อดีตนายกแพทยสภา จี้ สธ. คุมการเข้าใช้บริการ ห้องฉุกเฉิน กรณีไม่ด่วนต้องเก็บเงิน หากไม่มั่นใจ หรืออาการก้ำกึ่ง สามารถโทร 1669 สอบถามก่อนมาสถานพยาบาล

วันที่ 12 ธ.ค.2567 ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา ตัวแทนชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ พร้อมด้วย ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์, นพ.โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์, พล.ต.นพ.พัฒนา กิจไกรลาส และ พญ.ลลิดา วีระวิทยานันต์ เข้ายื่นหนังสือถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เพื่อขอให้จัดระบบการตรวจในห้องฉุกเฉินเป็นการตรวจรักษาเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินตามเกณฑ์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินเท่านั้น โดยได้ยื่นผ่านทางสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กล่าวว่า ในนามชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2546 ดำเนินการต่อสู้เพื่อวิชาชีพแพทย์และประชาชนมาตลอด ในแต่ละเรื่องที่เกี่ยวข้อง วันนี้มายื่นหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข เพื่อขอให้จัดระบบการตรวจในห้องฉุกเฉินเป็นการตรวจรักษาเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ

เนื่องจากขณะนี้การตรวจรักษาผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่างๆ แพทย์ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งฉุกเฉิน และไม่ฉุกเฉินในแต่ละเวรเป็นจำนวนมาก ทำให้การตรวจ วินิจฉัยและรักษาไม่สามารถทำได้อย่างละเอียดรอบคอบ

“แพทย์ทำงานฉุกเฉิน (ER) มีความยากลำบากมาก เพราะจะมีผู้ป่วยที่ฉุกเฉินจริงๆ เราต้องรับดูแลเพื่อให้เขารอดชีวิต ซึ่งโดยทั่วไปห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล (รพ.) คนทำงานแทบไม่ได้นั่งพัก แต่ในความเป็นจริงกลับมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ไม่ได้มีอาการฉุกเฉิน แต่คิดว่าตัวเองฉุกเฉิน หรือบางคนต้องการความสะดวกก็มาตอนนอกเวลา

เพราะคิดว่าจะเร็วกว่า โดยไม่ได้คิดอะไร แต่ไม่ได้คำนึงว่าแพทย์ต้องดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินจำนวนมาก หากต้องเอาเวลาไปดูแลผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินย่อมทำให้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ อาจผิดพลาดได้ กรณีเราจะเห็นเคยเกิดขึ้นก็มี ฟ้องร้องกันก็มี แต่ที่สำคัญเราห่วงความปลอดภัยของผู้ป่วย จึงนำเสนอรัฐมนตรีหาทางแก้ไขเรื่องนี้” ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กล่าว

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กล่าวอีกว่า ชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ มีความเป็นห่วงในสถานการณ์นี้เป็นอย่างยิ่ง จึงเรียนเสนอท่านรัฐมนตรี เพื่อขอให้จัดระบบการตรวจผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน ให้เป็นการตรวจเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินตามเกณฑ์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินเท่านั้น

กรณีไม่ใช่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินตามเกณฑ์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และผู้ป่วยยังยืนยันขอตรวจให้คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม 100-300 บาท ตามที่สถานพยาบาลแต่ละแห่งกำหนด โดยผู้ป่วยต้องจ่ายเงินส่วนนี้

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ที่ให้เก็บเงินผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน เพื่อเป็นการให้เข้าใจว่า ห้องฉุกเฉินควรต้องให้การดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นลดโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินได้ แทนที่แพทย์จะใช้เวลาในการช่วยหรือกู้ชีวิตผู้ป่วย ต้องมาเจียดเวลาดูแลผู้ป่วยที่อาการไม่ฉุกเฉิน หรือไม่วิกฤต

เมื่อถามว่าการเก็บเงินเพิ่มผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินจะเกิดกระแสคัดค้าน เพราะคำว่าฉุกเฉินแต่ละคนไม่เหมือนกัน ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กล่าวว่า หากไม่ฉุกเฉินก็ต้องไม่รับบริการแผนก ER ซึ่งจะมีคำนิยามกำหนดของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินอยู่ ซึ่งหากไม่มั่นใจ หรืออาการก้ำกึ่งสามารถโทรสายด่วน 1669 สอบถามก่อนมาสถานพยาบาลได้ เพราะหากฉุกเฉินก็จะมีรถฉุกเฉินไปรับ

ซึ่งจะเป็นขั้นตอนของการระบบการแพทย์ฉุกเฉินอยู่แล้ว แต่หากอาการไม่หนัก ไม่ได้เข้าข่ายป่วยฉุกเฉิน จะมีคำแนะนำในการดูแลตัวเอง และมารับบริการยังสถานบริการในช่วงเวลากลางวัน เวลาปกติได้ หรืออาจรับบริการคลินิกนอกเวลาได้ จริงๆในแผนก ER ควรมีป้ายกำกับว่า อาการฉุกเฉินที่เข้าข่ายเป็นอย่างไร ซึ่งหลายแห่งก็มีระบุให้คนไข้ทราบ

“ประเด็นหลักเราห่วงเรื่องอาการของผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ เพราะหากแพทย์ไม่มีเวลาไปดูแลจะเสียโอกาสการรอดชีวิตได้ ส่วนภาระงานแพทย์ก็สำคัญ เป็นเรื่องรองลงมา สิ่งสำคัญคือ ชีวิตของผู้ป่วยที่ฉุกเฉินวิกฤต” ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน