เต๋า สมชาย แชร์ประสบการณ์ ลูกเป็นโรคอัณฑะบิดหมุน เป็นอันตราย-ต้องผ่าตัดด่วน ผลจากการออกกำลังกายและเล่นกีฬา
วันที่ 7 พ.ค.67 ที่โรงพยาบาลตำรวจ เต๋า สมชาย เข็มกลัด ดาราและศิลปินชื่อดัง พร้อมภรรยา คุณอัฐมาศ เข็มกลัด บอกเล่าประสบการณ์จริง ให้ความรู้เรื่อง “โรคอัณฑะบิดหมุน” (Testicular torsion) โดยมี พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ (สบ8) ให้การต้อนรับ
เต๋า สมชาย พร้อม ภรรยา เล่าประสบการณ์โรคดังกล่าว ที่เกิดกับลูกชาย หลังมีอาการปวดอัณฑะ ที่บวมจากการออกกำลังกายและเล่นกีฬา พาไปตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หมอวินิจฉัยว่าเป็นอาการของโรค “อัณฑะบิดหมุน” ครอบครัวรู้สึกตกใจ กังวลมาก แพทย์แจ้งว่าอาจเกิดอาการบิดซ้ำได้ ซึ่งอาจเป็นอันตราย แพทย์แนะนำให้รีบผ่าตัดด่วน จึงตัดสินใจปรึกษากุมารแพทย์ด้านศัลยกรรม ที่โรงพยาบาลตำรวจ
โดยพบพ.ต.อ.วสันต์ นันทสันติ นายแพทย์ (สบ 4) กลุ่มงานศัลยกรรม (ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมเด็ก) ให้คำปรึกษาทุกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมตัว การดูแลก่อนและหลังการผ่าตัด ทำให้ครอบครัวคลายความกังวล จึงตัดสินใจผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์
โดยทีมศัลยแพทย์กุมารของโรงพยาบาลตำรวจ ทำการผ่าตัดเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2567 และดูแลอย่างใกล้ชิด จนปัจจุบันลูกชายสามารถใช้ชีวิตปกติ ออกกำลังกาย และเล่นกีฬาได้ ไม่มีผลกระทบ หรือผลข้างเคียงใดๆ ต่อสุขภาพ ครอบครัวขอบคุณ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ และทีมศัลยแพทย์ พยาบาล ที่ทำการรักษาอย่างเต็มที่ ผลการรักษาเป็นไปด้วยดี
ขณะที่ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ (สบ 8) กล่าวขอบคุณ เต๋า สมชาย ที่มาแชร์ประสบการณ์ดีๆในวันนี้ และให้ความไว้วางใจกับทางโรงพยาบาลในการดูแลสมาชิกในครอบครัวด้วยดีตลอดมา ทางโรงพยาบาลยืนยันจะดูแลประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลตำรวจเป็นอย่างดี
โรคอัณฑะบิดหมุน เกิดจากการบิดเกลียวของเส้นเลือดขึ้นด้านบน เลือดไปเลี้ยงอัณฑะได้น้อย จนเกิดการบิดหมุนของลูกอัณฑะ แบ่งได้ 2 ประเภท คือการบิดหมุนของลูกอัณฑะเอง โดยบิดหมุนได้ทั้งภายในและภายนอกของถุงอัณฑะ ซึ่งเป็นประเภทที่รุนแรงมากที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมาก และการบิดหมุนของติ่งลูกอัณฑะ หรือการบิดหมุนของติ่งท่อนำไข่ อาการปวดรุนแรงน้อย
ส่วนสาเหตุมาจากหลายสาเหตุ
1.ตำแหน่ง เช่น ในหรือนอกถุงอัณฑะ
2.การกระแทก จากการออกกำลังกาย เล่นกีฬา
3.อุณหภูมิ หรือฮอร์โมน เช่น ตื่นนอนตอนเช้า ลูกอัณฑะเกิดการหดตัว อวัยวะเพศแข็งตัว กล้ามเนื้อบริเวณนั้นหดตัวจนเกิดอาการปวด
อาการแรกเริ่ม คือปวดลูกอัณฑะ คลื่นไส้ บวมแดงจากการขาดเลือดไปเลี้ยง หากปล่อยไว้นาน จะรุนแรงไปจนถึงเสื่อมสภาพ เนื้อเยื่อบริเวณนั้นตาย ต้องตัดทิ้งหากมาพบแพทย์ช้า
ซึ่งแพทย์แนะนำเด็กที่มีลูกอัณฑะไม่ครบ ให้รีบมาตรวจ เพราะมีภาวะเสี่ยง ลูกอัณฑะบิด หากมีอาการปวดเจ็บลูกอัณฑะ ให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาทันที