ไม่รู้จักระวังเอาต์!! ส่อง10 อันดับ คำศัพท์ใหม่แห่งปี 2024 โซเชียลฯ ใช้ฉ่ำ ค้นหา ‘ติดแกลม’ ผงาดมาแรงอันดับ1

เรียกได้ปี 2024 เป็นอีกหนึ่งปีที่เกิดวลีฮิต คำศัพท์โซเชียลฯ มากมาย จนหลาย ๆ คนอาจ งุนงง และตามไม่ทันกระแสเทรนด์กันเลยทีเดียว

ไม่รอช้า ทาง Google ประเทศไทย เปิดเผยผลคำค้นหายอดนิยมประจำปี 2567 หรือ “Year in Search 2024” ซึ่งเป็นการประมวลภาพรวมที่สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์ และพฤติกรรมของคนไทยว่าให้ความสนใจเรื่องอะไรตลอดทั้งปีที่ผ่านมา

โดยการจัดอันดับ 10 คำใหม่ ที่มีการค้นหาความหมายมากที่สุด ในหมวด “…แปลว่า” ซึ่งเป็นการรวมคำและวลีที่คนไทยสงสัยมากสุด 10 อันดับ มาให้ได้คลายสงสัยกันดังนี้

อันดับ 1 : ติดแกลม

คำนี้มีที่มาจากคำวิเศษณ์ในภาษาอังกฤษคำว่า “Glamorous” ที่แปลว่า สวยหรู ดูมีเสน่ห์ โดยนำมาเฉพาะเสียงในส่วน “Glam” (แกลม) ทำให้มีความหมายว่า ติดหรู ดูแพง หรือดูลุคคุณหนู ลุกส์ดูติดหรู

อันดับ 2 : อ่อม

พบว่าถูกใช้บนเว็บบอร์ดดังอย่าง Pantip.com มาตั้งแต่ช่วงปี 2000 โดยให้ความหมายเอาไว้ว่า กร่อย ไม่เลิศ ไม่เพอร์เฟกต์ ซึ่งมีการสันนิษฐานว่า เพี้ยนเสียงมาจากการพูดคำว่า “เอิ่ม” ซึ่งยังคงมีความหมายแบบเดียวกันกับที่ใช้งานในปัจจุบัน

อันดับ 3 : ทีโพ

คำนี้เรียกได้ว่า ฮิตมาจากการใช้ของ “จั๊กกะบุ๋ม” ตลกดังที่กลายเป็นประเด็นข่าวดัง ซึ่งหมายความว่าโอเค หรือตกลง ที่เจ้าตัวมักจะพูดบ่อย ๆ ในซิตคอมเรื่องบ้านนี้มีรัก

โดยอนุมานจากบทสนทนาในซิทคอม ที่ “สกล” ตัวละครของจั๊กกะบุ๋ม กำลังพูดคุยกับพี่เป๋ ก่อนจะตัดฉากด้วยการแท็กกันเพื่อคอนเฟิร์มข้อตกลง พร้อมกับที่เอ่ยปากออกมาว่า “ทีโพ” นั่นเอง

 

อันดับ 4 : โฮ่ง

มีที่มาจาก “มิกซ์ เฉลิมศรี” หนี่งในสมาชิกแก๊งหิ้วหวีที่นำคำนี้มาใช้ พร้อมโพสต์ความหมายของคำนี้ไว้ด้วยว่า “ขอแบบเริ่ด ๆ” โดยสามารถนำคำว่า “โฮ่ง” ไปใช้เป็นคำวิเศษณ์ขยายนามและกริยาได้ด้วย แปลว่า เริ่ด ดี จึ้ง เป็นความหมายในเชิงบวก

อันดับ 5 : เอดูเขต

มาจากคำว่า Educate ที่แปลว่าให้ความรู้ ให้ข้อมูล

อันดับ 6 : ฉ่ำ

หมายถึง ชุ่มชื้น หรือ ชุ่มนํ้าในตัว แต่ชาวไทยได้นำคำนี้มาใช้ในอีกความหมายคือ มาก ใช้ขยายความคำนามหรือกริยา โดยใช้งานทั้งการพูดแบบภาษาปาก และบนโลกอินเทอร์เน็ต สื่อถึงคำว่า มาก ชุ่มช่ำ หรือสุด ๆ

อันดับ 7 : ล่าแบ้

เป็นคำศัพท์ในวงการ LGBTQIA+ แปลว่า “บ้า” เป็นคำที่เป็นภาษาลู มักใช้เป็นวลี “จะล่าแบ้” หมายถึง “จะบ้า” เป็นคำที่ใช้พูดในเชิงบ่น

อันดับ 8 : ทําถึง

เป็นคำที่มาแรงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 โดยคำว่า “ทำถึง” แปลว่า ทำได้ดี ทำได้ตามคาดหวัง หรือ ทำได้เหนือความคาดหมาย

อันดับ 9 : รู้สึกนอยด์

คำว่า “นอยด์” ย่อมาจากคำว่า “พารานอยด์” หรือ Paranoid ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติทางความคิด ผู้ที่มีอาการนี้จะรู้สึกหวาดระแวงผู้อื่นโดยไม่มีสาเหตุ ไม่มีเหตุผล ถือเป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่ง แต่ในบริบทนี้ใช้ในเชิง รู้สึกไม่ดี รู้สึกแย่ น้อยใจ

คำนี้เข้ามาในไทยครั้งแรกในช่วงกลางยุค 2000 โดยวง Nologo ของ โดม ปกรณ์ ลัม ได้นำคำนี้ไปแต่งเป็นเพลงใช้ชื่อว่า “Paranoid” เป็นช่วงเดียวกับที่คนนำคำว่า “นอยด์” มาใช้สื่อถึงความรู้สึกไม่ดี รู้สึกแย่ น้อยใจ

จนเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา “ฟลุ๊คกะล่อน” เน็ตไอดอล คนดังบนโลกโซเชียลฯ ได้นำคำว่านอยด์กลับมาใช้อีกครั้ง ในวลีที่ว่า “นอยด์อะคุณน้า” ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นคำลงท้าย จนกลายเป็นคำติดปาก แต่ไม่ได้รู้สึกนอยด์แต่อย่างใด

และอันดับ 10 : แต่ละมื้อ แต่ละเว็น

ต้นฉบับมาจากคอนเทนต์ครีเอเตอร์ดังอย่าง “เซียนหรั่ง” ที่โพสต์คลิปตลก ๆ เปาปุ้นจิ้นฝึกวิทยายุทธ์ และใส่เสียงประกอบว่า “นี่คือจอมยุทธ์เด๊ะ แต่ละมื้อแต่ละเว็น นี่โอ๊ยทุ่มเทเวลาให้กับการฝึกฝนวิทยายุทธ์”

ซึ่งชาวเน็ตได้ตัดเอาแต่คำว่า “แต่ละมื้อ แต่ละเว็น” มาใช้ เป็นการบอกเล่าว่าวันๆ หนึ่งเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน