ออสเตรเลีย และประเทศไทย 2 ชาติ มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในหลากด้าน หลายมิติ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความร่วมมือที่มีมาอย่างยาวนาน คือความร่วมมือด้านการปราบปรามยาเสพติด อันเป็นภัยคุกคามระดับสากล ที่จำเป็นต้องบูรณาการการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง

เมื่อเร็วๆ นี้ เอียน แมคคาร์ตนีย์ รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจสหพันธ์ออสเตรเลีย เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อกระชับความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการปราบปรามยาเสพติดของประเทศไทย อาทิ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ปส.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ตอกย้ำความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้เปิดทำเนียบต้อนรับเพื่อร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความร่วมมือ

รอง ผบ.แมคคาร์ตนีย์

รอง ผบ.แมคคาร์ตนีย์ เล่าถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานยุติธรรมของออสเตรเลีย กับประเทศไทย ระบุว่า ทางสำนักงานตำรวจสหพันธ์ออสเตรเลีย ทำงานร่วมกับ ปส. และ ป.ป.ส. มายาวนานแล้ว ผลจากความร่วมมือนี้เองที่ยังประโยชน์ให้กับทั้งสองประเทศ ตัวอย่างของความร่วมมือที่เห็นชัดเจน คือปฏิบัติการ Taskforce Storm ที่เป็น ความร่วมมือระหว่างหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจร่วมไทย-ออสเตรเลีย ด้านปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติ

เอียน แมคคาร์ตนีย์ รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจสหพันธ์ออสเตรเลีย, ดร.แอนเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย, นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และ พล.ต.ต.นพสิทธิ์ มิตรภักดี ผบก.ปส.1

“ปฏิบัติการ Taskforce Storm เป็นปฏิบัติการระดับนานาชาติที่ประสบความสำเร็จที่สุด ของตำรวจออสเตรเลีย ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา เรายึดยาเสพติดได้มากกกว่า 14 ตัน ทั้งในประเทศไทยและในออสเตรเลีย” รองผู้บัญชาการกล่าว และว่า 14 ตัน นับเป็นตัวเลขยาเสพติดมหาศาล แต่สิ่งสำคัญของปฏิบัติการนี้ คือการปกป้องประชาชนจากภัยยาเสพติด”

และเพราะปัญหายาเสพติด ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาภายในประเทศ แต่เป็นภารกิจระหว่างประเทศ แม้ออสเตรเลียจะประสบความสำเร็จในยุทธศาสตร์ภายใน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างชาติจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่องค์กรอาชญากรรมมีความสามารถและเชื่อมโยงกันทั้งโลก ตำรวจออสเตรเลียจึงต้องทำงานนอกบ้าน เป็นที่มาของความร่วมมือกับ ปส. และ ป.ป.ส. ที่นี่

รอง ผบ.แมคคาร์ตนีย์ เผยว่า ความร่วมมือออสเตรเลีย-ไทย ในการปราบปรามการค้ายาเสพติด มีหลายด้าน ทั้งด้านบุคลากร รวมถึงด้านข่าวกรอง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ช่วยป้องกันอาชญากรรมทั้งในประเทศไทยและออสเตรเลีย ความร่วมมือที่สำคัญ คือโครงการความร่วมมือด้านการตรวจพิสูจน์และการข่าวยาเสพติด (AMPLIO) ที่ทางออสเตรเลีย สนับสนุนหน่วยงานของไทย ซึ่งถือเป็นประเทศที่บทบาทนำในกลุ่มประเทศสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

“การมาเยือนไทยครั้งนี้ นอกจากเพื่อการทำงานกับทีมปฏิบัติการแล้ว ยังเป็นการมาเพื่อขอบคุณเพื่อนร่วมงานชาวไทย ที่สนับสนุนกันมาในภารกิจต่างๆ และการพูดคุยเกี่ยวกับปฏิบัติการ Taskforce Storm และโครงการ AMPLIO รวมถึงมองหาโอกาสใหม่ๆ สำหรับการทำงานในภายภาคหน้าด้วย” รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจสหพันธ์ออสเตรเลีย กล่าว

ดร.แอนเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย

ดร.แอนเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งผู้มีบทบาทในความร่วมมือระหว่างสองประเทศ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ประเทศไทยและออสเตรเลีย ได้ลงนามในการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในปี 2563 และความร่วมมือของหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามยาเสพติดก็เป็นส่วนสำคัญของหุ้นส่วนยุทธศาสตร์นี้

ภายใต้แผนปฏิบัติการร่วม สองประเทศยังได้ระบุแนวทางเพิ่มเติมว่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร และดังที่รองผู้บัญชาการกล่าวไว้ นี่ถือเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชนในออสเตรเลีย ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการเข้าถึง การค้ายาเสพติด หรือแม้แต่การใช้ยาเสพติดตามท้องถนน ดังนั้นความร่วมมือนี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง

“เรารู้สึกขอบคุณมากที่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย และมีการสนทนาและความร่วมมือที่ดีในทุกระดับกับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย ดิฉันทราบว่า นายกรัฐมนตรี แพรทองธาร ชินวัตร และอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ก็ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหายาเสพติด และเราก็ได้มีการพูดคุยในระดับการเมืองเช่นกัน” ทูตออสเตรเลีย กล่าว

 

 


ทูตแมคโดนัลด์ ระบุว่า ภัยคุกคามนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้น วิธีการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ด้วย นี่คือเหตุผลว่าทำไมความสัมพันธ์ระหว่างเราทั้งสองประเทศจึงมีความสำคัญมาก

ท่านทูต เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของส่วนประกอบทางเคมีในยาเสพติดสังเคราะห์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก สูตรทางเคมีเหล่านี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และกระบวนการผลิตก็เปลี่ยนไปเช่นกัน

ดังนั้น การจัดการกับสารเคมีตั้งต้นและการดำเนินการในระยะต้น ๆ ก่อนที่จะเกิดการผลิตจึงมีความสำคัญ และการติดตามเส้นทางการเงินก็สำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นการฟอกเงิน หรือการจัดการกับกระแสเงินที่ผิดกฎหมาย

“ดิฉันคิดว่าการจัดการทั้งในระยะต้นของกระบวนการผลิตและการไล่ตามเส้นทางการเงินนั้นมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของเรายังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง” ท่านทูตกล่าว

พล.ต.ต.นพสิทธิ์ มิตรภักดี ผบก.ปส.1

ด้าน พล.ต.ต.นพสิทธิ์ มิตรภักดี ผบก.ปส.1 เผยว่า กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ปส.) ถือเป็นตัวแทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ดูแลเรื่องการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งทาง ปส.ก็ได้มีความร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การขนส่งยาเสพติดทางเรือและทางอากาศมีเยอะขึ้นมาก อย่างยาไอซ์ที่ถูกส่งไปออสเตรเลีย หรือไต้หวัน และช่วงหลังยังมีเฮโรอีน และเคตามีน ที่ถูกส่งไปออสเตรเลียด้วย ซึ่งทางออสเตรเลียก็พยายามแก้ปัญหาร่วมกับทางไทย มีการจัดประชุมหลายครั้งเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา” ผบก.ปส.1 กล่าว

พล.ต.ต.นพสิทธิ์ ระบุว่า ทาง ปส. ได้ร่วมมือกับหลายประเทศในการแก้ปัญหายาเสพติด และในอนาคตก็จะได้มีแผนการหรือกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการสกัดกั้นยาเสพติดที่มากขึ้น อย่างออสเตรเลีย ก็สนใจในเรื่องการสกัดกั้นตั้งแต่ต้นทาง และการวิเคราะห์ที่มาของยาเสพติด ที่จะทำให้ทราบว่า ยาเสพติดพวกนี้มาจากโรงงานไหน และทำให้กำหนดตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องได้

นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ รองเลขาธิการ ป.ป.ส.

อีกหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ไทยไม่มีแหล่งผลิต แต่แหล่งผลิตยาเสพติดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก สถานการณ์การเมืองที่ไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน ยังส่งผลให้เกิดการผลิตยาเสพติดจำนวนมาก ประเทศไทยถูกใช้เป็นทางผ่านในการส่งออกยาเสพติดไปสู่ประเทศที่สาม ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่รัฐบาลไทยพยายามแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

รัฐบาลออสเตรเลีย และ ป.ป.ส. ได้ทำงานร่วมกันมายาวนานมากกว่า 4 ทศวรรษ และในห้วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาก็ได้มีความร่วมมือมาโดยตลอด

“ออสเตรเลีย มีลักษณะเป็นทวีป การลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้าออสเตรเลีย ทำได้ 2 ทาง คือทางอากาศ และทางเรือ ซึ่งทางไทยและออสเตรเลีย ก็ได้มีปฏิบัติการปราบปรามร่วมกันมาโดยตลอด สำหรับ Taskforce Storm ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มีปฏิบัติการร่วมกันไปแล้วมากกว่า 20 ครั้ง มีการสืบสวนจับกุม ไม่ใช่เฉพาะแค่การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร”

รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ยังกล่าวอีกว่า ปัญหายาเสพติด เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถแก้ไขปัญหา เนื่องจากกระบวนการค้ายาเสพติดมีหลายมิติ ทั้งมิติเรื่องการผลิต สารตั้งต้นถูกลักลอบนำเข้ามาจากหลายประเทศ การลักลอบลำเลียงยาเสพติดออกจากแหล่งผลิตที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปสู่ประเทศที่สาม ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ

ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้ เครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการเชื่อมโยงฐานข้อมูล ไม่ใช่ในมิติเชิงวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ในเรื่องของการข่าวด้วย ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างยิ่ง ในการสืบหาต้นตอแหล่งที่มาของยาเสพติดในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ในอนาคต ประเทศไทยและออสเตรเลียจะได้บูรณาการขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เช่น เมียนมา ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งจะทำให้เครือข่ายการสกัดกั้นยาเสพติดมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน