มวยเด็ก – จากกรณี “น้องเล็ก” เพชรมงคล ป.พีณภัทร นัก มวยเด็ก วัย 13 ปี เสียชีวิตคาสังเวียน ด้วยอาการเลือดคั่งในสมอง หลังพ่ายน็อก ฟ้าใหม่ ว.สุดประเสริฐ ยก 3 ในการชกที่ เวทีมวยชั่วคราว โรงเรียนวัดคลองมอญ ต.บ้านคลองสวน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ โดยการแข่งขันชกมวยรายการดังกล่าว เป็นการแข่งขันชกมวยการกุศลโครงการต้านภัยยาเสพติดครั้งที่ 1 ชิงถ้วยรางวัลของ พล.อ ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 10 พ.ย.61

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.อี๊ด ลอประยูร ผู้อำนวยการบริหารโรงพยาบาลปิยะเวท และแพทย์ที่ดูแลอาการบาดเจ็บของนักกีฬาทีมชาติไทยหลายชนิดกีฬา ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ว่า

“โปรดทราบ! การใส่ที่ป้องกันศีรษะ (Headguard) ไม่ช่วยป้องกันสมองบาดเจ็บจากการถูกกระทบกระเทือน:นั่นคือเหตุผลที่ปัจจุบันมวยสากลสมัครเล่นเลิกบังคับให้นักมวยชายใส่ที่ป้องกันศีรษะเวลาขึ้นชก การบาดเจ็บของสมองเวลาศีรษะถูกกระแทกเกิดจากกลไกดังแสดงในภาพที่ 2. นั่นคือ ตามลักษณะทางกายวิภาคสมองนิ่มๆ ของเราถูกบรรจุลอยอยู่ในกะโหลกศีรษะที่แข็งมากและมีน้ำอยู่เต็ม เมื่อถูกกระแทกด้านหน้าศีรษะจะถูกดันเอียงไปทางด้านหลังอย่างเร็วเนื้อสมองก็จะถูกเหวี่ยงไปกระทบกับกะโหลกศีรษะด้านหน้าอย่างแรง จากนั้นเมื่อศีรษะเหวี่ยงก้มกลับมาทางด้านหน้าอย่างเร็ว สมองด้านหลังก็จะถูกเหวี่ยงไปกระแทกกับกะโหลกศรีษะด้านหลังอย่างแรงอีกครั้ง การที่สมองทั้งหมดถูกกระแทกเหวี่ยงไปมาก็จะเกิดการบาดเจ็บจะน้อยหรือมากก็จะขึ้นกับแรงหรือการกระแทกที่เกิดขึ้นว่ารุนแรงหรือต่อเนื่องอยู่นานเท่าใด

แล้วใส่ที่ป้องกันศีรษะจะช่วยอะไร? ช่วยลดการบาดเจ็บของใบหน้า เช่น การเกิดแผลแตก การมีใบหน้าช้ำ การแตกของกระดูกใบหน้า เป็นต้น ซ้ำร้ายเมื่อใส่นวมและที่ป้องกันศีรษะยิ่งทำให้การบาดเจ็บของสมองเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความรู้สึกว่ามีที่ป้องกันทั้งมือและศีรษะ แรงที่ชกก็จะทำได้มากขึ้น หนักขึ้น เพราะไม่เจ็บทั้งมือและหน้า แต่สมองที่เรามองไม่เห็นนั้นความเป็นจริงกลับถูกทำร้ายต่อเนื่องตลอดเวลาครับ

นอกจากนี้เมื่อ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา นพ.อี๊ด ยังได้โพสต์งานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าด้วย ถ้อยคำแถลงเชิงนโยบายจากสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา:

การเล่นกีฬาชกมวยในเด็กและวัยรุ่น

ถึงแม้การชกมวยจะให้ประโยชน์แก่ผู้เล่นในเรื่องการออกกำลังกาย, การสร้างระเบียบวินัย, การสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง แต่ก็ยังเป็นกีฬาที่เอาชนะกันด้วยวิธีการชกไปที่ศีรษะและใบหน้าโดยตรงอีกด้วย

ผู้ที่ชกมวยจึงมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บบริเวณศีรษะใบหน้าและลำคอทั้งในแง่ของการบาดเจ็บเรื้อรังหรือการบาดเจ็บเฉียบพลันที่รุนแรงต่อสมองได้จนถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะภาวะกระทบกระเทือนต่อสมองแบบที่ไม่เห็นพยาธิสภาพภายนอกชัดเจนแต่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อการทำงานของสมอง (cerebral concussion)ก็พบเห็นได้บ่อยมาก

สมาคมกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริกามีความเห็นขัดแย้งอย่างชัดเจนต่อการให้ชกมวยเป็นกีฬาที่มีการแข่งขันโดยเฉพาะสำหรับในเด็กและวัยรุ่น และหวังเป็นอย่างยิ่งให้แพทย์ส่วนใหญ่มีความเห็นต่อต้านการแข่งขันชกมวยในเด็กและวัยรุ่นอย่างแข็งขันจริงจังร่วมกัน โดยหันไปสนับสนุนให้เล่นกีฬาอย่างอื่นที่ไม่ใช่กีฬาที่มีวัตถุประสงค์ในการก่อให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อสมองอย่างเช่นกีฬาชกมวยอีกต่อไป

พร้อมกับแนบเอกสารการแพทย์ดังนี้ http://pediatrics.aappublications.org/content/pediatrics/128/3/617.full.pdf

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน