ย้อนฟังเสียงคนในพื้นที่ กว่า 2,000 คน เปิดเหตุผล อยากได้แนวเขตปี 2543 อุทยานฯทับลาน ปกป้องที่ดินทำกิน ชี้ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน

จากกรณี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็น การเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อนำไปเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2567

เบื้องต้น นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ ให้สัมภาษณ์ว่า การรับฟังความเห็นในพื้นที่ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 4-5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนการรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์กรมอุทยานฯจะสิ้นสุดในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้

ล่าสุดวานนี้ (8 ก.ค.) ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่ามีผู้แสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมอุทยานฯแล้ว 6-7 หมื่นคน คาดว่าเมื่อสิ้นสุดการเปิดรับฟังความเห็นน่าจะมีผู้แสดงความเห็นถึงหลักแสนคน

ย้อนกลับไป วันที่ 5 กรกฎาคม ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) ได้ให้อุทยานแห่งชาติทับลาน จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน กรณีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

ภาพประกอบ

สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีมติเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 เห็นชอบแนวทางการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ.2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐบูรณาการ มาตราส่วน 1: 4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

ต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นชอบแนวทางดังกล่าว โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการในเรื่องต่างๆ ตามอำนาจและหน้าที่ที่ถูกต้อง รอบคอบ เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

อุทยานแห่งชาติทับลานจึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว ในครั้งนี้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ดังกล่าว

เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกรมอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่ให้สงวน อนุรักษ์ คุ้มครองและบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติและความหลากหลายของทางชีวภาพในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดและยั่งยืน

โดยวันนั้น (5 ก.ค.) มีชาวบ้านใน 4 อำเภอของ จ.นครราชสีมา ได้แก่ อ.วังน้ำเขียว, อ.ปักธงชัย, อ.ครบุรี, อ.เสิงสาง กว่า 2,000 คน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เดินทางมาร่วมรับฟังและให้ความเห็น

ภาพประกอบ

ณ วันนั้น นายอุดม สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลสะแกราช เปิดเผยว่า มาในฐานะตัวแทนชาวบ้านหมู่ 13 บ้านโคกไผ่แก้ว ต.สะแกราช อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามแผนที่ พ.ศ.2524 ทับซ้อนที่ดินของราษฎรในชุมชนเต็ม ๆ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ทำไร่หรือปลูกสร้างอะไรก็ยาก ทำมาหากินลำบาก ต้องยึดตามข้อปฏิบัติของอุทยานฯ

นายอุดมเผยว่า อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ โดยให้ยึดตามแนวเขตปี 2543 ส่วนเรื่องเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.ก็อยากให้แปรสินทรัพย์เป็นทุนได้ ก็จะเกิดประโยชน์กับชาวบ้านอย่างมาก

ขณะที่ นางสมบูรณ์ หนึ่งในชาวบ้านบ้านคลองไทร ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่ได้รับผลกระทบ บอกว่า อยากจะมาขอให้ยึดตามแนวเขต พ.ศ.2543 เพราะแม่ของตนมีที่ทำกินอยู่บริเวณที่มีการทับซ้อนแนวเขต ประมาณ 70 ไร่ โดยแนวเขต พ.ศ.2524 ทับซ้อนกับเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.อยู่ จึงอยากให้ยึดแนวเขต พ.ศ.2543 ซึ่งเป็นปัจจุบันมากกว่า

ภาพประกอบ

นางสมบูรณ์กล่าวว่า แต่ถ้าไม่ได้ ก็ยังต้องทำมาหากินในพื้นที่นั้นตามเดิม จะถอยร่นออกไปก็ชนเขา ขยับไปที่อื่นไม่ได้แล้ว ต้องทนอยู่ต่อไป เพราะครอบครัวทำกินในที่ดินผืนนี้มาตั้งแต่แม่ยังไม่เกิด

“อยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิดปี 2515 จนตอนนี้อายุ 52 ปีแล้ว ซึ่งแผนที่ปี 2524 มาประกาศแนวเขตในภายหลัง แถมยังมาทับซ้อนที่ทำกินของครอบครัวอีก อยากให้รัฐบาลเห็นใจและให้ความเป็นธรรมในเรื่องนี้ด้วย” นางสมบูรณ์กล่าว

ภาพประกอบ

ภาพประกอบ

ที่มา : มติชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน