เปิดใจ “ปอย” พจวรรณ พันธ์จินดา เจ้าของลายเส้น มาสคอต กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 46 “เจียงฮายเกมส์” กว่าจะมาเป็น “คำสุข” แมงสี่หูห้าตา ในวันนี้

การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 46 “เจียงฮายเกมส์” เปิดฉากไปเป็นอย่างยิ่งใหญ่ สมแก้การรอคอย จากนี้คงเป็นความเข้มข้นของการชิงชัยเหรียญรางวัลในเกมการแข่งขัน

อย่างไรก็ตามความยิ่งใหญ่ไม่ได้มีเพียงพิธีเปิดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง “คำสุข” แมงสี่หูห้าตา มาสคอตประจำการแข่งขัน ที่มีเอกลักษณ์ เฉพาะตัว แปลก ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน

“คำสุข”

“ปอย” พจวรรณ พันธ์จินดา วัย 35 ปี สาวชาวจังหวัดเชียงราย เจ้าของลายเส้น “คำสุข” เดินทางมาถึงเพรสเซ็นเตอร์ ภายในสนามกีฬากลาง จังหวัดเชียงราย เพื่อบอกเล่าถึงความเป็นมากว่าจะมาเป็นผลงานชินโบว์แดงในวันนี้

“คำสุข”

“ ตอนนั้นเป็นวันเกือบท้ายที่จะปิดการส่งแบบประกวด จึงตัดสินใจส่งแบบเข้าประกวด มานั่งคิดเล่นๆว่า จังหวัดเชียงราย นอกจากช้างแล้ว ยังมีอะไรที่เป็นจุดเด่น เป็นเอกลักษณ์อีกบ้าง แวบขึ้นมาว่าเรามี แมงสี่หูห้าตา ซึ่งเป็นเรื่องเล่าตั้งแต่โบราณ น่าจะเอามาทำเป็นมาสคอต เราก็เริ่มวาดเลย แล้วก็ส่งไป พร้อมกับคิดคอนเซปไปว่า แมงสี่หูห้าตา กินถ่านไฟเป็นอาหาร และขี้ออกมาเป็นทองคำ” ปอย เปิดฉากเล่าเรื่องราว

แน่นอนว่าการประกวดภาพวาดมาสคอต ย่อมได้รับความสนใจจากศิลปินจำนวนมาก และยิ่งเชียงราย เป็นเมืองแห่งศิลปะ ยิ่งได้รับความสนใจมากเป็นเท่าทวี

“หลังจากส่งไปก็ยังมานั่งคิดว่า ถ้ามันได้รับเลือกเป็นมาสคอตจริงๆคงฮาแน่เลย และก็ไม่คิดว่าจะได้จริงๆ เพราะนอกจากเราแล้ว ก็ยังมีศิลปิน คนอื่นๆส่งผลงานเข้าประกวดด้วยเช่นกัน แต่พออาจารย์เฉลิมชัยดูผลงานแล้วเขาบอกว่าชอบไอเดียนี้ จึงได้รับเลือกในที่สุด”

“คำสุข”

แน่นอนการจะมาเป็นเจ้า “คำสุข” ต้องผ่านด่านหินในการคัดเลือกจากอาจารย์เฉลิมชัย แนวคิดจึงไม่สามารถจะธรรมดาได้อย่างเด็ดขาด

“เราได้ไอเดียว่า ที่เชียงใหม่นำเอาตัวฟาน (เก้งเผือก) มาเป็นมาสคอตในการรณรงค์ให้เชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก ฟานก็เป็นสัตว์เป็นตำนานโบราณเชียงใหม่เหมือนกัน เห็นที่ญี่ปุ่นนำเอาเทพเจ้าต่างๆมาเป็นมาสคอตได้ ที่เชียงราย แมงสี่หูห้าตา ซึ่งเป็นตำนานเก่าก็น่าจะได้เช่นเดียวกัน”

“คำสุข”แมงสี่หูห้าตา เป็นสัตว์ในตำนาน แน่นอนอาจต้องใช้จินตนาการในการออกแบบ ให้สอดคล้องกับการแข่งขัน

“จริงๆแล้วตามตำนานเล่าว่า เป็นตัวคล้ายๆหมี คล้ายๆหมา ขนยาวๆสีดำตาสี ตาสีเขียว มีฟัน เราค่อยๆปรับจากเดิม คิดว่ามันจะต้องน่ารักและดูเป็นมิตรกับทุกคน ก็น่าจะต้องป้อมๆเตี้ยๆ ตาโปน และยืนได้ 2 ขาได้ ก็ไม่ได้คล้ายกับตัวต้นแบบซักเท่าไหร่ เพราะมีคนวาดออกมาเป็นแบบต่างๆ และด้วยความที่มันเป็นตำนานจึงทำให้คนตีความได้หลายแบบ”

ความท้าทายยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เมื่อโจทย์ใหญ่ยังไปอยู่ที่ชื่อของเจ้าแมงสี่หูห้าตา

“ทุกอย่างลงตัว อาจารย์ให้โจทย์มา ว่าต้องตั้งชื่อ จึงมานั่งคิดว่าจะเอาอะไรดี จึงคิดถึงชื่อคุณย่าคำสุข เพราะดอยเขาควาย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแมงสี่หูห้าตา คุณย่าเคยพาไปตั้งแต่เด็กๆ “คำ” ในคำเมืองแปลว่า “ทองคำ” ส่วน “สุข” ก็คือความสุข พอมันมารวมกันน่าจะเป็นความหมายที่ดี หมายถึงการมีเงินมีทอง และมีความสุขด้วย”

“คำสุข”อีกด้านหนึ่งนอกจากความแปลกใหม่แล้ว “คำสุข” ยังต้องสอดรับกับการแข่งขันกีฬาครั้งนี้ด้วย

“ส่วนความท้าทายในการจับมันมาออกแบบเป็นกีฬาต่างๆ จะมีกีฬาชนิดหนึ่งที่นักกีฬาคนหนึ่งต้องเล่น 5 ชนิด (ปัญจกีฬา) อันนั้นยากมากเพราะต้องเอา 5 ชนิดกีฬามารวมกัน แต่ที่ชอบที่สุดคือว่ายน้ำ เพราะมี4หู5ตา เราสามารถเล่นแว่นตากับตาทั้ง 5 ได้”

หลังจาก “คำสุข” ออกสู่สาธารณชน จึงเกิดเป็น “แมงสี่หูห้้าตาในเวอร์ชั่นต่างๆ เพราะใช้งานงานที่ต่างกันออกไป

“พอ “คำสุข” ออกไปสู่สายตา ตอนนี้ก็เริ่มเห็นแมงสี่หูห้าตา อยู่ทั่วเมือง ซึ่งใช้ในงานต่างๆ ซึ่งก็จะไม่ใช้ในเวอร์ชั่น “คำสุข” แต่เป็นแมงสี่หูห้าตา ในเวอร์ชั่นต่างๆ ดีใจมากที่แนวคิดเราถูกนำไปใช้ได้จริง ในอนาคตอาจจะออกมาเป็นการ์ตูนก็เป็นได้”

“เจียงฮายเกมส์” นับเป็นต้นแบบที่ยอดเยี่ยมของความตั้งใจ เป็นส่วนผสมของความสามัคคีและความตั้งใจ ก่อนถูกหลอมรวมออกมาเป็นความสำเร็จ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน