล่าใจฟันผุคือปัญหาใหญ่! กุมารแพทย์เตือน เด็ก 7 ขวบ ฟันผุเรื้อรังทำหนองขึ้นสมอง ถูกส่งเข้า ICU ด่วน

นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ออกมาเผยกรณีทางการแพทย์เพื่อเป็นอุทาหรณ์และเตือนใจคุณผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพในช่องปาก หลังเด็กผู้ชายอายุ 7 ปีมีอาการปวดฟัน ไข้ขึ้นสูง ปวดหัวอย่างหนักจนต้องเข้าหออภิบาลผู้ป่วยหนัก (ICU.)

โดยนพ.จิรรุจน์โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Jiraruj Praise ว่า “ฟันผุเรื้อรังจนหนองขึ้นสมอง จากปัญหาแค่ฟันผุ มันไปถึงเกือบเอาชีวิตไม่รอดได้อย่างไร ผมขอยกกรณีนี้เป็นอุทาหรณ์ และเตือนใจคุณผู้ปกครองทุกท่าน ในการดูแลสุขภาพในช่องปาก ให้กับบุตรหลานของท่านดี ๆ นะครับ”

ภาพจาก Jiraruj Praise

“เคสนี้เป็นเด็กผู้ชายอายุ 7 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการปวดฟันไข้สูง เพียง 2 วัน จากนั้นมีอาการปวดหัว ซึมลง จนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แล้วส่งต่อไปยัง ICU เด็กของเรา ผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เป็นตามภาพที่เห็นไหมครับ มีการคั่งของหนอง ในช่องเยื่อหุ้มสมองชั้น ซับดูรา (subdural empyema – ซับ ดู รัล เอ็ม พาย อี ม่า) ตรงลูกศรสีแดงที่ชี้หลายจุด”

“ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาใน ICU และผ่าตัดระบายหนองออกจากสมอง ผลการเพาะเชื้อก็ตามคาดเลยครับ ขึ้นเชื้อ Streptococcus anginosus group (SAG) ทั้งจากหนองที่พบในชั้นเยื่อหุ้มสมอง และในกระแสเลือด คำถามคือเจ้าเชื้อตัวนี้พบได้ที่ไหนในร่างกายเราบ้างแล้วมันมาก่อปัญหาให้กับผู้ป่วยคนนี้ได้อย่างไร”

ภาพจาก Jiraruj Praise

“หากเปิดตำราดูจะพบว่า ชื้อแบคทีเรีย Streptococcus anginosus group (SAG) เป็นเชื้อที่พบในช่องปากนี่แหละครับ ซึ่งเมื่อเปิดช่องปากของผู้ป่วยรายนี้ ก็เป็นไปตามคาด ในรูปที่แสดง นั่นคือเราพบฟันผุ และเหงือกที่อักเสบมีหนอง อยู่หลายตำแหน่ง และมีการบวมของต่อมน้ำเหลืองใต้คางเป็นจำนวนมาก ฟันผุและเหงือกอักเสบอย่างเรื้อรังต่อเนื่อง และมีการสะสมของเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว เป็นเหตุให้มีการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด และทำให้เกิดการสะสมของหนองที่เยื่อหุ้มสมอง ที่ได้กล่าวข้างต้น”

“หากเราทบทวน การศึกษาก่อนหน้านี้ ก็จะพบว่าเจ้าเชื้อนี้ล่ะครับ เป็นเชื้อที่พบได้ ในคนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพช่องปากและฟัน ไม่ว่าจะเป็นฟันผุหรือเหงือกอักเสบเรื้อรัง จริง ๆ แล้วในคนปกติก็พบเชื้อนี้นะครับ แต่หากไม่มีการอักเสบ หรือช่องทางให้เชื้อเหล่านี้เล็ดลอดเข้ามาสู่กระแสเลือดในปริมาณมาก ๆ ได้ ก็มักไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างใด”

ภาพจาก Jiraruj Praise

“ผมจึงอยากฝากกรณี นี้ให้เป็นเครื่องเตือนใจของคุณผู้ปกครอง ให้หันมาสนใจสุขภาพในช่องปาก ของบุตรหลานของท่าน ตั้งแต่เรื่องของการแปรงฟันตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ ถึงเวลาต้องเลิกขวดนมก็คือเลิกโดยเด็ดขาด ไปจนถึงการบริโภคอาหารที่เสี่ยงต่อการทำให้เกิดฟันผุ เช่น ของหวาน น้ำตาลที่มากเกินไป “

“ส่วนตัวแนะนำว่า ควรพาบุตรหลานไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจเช็กฟันเป็นประจำ ไม่ต้องรอให้เกิดฟันผุ แล้วค่อยไปหาหมอฟัน ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้เป็นอย่างมาก ฟังดูไม่น่าเชื่อใช่ไหมครับ จากฟันผุธรรมดาๆ กลายเป็นปัญหาที่อาจพาให้เสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นอย่าประมาทนะครับ”

ขอบคุณที่มาจาก Jiraruj Praise

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน