หมอเจด เตือน ยิ่งอ้วน ยิ่งเสี่ยงเป็นมะเร็ง เผยวิธีลดความเสี่ยง แนะ อย่ารอให้สุขภาพพังก่อน ถึงค่อยเริ่มดูแลตัวเอง

นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กชื่อ หมอเจด ระบุว่า ยิ่งอ้วน ยิ่งเสี่ยงมะเร็ง! ลดความเสี่ยงยังไงมาดู

เวลาเราอ้วนหรือมีไขมันส่วนเกินไม่ได้แค่ทำให้เสื้อผ้าคับหรือเหนื่อยง่ายขึ้น แต่ยังเป็นหนึ่งในตัวการหลักที่เพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งตับ ลำไส้ใหญ่ ปากมดลูก รังไข่ ตับอ่อน และอีก 17 ชนิด

แล้วจะรู้ได้ไงว่าอ้วน มันไม่ใช่แค่ดูจากกระจกแล้วรู้สึกว่าตัวใหญ่ขึ้น แต่ต้องมีเกณฑ์ชัดเจน ซึ่งมีหลายวิธีในการวัด เช่น

ค่าดัชนีมวลกาย (BMI – Body Mass Index) คำนวณจากน้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง

  • ถ้า BMI 25 – 29.9 = น้ำหนักเกิน และ BMI 30 ขึ้นไป = อ้วน (เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ รวมถึงมะเร็ง)

สัดส่วนรอบเอวต่อสะโพก (Waist-to-Hip Ratio – WHR)

  • ผู้หญิงที่มีรอบเอวเกิน 80 เซนติเมตร และผู้ชายที่มีรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของรูปลักษณ์แล้ว แต่มันเกี่ยวกับสุขภาพล้วนๆ เพราะไขมันเยอะ = การอักเสบในร่างกายเยอะ = เซลล์มีโอกาสผิดปกติและกลายเป็นมะเร็งง่ายขึ้น มันเป็นยังไงจะเล่าให้ฟัง

1.ไขมันในช่องท้อง = จุดเริ่มต้นของปัญหา คนที่อ้วนโดยเฉพาะมีไขมันสะสมที่พุงเยอะๆ จะมีการหลั่งสารที่เรียกว่า ไซโตคายน์ (Cytokines) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการอักเสบเรื้อรัง สารหลักๆ ที่ว่าก็คือ TNF-alpha กับ IL-6 (Interleukin-6) ซึ่งทำให้ร่างกายเสบแบบไม่รู้ตัว

ถ้าสงสัยว่าตัวเองอักเสบมากแค่ไหน ลองไปตรวจเลือดดูค่า C-Reactive Protein (CRP) ถ้าจะให้แม่นยำสุดๆ ก็ต้องเป็น hsCRP (high-sensitivity C-Reactive Protein)

2.ดื้อต่ออินซูลิน = เซลล์โตไวเกินจำเป็น พอเราอ้วนขึ้น ร่างกายเริ่มดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) ซึ่งก็คือภาวะที่อินซูลินทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้ต้องผลิตออกมาเยอะขึ้น

แต่รู้ไหมว่า อินซูลินสูงๆ เนี่ย เป็นตัวเร่งให้เซลล์เจริญเติบโตไวขึ้น โดยเฉพาะถ้ามีเซลล์ผิดปกติอยู่แล้ว โอกาสที่มันจะกลายเป็นมะเร็งก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก

3.ฮอร์โมนจากไขมัน ไขมันไม่ได้เป็นก้อนเนื้อนะ แต่มันยังเป็นโรงงานผลิตฮอร์โมนบางตัวที่ส่งผลเสียกับร่างกาย เช่น เลปติน (Leptin) ซึ่งปกติช่วยควบคุมความหิว แต่ถ้าอ้วนมาก เลปตินจะสูงเกินไป และกระตุ้นให้เซลล์เติบโตเร็วขึ้นด้วย

ในขณะเดียวกัน ไขมันยังไปลดฮอร์โมนที่ดีอย่าง Adiponectin ซึ่งมีหน้าที่ลดการอักเสบและช่วยป้องกันเซลล์ผิดปกติไม่ให้ลามไปเป็นมะเร็ง แต่พอไขมันเยอะ Adiponectin ก็จะลดลง ซึ่งไม่ควรปล่อยไว้

4.ไขมันสะสม = DNA เสียหายง่ายขึ้น สิ่งที่ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งคือ DNA เสียหาย ตามปกติร่างกายมีระบบซ่อมแซม DNA แต่ถ้าการอักเสบเรื้อรังมันอยู่ตลอดเวลา ระบบนี้ก็เริ่มรวน ทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม

ที่แย่ไปกว่านั้น คือ ไขมันในช่องท้องยังทำให้ร่างกายผลิต Reactive Oxygen Species (ROS) หรือที่เราเรียกว่าอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นตัวทำลาย DNA แบบตรงๆ พอ DNA พัง ระบบซ่อมแซมพัง โอกาสเกิดเซลล์มะเร็งก็สูงขึ้นไปอีก

5.เพราะฉะนั้นลดน้ำหนัก ลดความเสี่ยงมะเร็ง

  • เลือกกิน เน้นอาหารที่ช่วยลดการอักเสบ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และไขมันดี (น้ำมันมะกอก อะโวคาโด ปลา) และอย่าลืมอย่าลืมโปรตีนด้วย
  • ขยับตัวให้มากขึ้น ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะช่วยเผาผลาญไขมันและทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น
  • เลี่ยงของหวานจัดและแป้งขัดขาว เพราะมันเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายดื้อต่ออินซูลินและสะสมไขมันมากขึ้น
  • นอนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง เพราะช่วงเวลาที่นอนคือช่วงที่ร่างกายซ่อมแซมตัวเอง
  • ลดความเครียด เพราะฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกายมากขึ้น

“ความอ้วนไม่ได้แค่ทำให้วิ่งแล้วเหนื่อยง่าย หรือใส่เสื้อผ้าไม่สวย แต่มันเป็นตัวเร่งให้เกิดมะเร็งด้วย ไขมันเยอะทำให้เกิดการอักเสบแบบเรื้อรัง ปรับฮอร์โมนให้ผิดเพี้ยน และเพิ่มโอกาสให้ DNA เสียหายจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง เพราะฉะนั้นลดน้ำหนัก ไม่ใช่แค่เพื่อให้ดูดี แต่เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงและลดความเสี่ยงโรคร้าย อย่ารอให้สุขภาพพังก่อน ค่อยเริ่มดูแลตัวเองนะครับ” นพ.เจษฎ์ ระบุ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน