รู้หรือไม่? อาหารยอดฮิตแห่งยุค “ส้มตำถาด” อาจกลายเป็นภัยสุขภาพเงียบ ทำเสี่ยงป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดและกระดูก วิธีแก้ง่ายๆ ไม่ต้องถึงขั้นเลิกกิน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “ตำถาด” หรือส้มตำที่จัดเสิร์ฟบนถาดพร้อมเครื่องเคียงหลากหลายชนิด ได้กลายเป็นเมนูยอดนิยมของคนไทยและต่างชาติ เพราะนอกจากเรื่องรสชาติแล้ว ภาพลักษณ์แปลกใหม่นี้ ก็ดึงดูดผู้คนในยุคแห่งโซเชียลมีเดีย แต่รู้หรือไม่ว่ามันอาจเป็นภัยเงียบ

โดย อาจารย์เจษฎ์ หรือ ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิชาการชื่อดัง ได้ออกมาพูดเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ในช่วงระยะหลัง ก็เริ่มมีการแชร์คำเตือนถึงอันตรายจากการกินตำถาดไปทั่วโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กเช่นกัน โดยมีข้อความว่า

“อยากเสนอพิษภัยจากถาดสังกะสีที่ใช้ใส่ตำถาด ส้มตำใส่ถาดน่ะ มันเป็นถาดขนของ ไม่ได้ทำมาเพื่อสัมผัสกับอาหารโดยตรง มีโลหะหนักละลายจากสีพ่นถาด สีเคลือบถาด ที่มีสารตะกั่วและถ้าถาดมีตำหนิ ก็จะมีสังกะสีและสนิมถูกกรดเปรี้ยวๆ จากน้ำมะขาม มะนาว มะเขือเทศกัดทำละลายออกมาผสมให้กินด้วย รู้สึกจะฮิตกันมาก อยากให้เปลี่ยนถาด หรือหาพลาสติกใส่อาหารมารอง หรือจะช่วยเตือนให้ทานกันน้อยลงก็ได้ ฝากไว้เป็นประเด็น”

รู้หรือไม่ว่า การรับประทานส้มตำที่ถูกใส่ในถาดสังกะสี อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้

ถาดสังกะสีที่ร้านส้มตำนำมาใส่อาหารนั้น เป็นถาดที่ไว้สำหรับใส่ของ หรือไว้รองภาชนะต่างๆ ไม่ได้มีไว้นำมาใส่อาหารโดยตรง ทำมาจากสังกะสีที่ถูกพ่น เคลือบ สีและสารเคมีมาแล้ว มีทั้งโลหะหนัก และสารตะกั่ว

หากนำมาใส่อาหารที่มีรสเปรี้ยว รสเค็มมากซึ่งมีความเป็นกรด และด่างสูง จะทำให้ถาดสังกะสีเกิดการกัดกร่อน ทำให้สารตะกั่วหลุดมาปนเปื้อนในอาหารได้

และในอีกกรณีหนึ่งนั้น คือการทำความสะอาดถาด หากมีการขัดล้างอย่างแรง อาจจะทำให้สารเคมีที่เคลือบอยู่หลุดร่อนออกมาปนเปื้อนกับอาหารได้เช่นกัน

พิษจากการได้รับสารตะกั่วนั้น มีทั้งอาการเฉียบพลันและเรื้อรัง หลังจากตะกั่วดูดซึมจากลำไส้แล้ว ตะกั่วจะเข้าสู่ตับโดยผ่านทางเส้นเลือดดำ บางส่วนจะถูกขับออกทางน้ำดีและอุจจาระ

ถ้าหากตะกั่วเข้าไปในปอด จะเข้าสู่กระแสเลือดซึ่งจะพาตะกั่วไปทั่วร่างกาย กระจายไปอยู่ที่เส้นผมและตามเนื้อเยื่ออ่อน เช่น สมอง ปอด ม้าม ตับ และไต ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงเฉียบพลันได้

ตะกั่วสะสมในร่างกาย ในกระแสเลือด ในเนื้อเยื่ออ่อน โดย 90% ของตะกั่วที่สะสมอยู่ในร่างกายจะอยู่ในกระดูก ซึ่งจะก่อให้เกิดพิษเรื้อรังทำให้มีอาการปวดตามข้อ กระดูกผุ และหักง่าย ถ้าไปสะสมที่รากฟันจะทำให้ ฟันหลุดได้ง่าย สารตะกั่ว สามารถเกาะกับกระดูกในร่างกาย ได้นานหลายสิบปี

อาการพิษเรื้อรังจากสารตะกั่ว คือ ปวดท้อง น้ำหนักลด เบื่ออาหารคลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก อาการพิษทางประสาท และสมอง ทำให้ทรงตัวไม่อยู่ ประสาทหลอน ซึม ไม่รู้สึกตัว ชัก มือและเท้าตก เป็นอัมพาต สลบ และอาจเสียชีวิตได้

จากกรณีดังกล่าว ได้มีการเก็บตัวอย่างถาดส่งตรวจ โดย น.ส.ดวงกมล เชาวน์ศรีหมุด นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า

ขณะนี้มีการเก็บตัวอย่างถาด และภาชนะโลหะเคลือบ ที่นิยมนำมาใส่ส้มตำ ทำเป็นจุดขายจนได้รับความสนใจจากประชาชน นิยมบริโภคกันมากในเวลานี้ นำมาทดลองทั้งหมด 30 ตัวอย่าง ด้วยการหยดกรดอะซิติก หรือกรดน้ำส้มสายชู และแช่ไว้ในอุณหภูมิ 22 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 ชั่วโมง

ผลของการทดลองพบว่า ตัวอย่างเกือบทั้งหมดมีปริมาณสารแคดเมียม เกินมาตรฐานกว่า 3 เท่า หากบริโภคมากจะมีอันตรายคือ ปวดท้องเฉียบพลัน คลื่นไส้ มึนศีรษะ และถ้าสะสมในร่างกายจะปวดกระดูก มีผลต่อตับไตในระยะยาว

แคดเมียมอันตรายอย่างไร ? พิษเรื้อรัง (Chronic toxicity) การได้รับสารแคดเมียมสะสมเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อความเป็นพิษต่อไต ความเป็นพิษต่อกระดูก ความเป็นพิษต่อปอด ความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ความเป็นพิษต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ และการเป็นสารก่อมะเร็ง อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งที่ปอดและกระดูก

อาการเป็นพิษจากแคดเมียม : คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ระคายเคืองหลอดลม จมูก ลำคอ เกิดถุงลมโป่งพอง เป็นพิษต่อไต กระดูกผุ พรุน เป็นโรคอิไตอิไต

#คำแนะนำ หากอยากรับประทาน ส้มตำหรืออาหารที่ใส่ถาด ลองเลือกร้านที่ไม่ใช้ถาดใส่อาหารโดยตรง เช่น นำใบตองมาปูรองถาด ก่อนที่จะนำอาหารมาใส่ หรือปูรองถาดด้วยพลาสติกที่ใช้รองอาหาร หรือบางร้านที่ใช้ถาดสแตนเลส ก็จะมีความปลอดภัยมากกว่าถาดสังกะสี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน