มหาเถรฯ ประชุมพร้อมหน้า รวมทั้ง 3 กรรมการ-เลขาธิการมหาเถรฯ คู่กรณี พ.ต.ท.พงศ์พรโดนบี้ถามในที่ประชุม ทำไมไม่สอบถาม-หารือก่อน แต่เจ้าตัวชี้แจงพัลวันอ้างทำตามหน้าที่ ไม่มีอคติ ก่อนจะ ออกมาแถลงข่าวว่าทั้ง 5 รูปที่โดนคดีแค่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ใช่มีความผิด พร้อมโบ้ยให้ถามบก.ปปป.-ป.ป.ช. เปิดหนังสืออนุมัติงบอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมจำนวน 72 ล้าน ปม ผอ.สำนักพุทธฯ แจ้งจับ 5 พระเถระ มีทั้งหมด 9 วัดหลวงสำนักเรียนพระปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ-ลพบุรี ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับพระผู้ใหญ่

เมื่อเวลา 12.15 น. วันที่ 20 เม.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณี ผอ. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ร้องทุกข์ต่อกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ให้ดำเนินคดีกับพระชั้นผู้ใหญ่รวม 5 รูปอันเนื่องมาจากงบประมาณอุดหนุการศึกษาพระปริยัติธรรมและงบประมาณการเผยแผ่พระพุทธศาสนาว่า ปปป.ส่งสำนวนไปยังคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. ซึ่ง บก.ปปป. ได้รายงานว่าพบการทุจริตตามที่ บก.ปปป.สอบ ซึ่งอยู่ในสำนวน

เมื่อถามว่ามีข่าวว่าจะมีม็อบพระหรือไม่ เพราะมีการกล่าวหาพระชั้นผู้ใหญ่ พล.ต.อ. จักรทิพย์กล่าวว่า ม็อบพระก็ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอยู่แล้ว ตนไม่เห็นกฎหมายห้ามจับพระ ทำคดีไม่กังวลหรอก เมื่อถามว่ากังวลถ้าดำเนินคดีกับพระดี แต่พระไม่ดียังไม่เห็นดำเนินการอะไร ยังอยู่ปกติ พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวว่า กรณีที่วันนี้จะมีการประชุมที่มหาเถรสมาคมก็มีหน่วยที่เกี่ยวข้องไปจับตาดูอยู่แล้ว

ต่อข้อถามหนักใจหรือไม่ที่ดำเนินคดีกับพระผู้ใหญ่ทั้งนั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวว่า ต้องถามพระหนักใจหรือเปล่า ไปทำอะไรมา ถ้าไม่ทำอะไรมาก็ไม่ต้องหนักใจ ตนไม่หนักใจ เลยเพราะบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว ทาง บก.ปปป. รายงานผลการสืบสวนสอบสวนว่าพบอะไรบ้าง แต่ตนไม่บอก ก็มั่นใจ บก.ปปป.ดำเนินการในกรอบกฎหมายอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าคดีที่เกี่ยวกับพระชั้นผู้ใหญ่เช่นนี้มีฆราวาสที่เป็นผู้ใหญ่ติดต่อขอเคลียร์หรือไม่ พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวว่า ตนทำมาเยอะคดีพระชั้นผู้ใหญ่ คดีวัดพระธรรมกายตนก็ทำ ปกติ ไม่มีอะไร อย่าไปตื่นเต้นตกใจ อาจเป็นเรื่องใหม่ของผู้สื่อข่าวก็ได้

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่วัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ จัดการประชุมพระ สังฆาธิการระดับเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาส ในเขตปกครองคณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2561 เป็นวันที่สอง ซึ่งตามกำหนดการเดิม พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนา แห่งชาติ (พศ.) จะต้องมาร่วมบรรยายในหัวข้อ “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กับการสนองงานคณะสงฆ์” แต่ปรากฏว่พ.ต.ท.พงศ์พร ไม่ได้เดินทางมาแต่อย่างใด แต่ได้มอบหมายให้ นายสิปป์บวร แก้วงาม ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม มาเป็นผู้บรรยายแทน

นายสิปป์บวร กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า พ.ต.ท. พงศ์พรติดภารกิจคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด จึงได้มอบหมายให้ตนมาบรรยายแทน ซึ่งหากเสร็จภารกิจดังกล่าวก็จะเดินทางไปร่วมประชุมกับมหาเถรสมาคม (มส.) ในช่วงบ่าย ที่พุทธมณฑล

เมื่อเวลา 14.00 น. ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม มีการประชุมมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นที่จับตามองว่า 3 กรรมการมส. ที่ถูกกล่าวหาในคดีเกี่ยวกับเงินอุดหนุนทั้ง 2 ประเภท และพ.ต.ท.พงศ์พร จะเข้าร่วมประชุมมหาเถรฯ หรือไม่ เมื่อใกล้ถึงเวลาประชุม ปรากฏว่าทั้ง พระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา เจ้าคณะกรุงเทพ มหานคร และกรรมการมหาเถรสมาคม, พระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ เจ้าคณะภาค 10 และกรรมการมหาเถรสามาคม และพระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ เจ้าคณะภาค 4-5-6-7 ธรรมยุต และกรรมการมหาเถรสมาคม รวมทั้ง พ.ต.ท.พงศ์พร ก็เข้าร่วมประชุมมหาเถรฯ ตามปกติ โดยไม่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่มารอทำข่าวจำนวนมากแต่อย่างใด

สำหรับการประชุมมหาเถรฯ ครั้งนี้ คณะกรรมการมหาเถรฯ เข้าร่วมประชุมจำนวน 16 รูป ประกอบด้วย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อัมพโร) ทรงเป็นประธานการประชุม สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพ ศิรินทราวาส, สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร, สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดไตรมิตรวิทยาราม, สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชยญาติการาม, พระวิสุทธิวงศาจารย์ วัดปากน้ำภาษีเจริญ, พระพรหมดิลก วัดสามพระยา, พระพรหมสิทธิ วัดสระเกศฯ, พระพรหมเมธี วัดสัมพันธวงศ์, พระพรหมมุนี วัดราชบพิธฯ, พระพรหม เมธาจารย์ วัดบุรณศิริ, พระพรหมบัณฑิต วัดประยุรวงศาวาส, พระพรหมโมลี วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ, พระพรหมวิสุทธาจารย์ วัดเครือวัลย์, พระธรรมบัณฑิต วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก และพระธรรมธัชมุนี วัดปทุมวนาราม

ภายหลังการประชุมมหาเถรฯ นานกว่า 1 ชั่วโมง พ.ต.ท.พงศ์พรได้ออกมาส่งกรรมการมหาเถรฯ ทุกรูป ขึ้นรถเดินทางกลับวัด ทั้งยังได้รับพรจากพระพรหมเมธีด้วย

จากนั้น พ.ต.ท.พงศ์พร แถลงข่าวว่า ที่ประชุมมหาเถรฯ มีมติให้ตนออกมาแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจ และจะไม่ตอบคำถามใดๆ โดยเหตุการณ์ที่ เกิดขึ้นขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของบก.ปปป.และป.ป.ช. ถ้าต้องการทราบข้อมูลให้ไปสอบถามทั้งสองหน่วยงาน การกล่าวหานั้น เป็นการกล่าวหาตามมูลหรือหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปแจ้งความ มิได้กระทำในลักษณะที่มีอคติ แต่เป็นหน้าที่ที่จะต้องไปกระทำ และกระทำแล้วก็มิได้ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ้าหน้าที่ หรือพระสงฆ์เป็นผู้กระทำผิด เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างชั้นสอบสวน ซึ่งใน ขั้นตอนนี้ถ้าไปที่ป.ป.ช.เรียกว่าชั้นการไต่สวน และวินิจฉัย ซึ่ง ป.ป.ช.ยังมิได้เริ่มเลย จึงยัง ไม่มีพยานหลักฐานครบถ้วน ที่จะพิสูจน์ได้ว่า ใครผิดใครถูก ขณะนี้ยังไม่มีผู้กระทำผิด และรัฐธรรมนูญก็ระบุไว้แล้วว่าบุคคลได้รับการสันนิษฐานว่ายังบริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษา จนถึงที่สุดว่ากระทำความผิด

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะแจ้งความดำเนินคดีอีก 7 วัด ในวันใด พ.ต.ท.พงศ์พร ตอบเพียงว่า “ครับ” แล้วเดินออกจากห้องแถลงข่าวทันที

รายงานข่าวแจ้งว่าการแถลงข่าวของพ.ต.ท. พงศ์พร ภายหลังการประชุมมหาเถรฯ ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ได้รับคำสั่งให้กลับมา ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักพุทธฯ เมื่อช่วงปลายเดือนก.ย.2560

สาเหตุที่พ.ต.ท.พงศ์พรต้องออกมาแถลงข่าวชี้แจงกรณีแจ้งความกล่าวหา 5 พระเถระ ซึ่ง 3 ใน 5 รูปเป็นกรรมการมหาเถรฯ ด้วยนั้น เนื่องจากในระหว่างการประชุมมหาเถรฯ ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานการประชุมนั้น ปรากฏว่ากรรมการมหาเถรสมาคม แต่ละรูป ทั้งฝ่ายธรรมยุตและมหานิกาย ได้สอบถามถึงความรับผิดชอบของพ.ต.ท.พงศ์พร ต่อความเสียหายต่อพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้น เพราะคณะสงฆ์ช่วยกันรักษาความมั่นคงของพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพ.ต.ท.พงศ์พร จะแสดงความ รับผิดชอบหรือไม่ อย่างไร

นอกจากนี้ กรรมการมหาเถรสมาคมยังสอบถามพ.ต.ท.พงศ์พร ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคมด้วยว่า ทำไมถึงไม่สอบถามที่มาที่ไปก่อน ทั้งที่ก็เข้าประชุมมหาเถรฯ ด้วยกันอยู่แล้ว แต่พ.ต.ท.พงศ์พรชี้แจงเพียงว่า “ทำไปตามหน้าที่ โดยไม่มีอคติ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อวัดที่ได้รับงบประมาณอุดหนุนการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม จากกองพุทธศาสนศึกษา สำนักงาน พระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นหนังสือบันทึกข้อความ เลขที่ ศป.110 ลงงวันที่ 26 พ.ย.2556 เรื่อง ขออนุมัติและเบิกจ่ายเงินงบประมาณสนับสนุนการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งงบประมาณดังกล่าว นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักพุทธฯ ในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามอนุมัติ และนายบุญเลิศ โสภา ผอ. กองพุทธศาสนศึกษาในขณะนั้น เป็นผู้เสนอ

มีเนื้อหาใจความว่า “การศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นระบบการศึกษาหนึ่งที่สำคัญ ถือเป็น จุดเริ่มต้นของการจัดการศึกษาดั้งเดิมของไทยมาแต่โบราณกาล และเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับพระภิกษุสามเณรผู้บวชในพระพุทธศาสนา มีพระสงฆ์ทำหน้าที่เป็นครูสอน มีทั้งพระภิกษุสามเณร และประชาชนทั่วไปเป็นผู้เรียน โดยมีสำนักเรียน สำนักศาสนศึกษา และโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทั่วประเทศ จัดการเรียนการสอน มีพระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วประเทศที่กำลังศึกษาอยู่ในระบบการศึกษาพระปริยัติธรรม ประมาณ 2,500,000 รูป/คน โดยมีวัตถุ ประสงค์ของการจัดการศึกษาเพื่อสร้างศาสนทายาท เพื่อให้ผู้เรียน คือ พระภิกษุ สามเณร มีความรู้ความเข้าใจในหลักคำสอนของพระพุทธองค์ แล้วนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและสามารถสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามและปฏิบัติได้ อีกทั้งยังเป็นการจัดการศึกษาเพื่อปลูกศีลธรรมอันดีงามให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กและเยาวชน ซึ่งเมื่อได้รับการศึกษาและน้อมนำไปปฏิบัติแล้ว ก็จะ ก่อให้เกิดความสงบสุขทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ”

กองพุทธศาสนศึกษา สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาท และภารกิจโดยตรง ในการส่งเสริมการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม และตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงเห็นสมควรสนับสนุน งบประมาณการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม ให้แก่สำนักเรียนที่มีความพร้อมด้านการบริหารจัดการ จำนวน 9 วัด โดยใช้งบประมาณ 72,000,000 บาท จากโครงการสนับสนุน ค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ 2557 มีรายละเอียด ดังนี้

1.วัดพิชยญาติการาม เขตคลองสาน กรุงเทพฯ งบประมาณ 10,000,000 บาท

2.วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรู พ่าย กรุงเทพฯ งบประมาณ 10,000,000 บาท

3.วัดสุทัศนเทพวราราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ งบประมาณ 10,000,000 บาท

4.วัดเทวราชกุญชร เขตดุสิต กรุงเทพฯ งบประมาณ 10,000,000 บาท

5.วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ งบประมาณ 5,000,000 บาท

6.วัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ งบประมาณ 5,000,000 บาท

7.วัดสัมพันธวงศาราม เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ งบประมาณ 2,000,000 บาท

8.วัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ งบประมาณ 10,000,000 บาท

9.วัดกวิศราราม อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี งบประมาณ 10,000,000 บาท

รวมทั้งสิ้น 72,000,000 บาท

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับอีก 7 วัดที่พ.ต.ท.พงศ์พรจะแจ้งความดำเนินคดี น่าจะเป็นพระสังฆาธิการในวัดที่มีรายชื่อที่ได้รับการจัดงบประมาณสนับสนุนงบประมาณ ดังกล่าว ซึ่งอาจจะมีพระมหาเถระระดับสูง ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับพระเถระระดับพระราชาคณะรอง และพระราชาคณะชั้นราช ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ที่ถูกพ.ต.ท.พงศ์พร แจ้งความดำเนินคดีร่วมกับพระราชาคณะรองอีก 2 รูปก่อนหน้านี้นั้น อยู่ในงบประมาณอุดหนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ด้านพระธรรมกิตติเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดราชาธิวาส ในฐานะประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ไม่ได้มีการนัดสื่อมวลชนแถลงข่าวกรณีพระเถระผู้ใหญ่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันขบวนการทุจริตเงินอุดหนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรมตามที่มีกระแสข่าวออกไปก่อนหน้านี้ ด้วยไม่ได้ มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว และไม่ได้เกี่ยวข้องกับงบประมาณ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การดำเนินคดีกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่จะถูกต้องหรือไม่นั้น พระธรรมกิตติเมธีกล่าวว่า ต้องดูในระเบียบของสำนักพุทธฯ ว่าสามารถทำได้หรือไม่ และมีขั้นตอนอย่างไร ซึ่งคงมีช่องทางที่ให้อำนาจ ผอ.สำนักพุทธฯ จึงดำเนินการดังกล่าว

เมื่อถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้คณะสงฆ์กับรัฐบาลเกิดความขัดแย้งหรือไม่ พระธรรมกิตติเมธีกล่าวว่า “อาจจะเป็นไปได้ เพราะลูกศิษย์ของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 3 ท่าน อาจเกิดความไม่พอใจ หากเหตุการณ์จะบานปลายและเกิดความรุนแรงก็คงต้องยอมรับว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด แต่หน้าที่ของทุกคน ก็ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น”

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า วัดสามารถจะนำเงินที่ขอ อนุมัติงบประมาณอุดหนุนกิจการพระพุทธศาสนาจากสำนักพุทธฯ มาใช้ไม่ตรงโครงการที่ขออนุมัติได้หรือไม่ พระธรรมกิตติเมธีกล่าวต่อว่า หากนำมาใช้ทำประโยชน์ในการบำรุงศาสนา แต่จะต้องนำมาคืน ซึ่งหากไม่นำมาคืน อาจจะเกิดข้อบกพร่องบ้าง แต่ข้อบกพร่องนั้นไม่ได้หมายความถึงการโกง เพราะเป็นการทำประโยชน์ให้พระพุทธศาสนาเหมือนกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน