เรียกว่า “ออเจ้าฟีเวอร์” กันทั้งบ้านทั้งเมืองเลยก็ได้ สำหรับการะแสละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ที่กำลังฉายอยู่ในทุกวันพุธ-พฤหัสบดี ทางช่องสาม ซึ่งตัวละครในเรื่องนี้ก็มีทั้งที่อยู่ในประวัติศาสตร์และสร้างขึ้นมาใหม่ แต่นอกจากความบันเทิงที่ละครเรื่องนี้มอบให้กับคนดูแล้ว ก็ยังสอดแทรกความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ให้กับผู้ชมละคร จนนำไปสู่การค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ ทั้งที่มาของตัวละคร สถานที่ที่ปรากฎในแต่ละฉาก รวมถึงการวิจารณ์ถกเถียงเรื่องราวต่างๆในละครเรื่องนี้ ในทุกมิติ

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว ถึงละครเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยเป็นคำถามและข้อคิด 7 ข้อจากการดูละคร มีรายละเอียดดังนี้

ละคร บุพเพสันนิวาส ตอนนี้ ได้เห็นอะไรหลายอย่างมากเลยทีเดียว สามารถใช้เป็นข้อถกเถียงในห้องเรียนได้มากเลย

1. การรับ “สินน้ำใจ” จากล็อบบี้ยิสต์ (กรมเมือง) มาพูดเรื่องที่ตนต้องการจะพูดอยู่แล้ว คงไม่ผิด(คิดแบบออกญาโกษาธิบดี-เหล็ก) แต่การรับสินบนแม้เพียงเล็กน้อยก็ทำให้ความบริสุทธิ์ใจในคำพูดหมดลง หรืออย่างน้อยก็นำไปสู่ความคลางแคลงใจ (คิดแบบขุนหลวงนารายณ์) เรียกว่า มีความทับซ้อนของผลประโยชน์

2. ในระบบการเมืองยุคนั้น สิ่งที่ขุนหลวงนารายณ์ต้องการคือ ความไว้วางใจจากขุนนางใกล้ชิด (เน้นตามเนื้อเรื่องในละคร ส่วนเรื่องในประวัติศาสตร์ขอวิเคราะห์วันหลัง) ยิ่งขุนเหล็ก ซึ่งเป็นขุนนางอันดับ 2 คุมการเงินของแผ่นดิน ปฏิเสธข้อเท็จจริง ขุนหลวงนารายณ์ยิ่งผิดหวัง จึงลงโทษหนัก

3. วิธีคิดแบบออกญาโกษาธิบดียังคงดำรงอยู่ในปัจจุบัน เช่น ข้าราชการไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจและบริษัทของรัฐ โดยรับเงินมากกว่าเงินเดือนตนเองเสียอีก แล้วมากำหนดนโยบายในฐานะรัฐบาลและคณะกรรมการต่างๆ หรือนักวิชาการอย่างพวกผม รับทำวิจัยและทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้เจ้าของโครงการ

4. เรื่องนโยบายเมกะโปรเจ็กสร้างป้อมปราการ ในยุคนั้น ไม่ได้มีกระบวนการถกแถลงกันก่อน แต่มีรับสั่งให้สร้างไปเลย อีกทั้งไม่ได้มีการจำลองสถานการณ์การรบที่ใช้ป้อมปราการเหล่านั้นด้วย การถกเถียงจึงยากที่จะได้ข้อยุติ

5. (ข้อนี้สำคัญที่สุด) ในภาษาโลก เราอาจมองว่า ใครเป็นคนดีหรือคนเลว แต่ในภาษาธรรม หน่วยของการวิเคราะห์ (หรือ unit of analysis) ไม่ใช่คน แต่เป็น “การกระทำ” แต่ละการกระทำนั้นเอง การดำเนินชีวิตจึงต้องมีสติระมัดระวังตลอดเวลา อย่าไปเอาความรู้สึกว่า เราเป็นคนดีหรือเป็นคนเลวมาปะปน ไม่ว่าเราจะเป็นคนเช่นไร เราพร้อมจะทำผิดได้ตลอดเวลาถ้าประมาท และบางครั้งผลของการกระทำนั้นไม่สามารถเอาความดี/ความเลวในอดีตมาหักลบกลบหนี้หรือวิเคราะห์ส่วนเพิ่มได้แบบที่นักบัญชีหรือนักเศรษฐศาสตร์ชอบทำ

6. ความไม่พอใจของออกญาเทพราชาในกรณีนี้ (ตามเนื้อหาในละคร) ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานความถูก/ผิดทางจริยธรรม ในการกระทำของออกญาโกษาธิบดี แต่อยู่ที่ขุนหลวงนารายณ์ทรงเชื่อฝ่ายใดมากกว่ากัน และการตอบโต้ของพระเพทราชาก็ตั้งอยู่บนฐานคิดนี้ เช่นเดียวกับการใช้อำนาจรัฐหลายๆ ครั้ง ในยุคปัจจุบัน

(แต่ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ควรจัดการการโกงของออกพระฤทธิ์กำแหงอย่างที่ขุนศรีวิสารวาจากำลังพยายามทำ)

7. แม้ว่า แม่หญิงการะเกดจะงุนงงและต้องใช้เวลาเรียนรู้ในภาษาและวัฒนธรรมของยุคนั้นพอสมควร แต่พอถึงมิติการแย่งชิงอำนาจรัฐ แม่หญิงหางงไม่ แปลว่า หนทางการแย่งชิงอำนาจรัฐแทบไม่ต่างกันเลย ระหว่างอยุธยากับกรุงเทพฯ แม้ว่าจะผ่านมากว่า 300 ปีแล้วก็ตาม

ทั้งหมดเป็นเพียงมุมมองของคนดูแบบเพลินๆ ไม่คิดมาก คนหนึ่งเท่านั้นเอง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน