เครือข่ายองค์กรงดเหล้า ชี้ลดภาษีไวน์จาก 100% เหลือ 0% และ 5% เอื้อทุนใหญ่ ชี้แก้ปัญหาแบบสร้างปัญหา ปูดรัฐเตรียมแผนใหม่ขยายเวลาขายสุราถึงตีสองในร้านเหล้าทั่วไปหวังกระตุ้นการใช้จ่ายเต็มสูบกระตุ้นเศรษฐกิจ

ด้าน ศวส. เผยผลวิจัยชัด เพิ่มภาษี-ราคาน้ำเมา ทำดื่มลดลง 5.1-7.7% หากลดราคาปัญหายิ่งเพิ่ม ห่วงกระทบ “เยาวชน” มากกว่าผู้ใหญ่และนักเที่ยว

วันที่ 7 ม.ค. 2567 นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567 ที่ปรับลดภาษีแอลกอฮอล์บางประเภท เป็นของขวัญปีใหม่ เป็นเรื่องน่ากังวลในมุมมองสุขภาพ

หากวิเคราะห์นโยบายนี้มี 3 กลุ่มที่ได้รับประโยชน์และได้รับผลกระทบ คือ 1.ลดภาษีสุราแช่พื้นบ้าน ได้แก่ อุ กระแช สาโท ซึ่งมีจำนวนดีกรีไม่เกิน 15% โดยใช้วัตถุดิบในชุมชน ตามตัวเลขที่จดทะเบียนทางสรรพสามิตทั่วประเทศไม่เกิน 2,000 ราย กลุ่มนี้ได้ประโยชน์ต่อชุมชนฐานราก

2.ลดภาษีสุราแช่ สุราลั่นผสมผลไม้ เช่น โซจู เหล้าบ๊วย กลุ่มนี้เมื่อปรับภาษีขึ้นกลายเป็นผู้เสียผลประโยชน์ แต่เป็นข้อดีช่วยเบรกการขยายตัวของสุราเหล่านี้ในมุมมองสุขภาพ

3.กลุ่มไวน์ มีไวน์ผลไม้ กับไวน์องุ่น ลดอัตราภาษีมูลค่าเหลือ 0% และ 5% จากเดิม 100% ที่ตั้งตามมูลค่าเพราะเป็นการส่งสัญญาณว่า ไวน์จากเดิมเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยจะกลายเป็นสินค้าปกติธรรมดา อีกทั้งคนที่ได้ประโยชน์จากต้นทุนทางภาษีลดลงอย่างมาก คือ ผู้ที่ขายไวน์ราคาแพงเกิน 1,000 บาท กลายเป็นว่ารัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่ และทำให้การดื่มการขายไวน์เป็นเรื่องปกติธรรมดา

“นโยบายขยายเปิดผับถึงตี 4 ต่อเนื่องมาถึงลดภาษีสุราบางประเภท และอาจจะมีนโยบายอื่นเพื่อตอบโจทย์เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยว อยากขอเตือนให้รัฐบาลคำนึงชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าสารเสพติด

สร้างปัญหาและผลกระทบ องค์การอนามัยโลกก็แนะนำว่ามาตรการขึ้นภาษีมีประสิทธิภาพสูงในการควบคุม มีผลศึกษาพบว่า อัตราการลงทุนต่อการควบคุมแอลกอฮอล์ 1 ดอลลาร์ จะได้ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ 8 ดอลลาร์

คือ ลงทุนแก้ปัญหา จะได้ผลตอบแทนมากกว่าที่จะปล่อยให้เกิดปัญหา ขณะที่รัฐได้ภาษีที่เก็บมากขึ้น คนดื่มคนป่วยมีแนวโน้มลดลง ค่าใช้จ่ายในการรักษาลดลง แต่รัฐบาลคิดตรงข้ามลดภาษีเพื่อกระตุ้นการดื่ม หวังได้ภาษีจากการดื่มที่เพิ่มขึ้น แล้วปล่อยให้การรักษาสุขภาพเป็นอีกเรื่อง ดังนั้น การที่อ้างว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างชาติ ให้มาดื่มไวน์ของไทยนั้น จริง ๆ คือการแก้ปัญหาโดยสร้างปัญหาอีกปัญหาตามมา” นายธีระกล่าว

นายธีระ กล่าวว่า ไทยเก็บภาษีสุราทั้งเบียร์และพวกวิสกี้สุรากลั่นต่าง ๆ ในปี 2564 จัดเก็บได้ประมาณ 140,642.70 ล้านบาท แต่การศึกษาประเมินต้นทุนทางสังคมของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือประเมินความสูญเสียที่รัฐหรือสังคมต้องแบกรับจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าความเสียหายจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้อง การเสียชีวิตของผู้ดื่มก่อนวัยอันควร สูงถึง 165,450.5 ล้านบาท เรียกว่ารัฐขาดทุน 24,807.8 ล้านบาท จึงหวังว่ารัฐบาลจะพึงตระหนักถึงผลกระทบและแนวทางกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้สร้างปัญหาตามมา

และกล้าที่จะควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะแอลกอฮอล์ แต่รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติด และต้องมีนโยบายให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบโดยตรงต่อสินค้าของตนเองมากขึ้น ไม่ใช่ให้ปัญหาเป็นเรื่องของประชาชนที่ต้องดูแลตนเอง ซึ่งจะกลายเป็นเสียคะแนนเสียงในระยะยาว

ด้าน ศ.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มาตรการภาษีและราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเครื่องมือสำคัญควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

เนื่องจากราคาที่สูงขึ้นจะลดแรงจูงใจ นำไปสู่การลดปริมาณบริโภค ลดโอกาสเริ่มดื่มในผู้ไม่เคยดื่มมาก่อน นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐที่สามารถนำมาใช้ดำเนินนโยบายสาธารณสุขหรือชดเชยต้นทุนผลกระทบจากการดื่ม

ถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่มีประสิทธิผลและคุ้มค่าที่สุด สามารถป้องกันการริเริ่มดื่มแอลกอฮอล์ได้ สอดคล้องกับงานศึกษาวิจัยทั่วโลกที่เห็นผลตรงกัน อย่างการวิเคราะห์อภิมาน 8 การศึกษา เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของราคาต่ออัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ พบว่า หากราคาเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 10% ในประเทศรายได้สูง การบริโภคจะ 5.1-7.7% ส่วนประเทศรายได้ต่ำและปานกลางการบริโภคลดลง 6.4%

ศ.พญ.สาวิตรี กล่าวว่า ขณะที่การศึกษาทบทวนงานวิจัย 50 ชิ้น ถึงผลของภาษีและราคาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อปัญหาการบริโภค พบว่า หากเพิ่มภาษีแอลกอฮอล์ขึ้นสองเท่า จะส่งผลให้การเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ลดลง 35%

การตายจากอุบัติเหตุทางถนนที่สัมพันธ์กับการดื่มลดลง 11% โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ลดลง 6% การกระทำรุนแรง 2% และอาชญากรรม 1.4% ทั้งนี้ การลดภาษีเครื่องดื่มบางชนิด ทำให้ราคาเครื่องดื่มชนิดนั้นต่ำลง ในขณะที่ราคาของเครื่องดื่มชนิดอื่นไม่เปลี่ยนแปลง อัตราภาษีที่แตกต่าง จะทำให้เกิดการบริโภคเครื่องดื่มต่างประเภททดแทนกัน

“หากมีการลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ย่อมเป็นไปได้ว่า อัตราการเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่สัมพันธ์กับการดื่มแอลกอฮอล์ย่อมเพิ่มขึ้นแน่นอน ที่น่าห่วงคือ การปรับลดราคาจะมีผลต่อเยาวชน มากกว่าผู้ใหญ่และนักท่องเที่ยว การที่รัฐบาลหวังผลให้นักท่องเที่ยวซื้อมากขึ้น โดยลดราคาเครื่องดื่มบางชนิด จะมีผลให้ปริมาณการดื่มของนักดื่มเยาวชนและผู้ใหญ่ไทยเพิ่มขึ้นไปด้วย” ศ.พญ.สาวิตรี กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน