เพจ ฮินดูอินดี้ ได้โพสต์สาระน่ารู้จากละครบุพเพสันนิวาส ว่า ขอเกาะชายผ้าพี่ขุนเดชเสียหน่อย จากเมื่อคืนที่ละครบุพเพสันนิวาสฉายมาถึงตอนที่ แม่การะเกด ได้เข้าไปเล่นซนกับมนต์กฤษณะกาลี จนสิ้นสติไป ทำให้ท่านลุงพระยาโหราธิบดี ให้คุณพี่เดชร่ายมนต์อีกครั้งเพื่อเรียกแม่การะเกดกลับมา จึงทำให้คุณพี่เดชของเราต้องสวมวิญญาณพราหมณ์อีกครั้งเพื่อร่ายมนต์ดังกล่าว

ทีนี้ชุดพราหมณ์ที่คุณพี่เดชใส่นั้นเนี่ย มีองค์ประกอบหลัก ๆ คือ ผ้านุ่งขาว ผ้าพาดบ่า (ในอินเดียใช้ห่มคลุมไหล่ แต่บ้านเราเมืองร้อนกว่าเขาจึงเอามาพาดบ่า) สร้อยลูกประคำ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นสร้อยที่ทำจากเม็ดน้ำตาพระศิวะ แขกเรียก “รุทรากษะ / रुद्राक्ष” (รุทร = พระศิวะ) พร้อมเจิมหน้าผา

https://en.m.wikipedia.org/wiki/Tilaka#/media/File%3AExamples_of_Tilaks_or_sect-marks.jpg

อนึ่งการเจิมหน้าผากในวัฒนธรรมอินเดียเชื่อกันว่า เป็นการรับพลังจากพระเป็นเจ้า เพราะบริเวณกลางหน้าผากนั้นเป็นจุดจักระจุดหนึ่ง ชื่อว่า อาชญา (Ajna) เป็นจุดรวมของจักระที่วิ่งในอากาศกับตัวเรา จึงถือว่าสำคัญมากทีเดียว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ตัวเจิม (แบบแขกเรียก ติละกะ /तिलक/tilaka) ของคุณพี่เดชมีลักษณะเป็นตัวยู มีจุดตรงกลาง ติลกทรงนี้เรียกว่า “ศรีไวษณวะ อุรธวะ ปุณทระ” แปลว่า “ติลกที่ตั้งขึ้นแห่งศรีวิษณุ” สะท้อนแนวคิดแบบไวษณพนิกายที่เน้นการอยู่ร่วมกับโลก หากไปดูของไศวนิกายจะพบว่านิยมเจิมเป็นแนวนอนแสดงแนวคิดการละทิ้งโลก / ทำลายโลกของพระศิวะ

หากจะแบ่งติลกนี้ให้ละเอียดอีกนิดนึงก็จะแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เหมือนตัว U เรียกว่า “อุรธวะ ปุณทระ” (อุรธวะ แปลว่า ตั้งตรง) กับ ส่วนสีแดงด้านในเรียกว่า “ตุลสี” มาจากพระนามของเจ้าแม่ตุลสี หนึ่งในชายาพระวิษณุ เหตุที่เรียกว่า ตุลสี เนื่ิองจากจุดเเดงนั้นนิยมจะเจิมให้มีปลายยอดแหลมคล้ายใบกะเพรา (ตุลสี เป็นเจ้าแม่กะเพรานั่นเอง มีโอกาสจะมาเล่าอีกครับ) ทั้งนี้ดิลกแบบไวษณพนิกายยังมีอีกหลายแบบแตกต่างกันไปตามสายความเชื่อย่อย ๆ ในนิกายไวษณพ เช่น ตัวUใหญ่เหลี่ยม จุดแดงเรียวเล็กแหลม ตัวUยาวมีฐานยาวตั้งแต่ดั้งจมูกถึงตีนผม จุดด้านในไม่มี เป็นต้น

ยังไงก็ตามจากการเจิมแบบนี้ บวกกับชื่อมนต์ก็พอทำให้รู้ได้ว่าบ้านนี้เป็นไวษณพนิกาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน