แพทย์เผย เริมไม่ใช่แค่ตุ่มน้ำใส แต่อาจเร่งให้อัลไซเมอร์กำเริบเร็วขึ้น แพทย์แนะอย่าละเลย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเริมซ้ำ ๆ
ไวรัสเริมแฝงตัวอยู่ในร่างกายและสามารถ “กระตุ้น” โรคอัลไซเมอร์ได้จริงหรือไม่ นพ. จาง เจียหมิง ผู้อำนวยการแผนกพันธุศาสตร์และการปรับปรุงพันธุ์ โรงพยาบาลทหารผ่านศึกไทเปออกมาเผยกรณีทางการแพทย์ให้ความรู้ด้านสุขภาพและเตือนว่า โรคเริมไม่ได้เป็นเพียงตุ่มน้ำใสเท่านั้น แต่ยังสามารถเร่งให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย
โดยระบุว่า “คุณอาจคิดว่าแผลเริมที่ริมฝีปากเป็นเพียงอาการเล็กน้อย แต่การวิจัยล่าสุดเผยว่า ไวรัสเริมที่ดูเหมือนไม่เป็นอันตรายนี้ อาจเป็น “ฆาตกรที่ซ่อนเร้น” และภัยเงียบเบื้องหลังโรคอัลไซเมอร์! ไม่ใช่แค่ปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมอีกประการหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม แต่ไวรัสเริม (Human Herpesvirus – HHV) อาจกระตุ้น “ความผิดปกติของยีน” ในสมอง ส่งผลให้ความจำและการรับรู้ของมนุษย์ค่อย ๆ ถูกทำลายไปทีละนิด
สิ่งที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่านั้น คือ นักวิทยาศาสตร์พบว่า ยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคเริม เช่น วาลาไซโคลเวียร์ (valacyclovir) และอะไซโคลเวียร์ (acyclovir) อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์และยังสามารถชะลอความลุกลามของโรคได้ด้วย
ไวรัสเริมที่แฝงอยู่ในร่างกาย สามารถ “กระตุ้น” อัลไซเมอร์ได้จริงหรือ? นักวิทยาศาสตร์สงสัยมานานแล้วว่า ไวรัสอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ ล่าสุด งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Alzheimer’s & Dementia ปี 2025 ซึ่งใช้ข้อมูลจากสองคลังสมองขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ (ROS/MAP และ MSBB) ได้ยืนยันสิ่งนี้
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีปริมาณ RNA ของไวรัสเริมในสมองเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับระดับของรอยโรคในสมอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ยิ่งไวรัสมีการเคลื่อนไหวมากเท่าใด ความเสียหายของสมองก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น และความจำและความสามารถในการคิดก็มีแนวโน้มที่จะเสื่อมถอยเร็วขึ้นด้วย
ไวรัสเริมไม่ใช่แค่ “อยู่เฉย ๆ” ในสมอง แต่มันทำให้ยีนในสมองทำงานผิดปกติ! นักวิจัยค้นพบว่า ไวรัสเริมสามารถกระตุ้น “ยีนกระโดด” (transposable elements – TE) ที่โดยปกติถูกควบคุมอย่างเข้มงวดในร่างกาย แต่เมื่อใดก็ตามที่มีไวรัสเข้ามาแทรกแซง ระบบควบคุมนี้จะเสียหาย ทำให้ยีนทำงานแบบไม่เป็นระเบียบ เหมือนแฮกเกอร์ที่ควบคุมไม่ได้ ผลที่ตามมาคือ การอักเสบในสมองเพิ่มขึ้น, เซลล์ประสาทตายเร็วขึ้น และอัลไซเมอร์อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ
ไวรัสเริม + ยีนควบคุมผิดปกติ = ศัตรูของความทรงจำ จากการศึกษา นักวิทยาศาสตร์พบว่าไวรัสเริมส่งผลต่อยีนกระโดดกลุ่ม “LINE1” ซึ่งพบมากในเซลล์ประสาทของสมองโดยเฉพาะอย่าง “เซลล์แอสโตรไซต์” (astrocytes) และ “ไมโครเกลีย” (microglia)
เมื่อยีน LINE1 ทำงานผิดปกติอาจทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในสมอง ทำให้เซลล์สมองต้องทำงานหนักขึ้นและอายุขัยสั้นลง อาการนี้พบได้ไม่ใช่แค่ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์เท่านั้น แต่ยังการเปลี่ยนแปลงเดียวกันนี้ในออร์แกนอยด์ของสมอง (เนื้อเยื่อสมองที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ) ที่ติดเชื้อไวรัสเริมได้อีกด้วย
ที่น่ากังวลกว่านั้นคือ กระบวนการนี้มีความเกี่ยวข้องกับ “NEAT1” ซึ่งเป็น RNA ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบในสมอง นั่นหมายความว่า ไวรัสเริมอาจเป็นตัวเร่งให้เกิดการเสื่อมของสมองอย่างรวดเร็ว และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมในระยะยาว
ยาต้านไวรัสเริม อาจเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันอัลไซเมอร์ แม้ว่าไวรัสเริมจะฟังดูน่ากลัว แต่ข่าวดีก็คือ ยาต้านไวรัสเริมอาจช่วยลดความเสี่ยงของอัลไซเมอร์ได้! นักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ป่วยเกือบ 80 ล้านคน และพบว่า ผู้ที่ใช้ยาต้านไวรัสเริมเป็นประจำ (เช่น valacyclovir, acyclovir) มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ
ไม่ใช่แค่สถิติเท่านั้น! ทีมวิจัยยังได้ทดสอบยาต้านไวรัสในโมเดลเซลล์สมองที่ติดไวรัสเริม และพบว่า ยาเหล่านี้สามารถยับยั้งไวรัสได้จริง
นอกจากนี้ ยังพบว่าการใช้ยาต้านไวรัสช่วยลดการทำงานผิดปกติของ LINE1 และลดการสะสมของโปรตีน Tau ที่เป็นสาเหตุสำคัญของอัลไซเมอร์ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นกระบวนการ “autophagy” ซึ่งเป็นการทำความสะอาดโปรตีนเสียหายในสมอง
อย่ามองข้ามเริม การรักษาอย่างจริงจังอาจช่วยปกป้องสมอง นพ.จางเจียหมิงชี้ให้เห็นว่าการค้นพบครั้งนี้มีข้อสรุปที่สำคัญว่า ไวรัสเริมไม่ใช่แค่ทำให้เกิดตุ่มน้ำใสหรือแผลที่ริมฝีปาก แต่มันอาจแฝงตัวและส่งผลกระทบต่อสมองของคุณในระยะยาวและส่งผลต่อสุขภาพสมองอย่างเงียบ ๆ ได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโรคเริมที่กลับมาเป็นซ้ำแสดงว่าไวรัสยังคงทำงานอยู่ ไม่ใช่หายแล้วจึงควรได้รับการรักษาอย่างจริงจัง
ดังนั้น หากคุณเป็นเริม อย่าละเลย! อย่าปล่อยทิ้งไว้! การรักษาแต่เนิ่น ๆ ไม่เพียงช่วยบรรเทาอาการระยะสั้น แต่ยังอาจช่วยรักษาความทรงจำและความสามารถในการคิดในอนาคตของคุณด้วย
นอกจากนี้ นพ.จางเจียหมิงยังเตือนสาธารณชนในตอนท้ายของบทความว่า “ในอนาคต นักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลเฉพาะของยาต้านไวรัสเหล่านี้ต่อผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ แต่สิ่งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าที่น่าตื่นเต้นแล้ว
บางที หากเรารักษาโรคเริมอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่จะหลีกเลี่ยงปัญหาชั่วคราวได้เท่านั้น แต่ยังห่างไกลจากโรคอัลไซเมอร์ซึ่งเป็นตัวขโมยความทรงจำอีกด้วย ดังนั้น ครั้งต่อไปที่คุณหรือครอบครัวของคุณเป็นโรคเริม อย่ามองว่าเป็นปัญหาเล็กน้อย การรักษาอย่างเหมาะสมอาจเป็นกุญแจสำคัญในการปกป้องสมองของคุณในอนาคต!”