มะกันคึกโหวตศึกชิงประธานาธิบดีสหรัฐระหว่างฮิลลารี คลินตัน โพลโค้งสุดท้ายชี้ฝ่ายหญิงคะแนนนำขึ้นมาอีก หลังเอฟบีไอสอบอีเมล์พบว่าไม่สมควรถูกดำเนินคดี เพราะไม่พบความผิดทางอาญา ทรัมป์โวยลั่นคู่แข่งได้รับการปกป้องจากระบบที่คดโกง หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์และสำนักข่าวเอบีซีนิวส์ระบุนางฮิลลารีนำทรัมป์มากถึง 5 จุด อยู่ที่ร้อยละ 48 ต่อ 43 นักวิชาการไทยจัดเสวนาผลได้ผลกระทบจากประธานาธิบดีใหม่สหรัฐ

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานบรรยากาศโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในวันอังคารที่ 8 พ.ย. หรือตรงกับประเทศไทยในวันพุธที่ 9 พ.ย. ว่า มีเหตุการณ์ที่อาจพลิกผันคะแนนนิยมระหว่างสองผู้ท้าชิง ได้แก่ นางฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันอีกครั้ง เมื่อนายเจมส์ คอมีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา หรือเอฟบีไอ ส่งจดหมายชี้แจงต่อสภาคองเกรสว่าด้วยการตรวจสอบหลักฐานชุดใหม่ จากกรณีที่นาง ฮิลลารีใช้อีเมล์ส่วนตัวขณะดำรงตำแหน่งเป็นรมว.ต่างประเทศนั้นว่า ไม่พบหลักฐานที่เป็นความผิดทางอาญา

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นความเคลื่อนไหวด้านบวก สำหรับพรรคเดโมแครตหรือเดโมเครติกในช่วงโค้งสุดท้าย ประเด็นดังกล่าวสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของนางฮิลลารีเมื่อสองสัปดาห์ก่อน เมื่อผอ.เอฟบีไอส่งจดหมายแจ้งสภาคองเกรสว่าได้รับหลักฐานใหม่ที่ต้องตรวจสอบกรณีอีเมล์ดังกล่าว จนนายทรัมป์มีคะแนนนิยมตีตื้นขึ้นมามาสูสีแบบหายใจรดต้นคอ พลิกผันจากที่เคยถูกโจมตีอย่างหนักจากกรณีล่วงละเมิดทางเพศสตรีนับสิบคนที่ออกมาเปิดโปงในเรื่องดังกล่าว

สำหรับจดหมายล่าสุดของของผอ.เอฟบีไอถึงสภาคองเกรสระบุว่า เจ้าหน้าที่เอฟบีไอทำงานอย่างหนักตลอดเวลา เพื่อตรวจสอบอีเมล์จำนวนมากจากเซิร์ฟเวอร์อีเมล์ส่วนตัวของนางฮิลลารี ซึ่งเป็นอีเมล์ทั้งหมดที่นางฮิลลารีได้รับและส่งระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ และเอฟบีไอขอยืนยันการพิจารณาเดิมที่เคยสรุปต่อสภาเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมาว่า นางฮิลลารีไม่สมควรถูกดำเนินคดี เพราะไม่มีความผิดทางอาญา

ด้านนายทรัมป์กล่าวอย่างไม่พอใจว่า เป็นการเล่นสกปรก ตุกติก พร้อมกล่าวโจมตี เอฟบีไอในการปราศรัยหาเสียงที่เมือง ดีทรอยต์ รัฐมิชิแกนว่าเอฟบีไอสืบสวนผิดพลาด เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เอฟบีไอจะตรวจสอบอีเมล์ของนางคลินตันถึง 650,000 ฉบับได้ภายในเวลาอันสั้น พร้อมย้ำว่า นางคลินตันกำลังได้รับการปกป้องจากระบบที่คดโกง

“ฮิลลารีมีความผิด เธอก็รู้ดี เอฟบีไอก็รู้ และชาวอเมริกันก็รู้ ตอนนี้เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องไปตัดสินเธอที่หีบเลือกตั้ง” ทรัมป์กล่าว

ส่วนนายนิวต์ กิงกริช ที่ปรึกษาของนายทรัมป์ โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า ผอ. เอฟบีไอถูกกระแสการเมืองกดดันอย่างหนัก ผลการตรวจสอบจึงออกมาในลักษณะนี้

ด้านนางเคลลีแอนน์ คอนเวย์ หัวหน้าทีมหาเสียงของนายทรัมป์ กล่าวว่าผลสรุปของเอฟบีไอที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แสดงให้เห็นว่านางฮิลลารีจะยังเป็นคนเดิมที่สะเพร่า ไม่ระมัดระวัง และโกหก

ขณะที่ผลสำรวจคะแนนนิยมของหลายสำนักเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือนาง ฮิลลารีมีแต้มต่อนำนายทรัมป์ โดยผลสำรวจของเอ็นบีซีนิวส์ และวอลล์สตรีตเจอร์นัล ระบุว่านางฮิลลารีนำห่าง 4 จุด ส่วนวอชิงตันโพสต์ และเอบีซีนิวส์ ชี้นางฮิลลารีนำมากถึง 5 จุด ที่ร้อยละ 48 ต่อ 43

ด้านบีบีซีระบุว่า หากการเลือกตั้งครั้งนี้นางคลินตัน ได้รับชัยชนะจะส่งผลให้สหรัฐมีประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐที่มีชื่อเสียงในฐานะชาติที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเท่าเทียมรวมไปถึงสิทธิสตรี ยังตามหลังชาติอื่นในโลกอีก 44 ประเทศ ที่มีผู้นำหญิงคนแรกไปแล้วก่อนหน้านี้ อาทิ ศรีลังกา อินเดีย อิสราเอล อังกฤษ นอร์เวย์ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศมุสลิม เช่น ปากีสถาน บังกลาเทศ โดยชาติล่าสุดที่มีผู้นำหญิงคนแรกของประเทศ ได้แก่ ตรินิแดด มาลี และประเทศไทย ที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นสตรีที่ได้ตำแหน่งผู้นำหญิงคนแรกของประเทศคนล่าสุดของโลก

วันเดียวกัน ที่ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานเสวนา “โค้งสุดท้ายสู่ทำเนียบขาว : ผล กระทบต่ออาเซียนและไทย” โดยมี รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. รศ.ดร.วิวัฒน์ มุ่งการดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และดร.อมรเทพ จาวะลา ผอ.อาวุโส สำนักการวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) เป็นวิทยากร

ดร.วิวัฒน์กล่าวว่า การเลือกตั้งสหรัฐครั้งนี้ถือว่าไม่เหมือนและแปลกกว่าครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากมีความโกรธแค้นในสังคมอเมริกาจากกรณียึดถนนประท้วงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นทั่วประเทศ ที่คนร่ำรวยเพียงร้อยละ 1 ของสหรัฐได้รับการศึกษา สาธารณสุข และวิถีชีวิตที่ดีที่สุด รวมทั้งทำงานบริษัทใหญ่โตและเข้าไปมีอำนาจในรัฐบาลวอชิงตัน ทำให้ปิดกั้นคนที่เหลือส่วนใหญ่ของประเทศ

นอกจากนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้มีความคล้ายระบอบรัฐสภามากขึ้น จากเดิมที่เลือกประธา นาธิบดีกับส.ว.มาจากคนละพรรคการเมืองเพื่อคานอำนาจกัน กลายมาเป็นว่าเลือกประธานาธิบดีและส.ว.จากพรรคเดียวกัน เพื่อให้สภาคองเกรสผ่านกฎหมายต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

ดร.วิวัฒน์เชื่อว่า โอกาสที่นางคลินตันจะชนะมีมากถึงร้อยละ 80 เพราะมีคะแนนคณะเลือกตั้งอยู่ 268 เสียง ต้องการเพียงอีก 1 รัฐ ก็จะเกินกึ่งหนึ่ง ส่วนนายทรัมป์มี 204 เสียง ต้องได้คะแนนอีก 4 รัฐ อย่างไรก็ตาม นายทรัมป์ได้คะแนนนำในรัฐโอไฮโฮ ซึ่งน่าจับตามองมาก เพราะเป็นตัวชี้ว่าใครได้คะแนนเสียงรัฐนี้ก็จะชนะ

ดร.วิวัฒน์กล่าวต่อว่า ในประเด็นทางการทหาร นายทรัมป์กลับไม่มีความรู้อย่างลึกซึ้งมากพอ ที่ต้องการให้พันธมิตรประเทศที่สหรัฐประจำการอยู่ช่วยออกค่าใช้จ่ายด้วย ทั้งที่จริงแล้วฐานทัพสหรัฐอเมริกาที่กระจายตัวทั่วโลกนั้น เพื่อคานอำนาจและสกัดกั้นมหาอำนาจต่างๆ เช่น รัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ หากมีเหตุปะทะกันก็ให้มีสงครามกันพื้นที่ดังกล่าว ไม่ต้องมาถึงสหรัฐอเมริกาเอง ส่วนนางคลินตันหากชนะการเลือกตั้งแล้ว การแบ่งขั้วการเมืองจะรุนแรงมากขึ้น โดยพรรครีพับลิกันจะโจมตีนางคลินตันอย่างหนัก เพื่อให้พรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้งครั้งในปี 2563 ให้ได้

ด้านดร.อมรเทพชี้ว่า ไม่ว่านายทรัมป์หรือนางคลินตันชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็เป็นความพ่ายแพ้ของคนอเมริกันทั้งชาติ โดยผลสำรวจส่วนใหญ่พบว่าคนอเมริกันเลือกนายทรัมป์เพราะไม่ชอบนางคลินตันที่มีความเคลือบแคลงต่างๆ สำหรับนโยบายการคลังของนายทรัมป์และนางคลินตันจะมีความแตกต่างกันอยู่มาก แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ จะเพิ่มหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในประเทศทั้งสิ้น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ควรจับตาพรรคการเมืองใดจะเป็นเสียงข้างมากในสภาคองเกรส หากประธานาธิบดีคนใหม่และสมาชิกรัฐสภาเป็นคนละพรรคการเมืองอาจเกิดความขัดแย้ง และเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนที่นายโอบามาเจรจาเพดานหนี้กับสภาครองเกรสไม่สำเร็จ เมื่อเดือนต.ค.2556 จนประเทศเข้าสู่ภาวะชัตดาวน์การทำงานของรัฐ

ดร.ประภัสสร์กล่าวว่า แนวคิดทางการเมืองของนายทรัมป์นั้นเป็นที่น่าสนใจมาก และอาจส่งผลกระทบต่อโลกได้ เพราะไม่มีผู้นำสหรัฐคนไหนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมขวาจัด และชาตินิยมสุดโต่งมากขนาดนี้ หากจะมีก็ย้อนไปสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีลัทธินาซีและฟาสซิสต์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ ในยุโรปมีความนิยมพรรคนีโอนาซีและฟาสซิสต์มากขึ้นเช่นกัน

ดร.ประภัสสร์กล่าวว่า นางคลินตันมีแนวคิดเสรีนิยมและมีความร่วมมือกับต่างประเทศผ่านนโยบายทางการทูต และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ จึงได้เปรียบและรู้ลึกซึ้ง มีมาตรการเป็นรูปธรรม แต่พรรคเดโมแครตเองก็ยังมีจุดอ่อนที่พรรครีพับลิกันโจมตีคือ ความอ่อนแอของการดำเนินนโยบาย เช่น การแก้ปัญหากลุ่มรัฐอิสลามที่ยังคาราคาซังอยู่ เพราะฉะนั้น นางคลินตันต้องนำเสนอนโยบายที่แข็งกร้าวมากกว่านี้ สำหรับในภูมิภาคอาเซียนและไทยนั้น จะไม่มีผลกระทบอะไรมากนัก เพราะสหรัฐจะกลับมาให้ความสำคัญในภูมิภาคดังกล่าวเพื่อถ่วงดุลและสกัดอำนาจจากอิทธิพลของจีน ซึ่งเป็นการสานต่อนโยบายของนายโอบามาเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน