ทรัพย์สินและรถยนต์จมน้ำพังเสียหายไป 3 คัน นายกัณฐัศ เจ้าของบ้านเช่า เผยเคยร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมภูเก็ต นักการเมืองดังปรับถมที่ดิน 20 ไร่ซึ่งสูงจากที่ดินถึง 8-10 เมตร ขณะเดียวกันยังขุดเบี่ยงทางน้ำ ทำให้น้ำจากเขาไหลเข้าท่วมถนนก่อนไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่บ้านที่อยู่ต่ำกว่าท่วมห้องเช่า รถยนต์ของผู้เช่าชาวต่างชาติจมน้ำต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่น อยากเรียกร้องเจ้าของที่ดินและเป็นผู้กว้างขวางทำระบบระบายน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมผิวจราจรและบ้านเช่าอีก

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่บริเวณอาคารพาณิชย์ และบ้านให้เช่าอยู่เลขที่ 5/13-20/13 ถนนเจ้าฟ้าตะวันตก (ปากซอยอนุสรณ์ 200 ปี) หมู่ 2 ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายกัณฐัศ กุลวานิช เจ้าของบ้าน ร้องเรียนว่า อดีตนักการเมืองพรรคดัง ถมที่ดินเป็นพื้นที่กว่า 20 ไร่ (จากที่ดินทั้งหมดประมาณ 300 ไร่) ที่อยู่ด้านบนที่ดินของตนโดยมีการขุดเบี่ยงทางน้ำ และปล่อยน้ำไหลลงท่อน้ำริมถนน แต่น้ำขณะฝนตกหนักมีปริมาณมากไม่สามารถรับน้ำได้ จึงไหลทะลักเข้าท่วมบ้าน และอาคารพาณิชย์ ในที่ดินของตนจนเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก

เบื้องต้นจากการเดินสำรวจพบว่า ด้านหน้าอาคารพาณิชย์ และห้องเช่า 2 ชั้น 8 ห้อง มีร่องรอยถูกน้ำเซาะที่บันไดทางลง และร่องรอยน้ำท่วมไปถึงห้องเช่าชั้นล่าง 4 ห้อง ซึ่งเป็นห้องเช่าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มีร่องรอยระดับน้ำที่ผนัง และกระจกสูง ประมาณ 50 เซนติเมตร ขณะเดียวกันก็มีร่องรอยดินโคลนจำนวนมากที่ไหลมากับน้ำถมเกือบเต็มพื้นที่ที่หน้าห้องเช่า แต่ละห้องผู้เช่ามีการรื้อข้าวของเครื่องใช้ที่เสียหายออกมาทำความสะอาด และบางส่วนที่เสียหายไม่สามารถซ่อมได้ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ก็นำออกมารวมเพื่อนำไปทิ้ง ส่วนที่อีกด้านของขุมน้ำมีรถยนต์เก๋งของชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นผู้เช่าจอดเสียหายอยู่อีก 1 คัน รวมรถยนต์จมน้ำเสียหายทั้งหมด 3 คัน ซึ่งอยู่ระหว่างรอพนักงานจากศูนย์มาลากไปซ่อม ขณะเดียวกันที่บ้านพักคนงานอีก 1 หลัง คนงาน 4 คนก็อยู่ระหว่างการทำความสะอาดถึงแม้จะผ่านมา 2 วัน

นายกัณฐัศ เจ้าของห้องเช่า กล่าวว่า ในวันเกิดเหตุคืนวันที่ 28 ต.ค.ตนและครอบครัวกำลังนอนหลับอยู่ในบ้านตามปกติ ขณะมีที่ฝนตกหนักตั้งแต่ช่วงค่ำเช่นเดียวกับผู้เช่าหลายหลังกระทั่งเวลาประมาณ 03.00 น.ของวันที่ 29 ต.ค. ก็มีผู้เช่ามาเรียกบอกว่า มีน้ำท่วมจึงรีบลงมาดูพบว่า น้ำไหลเข้าท่วมภายในบ้านหมดแล้วระดับน้ำในบ้านสูงประมาณ 30 เซนติเมตร จึงรีบออกไปเรียกผู้เช่าหลังอื่นๆ ซึ่งขณะนั้นมีหลายหลังที่ยังไม่ทราบ หลังแจ้งผู้เช่าเสร็จ จึงสั่งให้คนงาน รีบนำรถออกจากที่จอด แต่เนื่องจากที่จุดจอดมีน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 50 ซ.ม.-1.5 เมตร จึงสามารถเอารถยนต์กระบะซึ่งน้ำยังไม่ท่วมเครื่องยนต์ออกได้เพียง 1 คัน ส่วนรถเก๋ง 3 คันของผู้เช่าถูกน้ำท่วมจมเสียหาย ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ ภายในบ้านแทบทุกหลังที่อยู่ชั้นล่างนั้นเสียหายเกือบทั้งหมด ซึ่งมูลค่าขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้

ทั้งนี้ตนเองคิดว่าสาเหตุที่น้ำเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว น่าจะมาจากที่มีการถมที่ดินกว่า 20 ไร่ด้านหลังที่ดินตนอดีตเคยเป็นพื้นที่รับน้ำที่ลงมาจากภูเขา ภายในซอยอนุสรณ์ 200 ปี ซึ่งเป็นของอดีตนักการเมืองชื่อดัง อดีตส.ส.ภูเก็ตจนทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วม ที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มมีการถมที่ดินดังกล่าว ประมาณเดือนสิงหาคม 2558 ตนเองก็ไม่เห็นด้วยเนื่องจากจะทำให้ที่ดินของตน เป็นพื้นที่รับน้ำ จึงได้เข้าร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้ตรวจสอบแนวกำแพงที่ดิน ซึ่งอาจไม่สามารถรับน้ำจำนวนมากที่ไหลลงจากภูเขาได้ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ทางเจ้าของที่ดินมีการขออนุญาตปรับถมที่ดินไว้กับเทศบาลตำบลวิชิต ที่ความสูง 2.5 เมตร และต่อมาได้ขอแก้ไขอีกครั้งเป็น 2.5-5 เมตร แต่จากระยะจริงที่ถมพบว่าความสูงเมื่อเทียบจากที่ดินของตนสูงประมาณ 8-10 เมตร

ทั้งนี้หลังการร้องเรียนเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2559 ทางศูนย์ดำรงธรรมภูเก็ต ได้แจ้งผลการตรวจสอบซึ่งเป็นผลตรวจสอบจากโยธาธิการและผังเมืองภูเก็ตว่า ได้ตรวจสอบแบบโครงสร้างการปรับถมดินและแนวกำแพงดินปรากฏว่าแปลนโครงสร้างไม่สามารถรับน้ำหนักปลอดภัยได้ เนื่องจากไม่มีรายละเอียดด้านโครงสร้างกำแพงกั้นดิน ,รายการคำนวณโครงสร้างที่แสดงว่ารับน้ำหนักการถมได้หรือไม่และไม่มีใบประกอบวิชาชีพของวิศวกรโยธา ซึ่งเป็นผู้ออกแบบกระทั่งได้มีคำสั่งชะลอจนกว่าจะยื่นเอกสารทั้งหมดโดยทางเจ้าของที่ดินได้ยื่นแบบต่อเทศบาลตำบลวิชิต เพื่อส่งต่อให้ศูนย์ดำรงธรรมในภายหลังพร้อมแจ้งว่าไม่สามารถเข้าสร้างกำแพงกั้นดินได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ดินโคลน ต้องมีการถมดินก่อนสร้างกำแพงในภายหลัง ขณะเดียวกันมีการขุดเบี่ยงทางน้ำเข้าตรงกลางที่ดินไหลมาออกตรงคูระบายน้ำซึ่งมีขนาดเล็ก น้ำไหลไม่ทันและท่วมถนนก่อนไหลเข้าท่วมพื้นที่ของตนตามที่เคยกังวลและร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมไว้
นายกัณฐัศกล่าวต่อว่า ขณะนี้ความเสียหายเรื่องทรัพย์สินที่เกิดขึ้นแล้ว ผู้เช่าบางรายตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่อื่น เนื่องจากน้ำจะท่วมอีก จึงอยากเรียกร้องให้เจ้าของที่ดินและภาครัฐหาแนวทางร่วมกันทำระบบท่อน้ำให้มีความสอดคล้องกับปริมาณน้ำที่ไหลลงจากเขา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน